รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ฆิลเบร์โต โมวร่า หม้อที่หลอมรวมความหลากหลาย มหัศจรรย์บราซิล (จบ)

นอกจากที่กล่าวขานกันว่า บราซิลนั้นเป็นขุมทรัพย์แห่งละตินอเมริกาแล้ว

ชาวบราซิลยังเป็นชนชาติที่คลั่งไคล้ฟุตบอลมาก จนได้เป็นแชมป์บอลโลกถึงห้าสมัยเพียงชาติเดียว

ฟุตบอลหรือที่เรียกกันที่นี่ว่า ฟูทีบอล (futebol) คือกีฬาอันงดงามที่ทำให้คนทุกชั้นเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ชาวบราซิลก็เป็นชนชาติที่รักสนุกและชอบการร้องรำทำเพลงอย่างที่สุด

คาร์นิวัล ซึ่งเป็นงานฉลองที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงเป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมบราซิล

งานคาร์นิวัล เป็นจุดขายของบราซิล ที่มาจาก Carnival ภาษาละติน มีความเชื่อมโยงกับประเพณีแบบชาวคริสต์ ความหมายคือ Take me out of your daily food เพราะช่วงคาร์นิวัลเป็นฤดูถือศีล “ช่วงแห่งการไม่ทานเนื้อ” Carni หมายความถึง เนื้อ ผสมกับคำว่า Lavare แปลว่า นำออกไป

ดังนั้น คาร์นิวัล จึงเป็นช่วงถือศีลอด แห่งการไม่ทานเนื้อนั่นเอง

เป็นการเฉลิมฉลองฤดูถือศีลอดแบบชาวคริสต์

เริ่มก่อนเทศกาลอีสเตอร์ ประชาชนจะออกมาสังสรรค์กันอย่างมีความสุข คล้ายกับชาวมุสลิม “อีดิ้ลฟิตริ” (Eid al-Fitr) ที่เฉลิมฉลองกันหลังการถือศีลอด

 

ริโอ คาร์นิวาล (Rio Carnival) ณ กรุงรีโอ เด จาเนโร (Rio de Janero) เป็นงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ หรูหรา ฟู่ฟ่า อลังการ และมีสีสันที่สุดงานหนึ่งของโลก

เฉลิมฉลองกันอย่างหลักๆ คือ งานบนท้องถนนอันคึกคักด้วยขบวนแห่ที่พรั่งพร้อมด้วยเครื่องแต่งกายอลังการสวยงาม รถแห่ ดนตรี และงานเต้นแบบดั้งเดิมที่ขึ้นชื่อที่สุด

เด่นที่สุดหนีไม่พ้นขบวนแซมบ้า โดยที่บราซิลมีโรงเรียนสอนการเต้นแซมบ้าไม่น้อยกว่า 58 แห่ง

นักเรียนจากโรงเรียนดีที่สุด จะมาร่วมสร้างความบันเทิง มีการแบ่งลีก (League) ต่างๆ คล้ายกีฬาฟุตบอล เพราะแซมบ้ามีการแข่งขันกันสูง คาร์นิวัล จึงมีทั้งเงินหมุนเวียนและประชาชนเข้าร่วมกันอย่างมากมาย

“คำว่า แซมบ้า มีรากศัพท์มาจากภาษาแอฟริกา จากอดีตทาสชาวไนจีเรีย ซูดาน ที่เดินทางมายังแองโกลาแล้วเข้ามาในบราซิล”

“การเต้นแซมบ้า คือการที่ประชาชนหลายเชื้อชาติได้เดินทางเข้ามาในบราซิล มารวมตัวกันเพื่อมาดื่ม มาเต้น และขยับตัวเคลื่อนไหว เมื่อผ่านไปหลายปีการเต้นแซมบ้าได้รับความนิยมมากขึ้นก่อนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบราซิล”

“จะว่าไป บราซิลก็เหมือนสลัดจานใหญ่ มีคนหลากหลายทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป แอฟริกา และอาจมีคนไทยบางคนมาจากแถบอะเมซอนก็ได้ เพราะชนเผ่าอะเมซอนมีส่วนผสมของหลายเชื้อชาติ”

 

นายฆิลเบร์โต โมวร่า เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย เล่าถึงประวัติอันยาวนานและน่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับเทศกาลที่โด่งดังนี้ ตามด้วยการใช้ภาษาที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น

“คำว่า ขอบคุณ หรือ อะริกะโตะ ของญี่ปุ่นนั้นมาจาก โอะ-บริ-กา-ดุ (obrigado) ของโปรตุเกส ญี่ปุ่นในสมัยก่อนไม่มีคำว่า ขอบคุณ เมื่อชาวโปรตุเกสเข้ามา ชาวญี่ปุ่นตระหนักว่า ยังไม่มีคำนี้ จึงดัดแปลงคำของโปรตุเกสมาใช้ นอกจากนี้ คำว่า คูเวต (Kuwait) ซึ่งเป็นชื่อประเทศ แต่ภาษาโปรตุเกสอ่านว่า โคเวช ซึ่งชาวอังกฤษออกเสียงไม่ได้ จึงกลายเป็นคูเวต ในที่สุด”

“เช่นเดียวกับคำว่า ฟอ-ฮอ ที่ผันเป็น ฟอร์ ออล (For All) เพราะในบราซิล เวลาเราจะเชิญผู้ร่วมงานให้ออกมาเต้นกันทั้งหมด จะพูดว่า ฟอ-ฮอ เหมือนเป็นภาษาที่สากลมาก”

“ที่ภูเก็ต มีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่มากเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ในบางพื้นที่ ประชาชนที่มีนามสกุลว่า พินโท จะสืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกส และชาวอินเดียหลายครอบครัวก็มีนามสกุล พินโท ด้วยเช่นกัน อันมีความหมายว่า ลูกไก่”

 

การเข้ามาของงานคาร์นิวัลในประเทศไทย

“เมื่อปี ค.ศ.1994 หญิงชาวบราซิลคนหนึ่งได้ย้ายมาพำนักอยู่ในประเทศไทย แล้วเริ่มจัดประชุมระหว่างชาวบราซิลในไทย ต่อมากลายเป็นการประชุมประจำเดือน จุดประสงค์ก็เพื่อทำความรู้จัก พูดคุย และร่วมสนุกกัน”

“จากนั้นในปี ค.ศ.1996 ชาวบราซิลกลุ่มนี้มีความต้องการฉลองเทศกาลคาร์นิวัลในไทย จึงเริ่มจัดงานขนาดเล็กขึ้น มีการแต่งกายหลากหลายสีสัน มีดนตรีและการเต้น”

“แขกแต่ละคนเริ่มเชื้อเชิญเพื่อนมาร่วมงานด้วย ไม่กี่ปีต่อมา จึงกลายเป็นงานคาร์นิวัลที่ยิ่งใหญ่อย่างเป็นทางการ จัดที่ห้องบอลรูมของโรงแรมในกรุงเทพฯ และได้รับความนิยมมากขึ้นทุกปี”

“ปี ค.ศ.2012 มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดงานคาร์นิวัลในช่วงเดือนพฤษภาคม การจัดงานคาร์นิวัลนี้ นับเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมวัฒนธรรมบราซิลและประชาชนได้มาร่วมกิจกรรมกัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ด้วย การจัดงานครั้งแรก มีผู้มาร่วมงานกว่า 300 คน แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 400-550 คน”

“จึงเสมือนเป็นงานประจำปีที่สำคัญของชุมชนชาวบราซิลตลอดจนชาวต่างชาติในไทย ซึ่งต่างก็ตั้งตารอคอยงานนี้ ถึงกับจองตั๋วเข้าร่วมงานล่วงหน้าเป็นปีเพราะไม่อยากพลาด สำหรับเงินที่ได้รับจากการบริจาคในงานคาร์นิวัลนี้ ได้นำไปช่วยเหลือเพื่อเป็นทุนการศึกษาของเด็กไทยในชนบท”

 

ประเทศบราซิลได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 (ครั้งที่ 31) อันเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ณ เมืองรีโอ เด จาเนโร นับเป็นโอลิมปิกเกมส์ที่จัดขึ้นครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ ระหว่างวันที่ 5 ถึง 21 สิงหาคม ค.ศ.2016

“บราซิลประสบความสำเร็จอย่างงดงาม การดำเนินงานทุกด้านผ่านไปอย่างเรียบร้อยทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าบราซิลจำนวนมากโดยปราศจากเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ทั้งสิ้น และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมกีฬาครั้งนี้ด้วย”

“ผมมาประจำที่ประเทศไทยสองปีกว่า ได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่สวยงามในหลายจังหวัด ยังขาดก็แต่แถบอีสาน ผมชอบอาหารไทยเพราะอร่อยมากจนยากที่จะหยุดรับประทาน หากถามถึงงานอดิเรกของผม นั่นคือ การอ่านหนังสือและบริหารร่างกายในห้องยิม”

เมื่อไม่นานมานี้ เอกอัครราชทูตบราซิล ได้ทำพิธีมอบรางวัล “Itamaraty Award for Cultural Diplomacy 2016” จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ให้แก่ นางกมลา สุโกศล นักธุรกิจ ประธานกรรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมเดอะสุโกศล และเป็นนักร้องดนตรีแจ๊ซ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชื่นชมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมบราซิลในประเทศไทยด้วยดีเสมอมา ประหนึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมของบราซิล ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียง 13 คนทั่วโลก และผู้ที่ได้รับรางวัลในเอเชียมี 2 ท่านเท่านั้น

“ผมรักประเทศไทยและคนไทย ที่นี่มีความอบอุ่นเพราะคนไทยมีความเป็นมิตร เรียบร้อย น่ารัก มีน้ำใจ คุยง่าย มีรอยยิ้มที่สวยงาม รักสงบ มีบุคลิกแข็งแกร่งของคนทำงาน และคนไทยให้ความเคารพผู้ใหญ่มาก ซึ่งผมเชื่อว่า ศาสนาพุทธมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้เกิดความดีงามเหล่านี้”

 

นอกจากข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งมวลเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดของชาติ ทางด้านระดับโลกก็ถือว่าเป็นประเด็นที่ยึดพื้นที่หัวข่าวของเว็บไซต์ข่าวต่างๆ เช่นกัน โดยมีชาวต่างชาติไม่น้อยที่ร่วมไว้อาลัยในการสูญเสียครั้งใหญ่นี้

“โลกและประชาชนชาวไทยได้สูญเสียบุคคลที่ยิ่งใหญ่ คือ พระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักอย่างกว้างขวาง ทรงอยู่ในหัวใจของคนไทยทั้งมวล ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาลไทย และประชาชนชาวไทยทุกคน”

“ผมอยู่ในประเทศไทยและมองเห็นว่า ผู้คนมีความอาลัยรักเทิดทูนในองค์พระมหากษัตริย์มากขนาดไหน ความรู้ที่สำคัญหลายประการเป็นมรดกที่พระองค์ท่านได้ทรงมอบให้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคน แบบพ่อสอนลูก ผู้คนจำนวนมากพากันร่ำไห้ ช่างเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนี้”

“เป็นความโศกเศร้าที่สุดประทับใจ และเป็นภาพที่สวยงามมาก เพราะได้เห็นความรักที่คนไทยมีต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นเสมือนความรักที่มีต่อบิดา และผมคิดว่าเป็นความเคารพรักจากส่วนลึกของหัวใจทุกคน พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนอย่างแท้จริง”

นี่คือ ข้อความจากใจที่ นายฆิลเบร์โต โมวร่า เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย ขอฝากมายังคนไทยที่ท่านทูตชื่นชม ก่อนที่เราจะอำลาจากทำเนียบท่านทูตในบ่ายวันฟ้าหม่นนั้น