โลกร้อนเพราะมือเรา กับ แผนปฏิบัติการโตรอนโต เรื่องใหญ่สุดท้าทายสุดของชาวโลก

ก่อนจะมีแผนปฏิบัติการสู้โลกร้อน เมืองให้พัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งประหยัดพลังงานและอากาศสะอาด อย่างจริงๆ จังๆ ในปี 2550 นั้น ผู้บริหารเมืองโตรอนโต แห่งแคนาดา เดินหน้าลุยปฏิรูปเมืองให้มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีต่อเนื่องมานานถึง 25 ปี

ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนเจ้าของตึกอาคารบ้านเรือนปรับปรุงที่อยู่อาศัย สำนักงานให้ใช้พลังงานอย่างประหยัดด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวัสดุต่างๆ รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนที่เรียกว่า บรรยากาศโตรอนโต (Toronto Atmospheric Fund) ปล่อยกู้ให้กับผู้สนใจติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานจากลม แสงอาทิตย์ ก๊าซไฮโดรเจน

ผู้บริหารโตรอนโตมองว่าจะช่วยบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควันพิษ ทำให้อากาศของเมืองสะอาดขึ้น

โครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย การลดมลพิษในอากาศและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทำอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่

กระทั่งในปี 2550 แผนปฏิบัติการสู้โลกร้อน ระยะที่ 1 ของเมืองโตรอนโต ได้รับการเห็นชอบจากสภาเมือง ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่สุดท้าทายสุดของชาวโลก

 

แผนปฏิบัติการดังกล่าวนั้น ใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2533 เฉลี่ย 22 ล้านตันต่อปี เป็นฐานในการกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2556 ก๊าซพิษจะลดลง 1,320,000 ตันต่อปี หรือ 6 เปอร์เซ็นต์

ภายในปี 2563 ก๊าซพิษลดลง 6.6 ล้านตันต่อปี และภายในปี 2593 ลดให้ได้ 17.60 ล้านตันต่อปีหรือ 80%

ในแผนกำหนดเป้าหมายย่อยๆ เป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้

– การสร้างเมืองให้น่าอยู่มีสิ่งแวดล้อมสดใส (Green Toronto)

– โตรอนโตคือเมืองธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Business Toronto)

– โตรอนโตจะเป็นเมืองหลวงแห่งพลังงานหมุนเวียนของแคนาดา

– ระบบการขนส่งคมนาคมภายในโตรอนโตจะพัฒนาอย่างยั่งยืน

– เมืองต้นไม้

– การสร้างพันธมิตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

– การปลุกจิตสำนึกสาธารณะ

– การเตรียมการเพื่อปรับตัวกับภาวะโลกร้อน

– แผนตรวจสอบและรายงานประเมินผล

 

แผนปฏิบัติการนี้ ผู้บริหารเมืองวางแนวทางสนับสนุนประชาชนในทุกรูปแบบเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน

ผู้บริหารโตรอนโต ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต บริษัทสินเชื่อแคนาดา เข้ามาร่วมคิดและสนับสนุนการเงิน พร้อมๆ กับการจัดวางมาตรฐานใหม่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงหลังคาตึกให้มีพื้นที่สีเขียว

ส่งเสริมให้ชาวเมืองปลูกผักสวนครัว เปิดตลาดให้นำพืชผักเหล่านี้ไปจำหน่ายเป็นสินค้าประจำถิ่นและเปลี่ยนนโยบายการจัดซื้ออาหารของเมืองโตรอนโตให้ซื้อสินค้าประจำถิ่นแทน

ในแผนกำหนดให้อาคารสำนักงานและที่ฝังกลบของเมืองโตรอนโต 1,500 แห่งเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังความร้อนใต้พิภพและพลังงานก๊าซชีวภาพ

ส่วนระบบการขนส่งคมนาคม กำหนดแผนการก่อสร้างทางจักรยานทางเดินเท้าเชื่อมกับระบบการขนส่งมวลชน จัดโครงการคาร์พูลใช้รถร่วมกันในเส้นทางเดียวกัน ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้มากที่สุด

รถแท็กซี่และรถลิมูซีนในเมืองโตรอนโต ได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้เป็นรถไฮบริดหรือรถไฟฟ้า

โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองโตรอนโต ได้รับการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสะอาดหรือกรีนอินดัสตรี้ ลดการทิ้งขยะพิษ ลดการปล่อยสารอันตรายทำลายสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหารเมืองโตรอนโตจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อไปให้ความรู้และแนะนำให้ชุมชนเรียนรู้แนวทางการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนให้มีคุณภาพที่ดี

ในแต่ละปีแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนดังกล่าวนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างดี ดังปรากฏในรายงานประจำปี 2558 ระบุว่า อาคารที่อยู่ภายใต้โครงการปรับปรุงให้ใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ มีจำนวน 77 แห่ง สามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 420,300 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง

ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 69,400 ตันต่อปี

 

ถ้ารวมโครงการอาคารที่ได้รับการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างประหยัดตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีจำนวนทั้งสิ้น 2,522 โครงการ พื้นที่ได้รับการปรับปรุงมีจำนวน 52 ล้านตารางเมตร ลดการปล่อยก๊าซพิษจำนวน 683,000 ตัน

ในปี 2558 ตึกในโตรอนโต 47 แห่ง ปรับปรุงพื้นที่บนหลังคาให้เป็นพื้นที่สีเขียว 47 แห่ง คิดเป็น 1 แสนตารางเมตร

แต่ถ้ารวมอาคารที่ได้รับการปรับปรุงหลังคาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มีจำนวน 206 โครงการ พื้นที่รวม 435,460 ตารางเมตร

หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอล 73 สนาม

 

ส่วนทางจักรยาน ทางเท้าและระบบขนส่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษ เมืองโตรอนโตทำมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ได้รับการสนับสนุนจากชาวเมืองอย่างเต็มที่

โตรอนโตมีทางจักรยานเชื่อมระหว่างชุมชน สถานีรถไฟ สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง

ผู้บริหารเมืองให้ความสำคัญกับทางจักรยานมาก มีการศึกษาเส้นทางจักรยาน โครงสร้างทางจักรยานที่ปลอดภัย พฤติกรรมการใช้จักรยาน โครงการรณรงค์ปั่นจักรยานไปทำงาน และกฎหมายคุ้มครองนักจักรยาน

การบังคับใช้กฎหมายกับเรื่องนี้เข้มงวดมาก

ใครขับรถยนต์ไปจอดทับหรือขวางทางจักรยานจะถูกปรับตั้งแต่ 60-150 เหรียญ

ระบบขนส่งมวลชนในโตรอนโต สนับสนุนการใช้จักรยานในทุกมิติ เช่น ติดตั้งที่แขวนจักรยานหน้ารถเมล์ มีช่องจักรยานบนรถไฟ เรือข้ามฟาก

ชาวโตรอนโตขี่จักรยานไปทำงาน ไปออกกำลังกายและขี่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีมากกว่า 9 แสนคน และเติบโตมากขึ้นทุกปีเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์

แผนการสร้างทางจักรยานของเมืองโตรอนโตกำหนดระยะยาว 10 ปี เริ่มจากปี 2545 เป็นต้นมา

ล่าสุดแผนการสร้างทางจักรยานเส้นใหม่ระยะทางรวม 525 กิโลเมตร เพิ่งได้รับการอนุมัติเมื่อกลางปีนี้ ใช้เงินงบประมาณกว่า 150 ล้านเหรียญ

การบริหารจัดการเมืองโตรอนโตอย่างมีวิสัยทัศน์ เป็นระบบและต่อเนื่องเช่นนี้เองจึงทำให้เมืองโตรอนโตได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุด เหมาะเป็นที่หลบภัย “โลกร้อน” ติดอันดับ 1 ใน 8 เมืองของทวีปอเมริกาเหนือ