วิกฤติประชาธิปไตยสะเทือนไปทั้งโลก

วิกฤติประชาธิปไตย (55)

วิกฤติประชาธิปไตยสะเทือนไปทั้งโลก

วิกฤติประชาธิปไตย เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านทางภูมิศาสตร์การเมืองโลก การเคลื่อนย้ายอำนาจตะวันตกสู่ตะวันออก จากสหรัฐสู่จีน เกิดโลกหลายขั้วอำนาจขึ้น

เป็นการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงและยาวนาน จนกว่าจะเกิดระเบียบโลกใหม่ขึ้นซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะลงเอยแบบใด

จีนใช้โอกาสทองที่สหภาพโซเวียตติดหล่มสงครามอัฟกานิสถาน อ่อนแอลงจนล่มสลายในที่สุด

สหรัฐที่พ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน สาละวนกับการจัดระเบียบภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง และการเข้าไปครอบงำเขตสหภาพโซเวียตเดิม ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนอย่างรวดเร็ว

เร็วจนกระทั่งกว่าสหรัฐจะพลิกตัวมาปิดล้อมจีน ก็สายเกินไป

จีนใหญ่โตและเข้มแข็งเกินกว่าที่ชาติใดจะมาบงการได้

จีนที่เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สอง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ผสมกับการทูตหว่านเสน่ห์แบบ “ชนะ-ชนะ” ของผู้นำจีน ได้สร้างแรงดึงดูดมหาศาลต่อชาติต่างๆ ให้มาผูกมิตรหรือมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน

เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ใช้ “การทูตเรือบรรทุกเครื่องบิน” หรือ “การทูต 200,000 ตัน” ตวาดขู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่าจะยืนข้างสหรัฐ หรือข้างปรปักษ์สหรัฐ (ดูรายงานข่าวของ Sam Lagtone ชื่อ U.S. Navy Sails “200,000 Tons of Diplomacy” in the Mediterranean Sea ใน news.usni.org 24.04.2019)

แรงดึงดูดของจีนเห็นได้ในหลายกรณี เบื้องต้นได้แก่ กรณีรัสเซีย

รัสเซียถือตนเองว่าเป็นประเทศตะวันตก ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (ครองราชย์ 1682-1725) จนแม้หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็ยังคงถือตะวันตกเป็นตัวแบบของการพัฒนา

จนถึงสมัยประธานาธิบดีปูตินจึงเริ่มมีการทบทวน เพราะเห็นว่าสหรัฐ-ตะวันตก ต้องการรัสเซียเป็นบริวารซึ่งทำให้สิ้นชาติเพราะรัสเซียที่ไม่มีอิสระเท่ากับไม่มีชาติรัสเซียดำรงอยู่

ปูตินเริ่มต้นด้วยการบ่นดังๆ ในปี 2007 การลงไม้ลงมือเบาะๆ ในปี 2008 ในการบุกประเทศจอร์เจีย และลงไม้ลงมืออย่างแรงในปี 2014 ด้วย การผนวกแหลมไครเมียเป็นของรัสเซีย ตามด้วยการเข้าอุ้มชูระบอบอัลอัสซาดในซีเรีย ปี 2015

จากนั้นรัสเซียกับสหรัฐ-ตะวันตกก็ยืนอยู่คนละขั้ว

การจับขั้วจีน-รัสเซีย เกิดจากผลประโยชน์เฉพาะหน้าร่วมกันในการต่อต้านอิทธิพลสหรัฐ ซึ่งจะไม่ยั่งยืน

แต่เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่โลกหลายขั้วอำนาจเป็นกระบวนการยืดเยื้อ ประกอบกับเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีพลังทางเศรษฐกิจสูง มิตรภาพรัสเซีย-จีนจึงยังรักษาความสนิทสนมไว้ได้ยาวนาน ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นที่ถูกคุกคามแซงก์ชั่นจากสหรัฐ และหันมาสนิทสนมกับจีน-รัสเซีย ได้แก่ อิหร่าน เวเนซุเอลา ตุรกี ปากีสถาน เป็นต้น

การดึงดูดใหญ่ของจีนอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ 17 ประเทศ ทั้งในบริเวณอ่าวเปอร์เซียและทวีปแอฟริกาตอนเหนือ มีการตั้งการประชุมความร่วมมือจีน-รัฐอาหรับขึ้น จัดประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกปี 2004 กษัตริย์ซัลแมนแห่งซาอุดีอาระเบียเสด็จเยือนจีนในปี 2017 (ดูบทความของ Muhammad Zulfika Rakhmad ชื่อ The Belt and Road Initiative in the Gulf : Building “Oil Roads” to Prosperity ใน Middle East Institute 12.04.2019)

ภูมิภาคที่จีนให้ความสนใจผูกมิตรมาตั้งแต่สมัยประธานเหมา ได้แก่ แอฟริกา

มีการตั้ง “การประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา” จัดประชุมสุดยอดครั้งแรกปี 2006

จีนขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว การวิเคราะห์ของสำนักคิดสหรัฐชี้ว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นชัดในปี 2015 หลังการประชุมสุดยอด เน้นหนักในด้านการขนส่ง ที่สำคัญได้แก่ การสร้างทางรถไฟในหลายประเทศ และพลังงานซึ่งมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และยังมีพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังน้ำ พลังลม เป็นต้น

เกือบสองในสามของการลงทุนอยู่ในสิบประเทศได้แก่ ไนจีเรีย แองโกลา เอธิโอเปีย เคนยา แซมเบีย แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐคองโก แคเมอรูน และโมซัมบิก (ราวหนึ่งในสี่ลงทุนในสองประเทศแรก) จีนจัดประชุมสุดยอดครั้งสุดท้ายในปี 2018 สร้างบรรยากาศว่าจีนและแอฟริกาได้ลงเรือลำเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในแอฟริกาอยู่ในอันดับที่สี่ รองจากสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ภูมิภาคนี้จึงเป็นพื้นที่แย่งชิงของมหาอำนาจโลก ก่อความไม่สงบไปทั่วทั้งทวีป

ละตินอเมริกาเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่จีนแผ่ตัวไปอย่างรวดเร็ว เช่น การลงทุนโดยตรงจากจีนในปี 2005 แทบไม่มีเลย เป็นกว่า 387 พันล้านดอลลาร์ปี 2017 ในด้านการค้าในปี 2017 จีนได้เป็นคู่ค้ากับละตินอเมริกาใหญ่เป็นอันดับสอง อยู่ที่ 257 พันล้านดอลลาร์

เป็นที่สังเกตว่าการแผ่ตัวนี้ มีตัวแบบคล้ายกับการค้าและการลงทุนของจีนในภูมิภาคอื่น ได้แก่

(ก) สร้าง “การประชุมความร่วมมือจีนกับประชาคมแห่งรัฐละตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน” (มีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกปี 2015)

(ข) การค้าและการลงทุนของจีนกระจุกตัวในบางประเทศ ประมาณว่านับแต่ปี 2005 จีนได้ให้กู้ในละตินอเมริการาว 140 พันล้านดอลลาร์ ราวร้อยละ 90 ลงทุนใน 4 ประเทศคือ เวเนซุเอลา บราซิล อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์ สำหรับการลงทุนโดยตรง มากกว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ และโดยผ่านการควบรวมและซื้อกิจการไปยังบราซิล เปรู อาร์เจนตินา และเม็กซิโก แล้วค่อยกระจายออกไป

(ค) การลงทุนของจีน เน้นหนักในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมขุดสกัดแร่ธาตุ แล้วค่อยกระจายออกไปสู่สาขาอื่น โดยเฉพาะเมื่อจีนยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจจากการเน้นการลงทุนและการผลิตทางอุตสาหกรรม สู่การบริโภคภายในประเทศและภาคบริการ

(ง) รัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้บุกเบิกนำร่องมาก่อน ตามด้วยกองทัพนักลงทุนและบริษัทเอกชน

(จ) การลงทุนของจีน ไม่ใช่เพียงต้องการหากำไรเท่านั้น หากยังต้องการปักหลักยาวนานในภูมิภาคด้วย การขยายอิทธิพลของจีนมีลักษณะซึมลึกและแผ่คลุม

แรงดึงดูดของจีนล่าสุด แสดงออกในงานฉลองการก่อตั้งกองทัพเรือจีนครบรอบ 70 ปี (วันที่ 23 เมษายน 2019)

จีนได้จัดให้มีริ้วขบวนเรือ แสดงแสนยานุภาพทางทะเลครั้งใหญ่ประกอบด้วยเรือรบ 32 ลำ เช่น เรือใต้น้ำและเรือพิฆาตนิวเคลียร์ ที่ทะเลเมืองชิงเต่า และยังมีเครื่องบินลาดตระเวนชายฝั่งราว 40 ลำ

ปรากฏว่ามีหลายชาติส่งเรือรบราว 20 ลำ เพื่อร่วมงานนี้

ที่น่าสังเกต ได้แก่ อินเดียที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนในหลายกรณี ส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธล่องหน ที่เป็นเรือชั้นเยี่ยมที่สุดเข้าร่วม

ออสเตรเลียที่เป็นพันธมิตรสนิทของสหรัฐ มีความไม่ไว้วางใจกับจีนหลายเรื่อง ส่งเรือรบติดขีปนาวุธมา

ที่สำคัญท้ายสุดได้แก่ ญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับจีน ในข้อพิพาทหมู่เกาะทะเลจีน ได้ส่งเรือพิฆาตมาร่วมฉลอง เป็นการส่งเรือรบมายังจีนเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2011

ประเทศอื่นที่เข้าร่วมเฉลิมฉลองนี้ได้แก่ สามประเทศอาเซียนที่มีกรณีพิพาทหมู่เกาะทะเลจีนใต้กับจีน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (ดูข่าวชื่อ India. Australia warships arrive in China for naval parade ใน straitstimes.com 21.04.2019)

ประเทศไทยและสิงคโปร์ส่งเรือรบร่วมเฉลิมฉลองด้วย สหรัฐไม่ได้เข้าร่วมงานนี้

ปรากฏการณ์ย้ายขั้วอำนาจและวิกฤติประชาธิปไตย ยังส่งผลกระทบต่อประเทศพัฒนาแล้วด้วย มีสถาบันการเงินใหญ่บางแห่งวิเคราะห์ทำให้เกิด “สังคมโกรธเกรี้ยว” ขึ้นในตะวันตก เป็นแนวโน้มใหญ่

เกิดกระแสประชานิยมเอียงขวา ชาตินิยม ต่อต้านผู้อพยพ การฟื้นฟูค่านิยมเดิมของสังคม ความต้องการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตน เห็นได้จากการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การขึ้นสู่อำนาจของปีกขวาในอิตาลีและอีกหลายประเทศ

(ดูบทความของ Reto Hess ชื่อ Supertrends : Angry Societies – Disenchanted Western Middle Class ใน Credit Suisse Group AG 30.08.2017 เป็นต้น)

วิกฤติประชาธิปไตย-ข้อสรุปบางประการ

วิกฤติประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านของศูนย์อำนาจโลก และการร้าวฉานของกระบวนโลกาภิวัตน์ มันเป็นทั้งตัวชี้วัดและแรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนผ่านนี้ ทั้งยังเกี่ยวโยงกับปัญหาสังคมอื่นจำนวนมาก มีรายละเอียด ความซับซ้อน และมุมมองได้หลากหลาย

พิจารณาจากความเป็นมา อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยผงาดขึ้นในสหรัฐ-ตะวันตก ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 ในการปฏิวัติประชาธิปไตยที่พลิกโลก แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้ยืนเด่นเป็นสง่า หากกลับถูกทดสอบ ต้องปรับตัว และในบางช่วงถึงขั้นล้มลุกคลุกคลาน

การปฏิวัติประชาธิปไตยฝรั่งเศสอันลือลั่น ไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ภายในยุโรปสองประการ ได้แก่ อิทธิพลของระบอบราชาธิปไตย และปัญหาชาวยิวว่าควรได้รับสิทธิพลเมืองเพียงใด

ในปัญหาแรก ประชาธิปไตยยุโรปต้องสวมเสื้อคลุมราชาธิปไตยในสมัยพระเจ้านโปเลียนและหลานของพระองค์ ต้องใช้สงครามโลกครั้งที่ 1 มาแก้ไข

สำหรับปัญหาชาวยิวนั้นต้องใช้ลัทธินาซีมาแก้ไข และนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ในสหรัฐ ไม่สามารถแก้ปัญหาอิทธิพลชนชั้นนายทาสได้ ต้องใช้สงครามกลางเมืองมาแก้ไข

ในช่วงสองร้อยปีเศษ อุดมการณ์ประชาธิปไตยตะวันตกต้องเผชิญกับการท้าทายจากลัทธิอื่นและกระบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่

ก) ลัทธิมาร์กซ์หรือสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ ขับเคี่ยวกันเป็นเวลานานกว่า 150 ปีผ่านสงครามเย็น มาจนถึงปัจจุบัน

ข) ลัทธิอนาธิปไตย ที่ซ้ายยิ่งไปกว่าลัทธิมาร์กซ์ ต้องการสร้างสังคมไร้รัฐแบบฉับพลัน ไม่ต้องผ่านเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ลัทธิอนาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นในตะวันตกช่วงทศวรรษ 1960 จากขบวนการนักศึกษา-ปัญญาชน กลุ่มซ้ายใหม่และขบวนการทางสังคม และเข้มแข็งขึ้นอีกในศตวรรษที่ 21 ในขบวนการต่อต้านสงคราม ต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านกระบวนโลกาภิวัตน์ ขบวนการอนาธิปไตยสีเขียว ลัทธิชุมชน ขบวนการสตรีนิยม เป็นต้น

ค) ลัทธิฟาสซิสต์/นาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และดูเหมือนถูกทำลายไปในการพิจารณาคดีอาชญากรรม สงครามในศาลเมืองนูเรมเบิร์ก แต่แล้วก็ฟื้นตัวขึ้นใหม่ในรูปของฝ่ายขวาทางเลือกหรือประชานิยมเอียงขวาในสหรัฐ และทั่วยุโรปที่กัดเซาะกระบวนโลกาภิวัตน์ ต่อต้านการปกครองของบรรษัท นิยมเรียกกันว่าลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ที่ไม่อาจทำลายลงได้ง่ายๆ

ง) ลัทธิและขบวนการสิ่งแวดล้อม ทางลัทธิทฤษฎีมีการสร้างตัวแบบ “ความจำกัดของความเติบโต” การสร้างวิชาเศรษฐศาสตร์นิเวศ เป็นต้น ทางขบวนการ มีขบวนการสิ่งแวดล้อมจำนวนมากและหลากหลาย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษและความเสื่อมโทรมในธรรมชาติ

จ) ขบวนการฟื้นฟูศาสนา ได้แก่ คริสเตียนปีกขวาในสหรัฐ ลัทธิอิสลามในหลายประเทศมุสลิมและผู้ถืออิสลามทั่วโลก นิกายออร์ธอดอกซ์ในรัสเซีย ชาตินิยมฮินดูในอินเดีย เป็นศรัทธาใหม่ที่ไม่ยอมอยู่ใต้อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย

เพื่อสรุปวิกฤติประชาธิปไตยให้เห็นได้ง่าย จะแยกสรุปเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

1) วิกฤติประชาธิปไตย คืออะไร คำตอบคือมันเป็นวิกฤติทางอุดมการณ์ เป็นวิกฤติขั้นกลางของระบบสังคมและระบอบปกครอง

2) วิกฤติเกิดขึ้นที่ใดเป็นสำคัญ และเกิดขึ้นได้อย่างไร

3) แนวโน้มของวิกฤติเป็นอย่างไร

ในฉบับต่อไป จะกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้เป็นลำดับไป