มีข่าวจากชาวนามะกัน เกษตรกรอเมริกันยุคใหม่

อีกไม่นานเกินรอเราก็จะค่อยๆ ใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสินว่าโครงการรับจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเรื่องดีหรือชั่วร้ายสำหรับชาวนา มันเป็นนโยบายที่ถูกต้องแต่มีช่องโหว่ ข้อผิดพลาดในการปฏิบัติหรือว่าอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้การตัดสินเรื่องนี้หรือคดีนี้ควรเป็นอย่างไร

ตัดสินแบบไม่มีอคติ ไม่มีการเมือง แต่ว่ากันเรื่องประโยชน์ของชาวนาและประเทศชาติ

ในขณะที่รัฐบาลประยุทธ์มีโครงการรับจำนำยุ้งฉาง (ที่ชื่อเรียกเข้าใจยาก) เป็นเรื่องดีสำหรับชาวนา หรือเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก ปฏิบัติลำบากหรือไม่ และโครงการขายข้าวช่วยชาวนา ช่วยชาวนาแน่ๆ แต่ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

อยากให้มีผู้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบจริงๆ เลย

 

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้เลียนแบบกัน แต่ปรากฏการณ์ต่างๆ ในแต่ละประเทศที่อยู่คนละทวีปช่างคล้ายคลึงกันในแต่ละยุคสมัย คงเป็นเพราะมนุษย์เราที่ดำเนินชีวิตในแบบเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็มีความต้องการไม่ต่างจากกัน

หากเป็นมนุษย์เมือง ชีวิตก็จะเคลื่อนไปแบบหนึ่ง เร่งรีบ อาศัยเทคโนโลยี อาศัยอาหารจานด่วน ไม่กินข้าวจากครัวในบ้าน และไม่ชอบดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกเฉอะแฉะ

ขณะที่ชีวิตของเกษตรกรก็เคลื่อนไปช้าๆ มีความเปลี่ยนแปลงช้าๆ จากที่เคยใช้แรงงานตัวเองล้วนๆ มาสู่การใช้เครื่องจักรทุ่นแรง

จากปลูกแบบธรรมชาติมาเป็นใช้ปุ๋ยเคมีเร่ง

จากการปลูกพืชผสมผสานเป็นปลูกพืชเชิงเดี่ยว

และตอนนี้ก็กำลังจะหมุนวนกลับมาเป็นปลูกพืชผสมผสานอีกแล้ว (เพราะแรงบันดาลใจจากในหลวง ร.9) และกำลังเริ่มกลับหลังหันจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปลูกแบบออแกนิก

จากพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชผสมผสานเพราะรู้แล้วว่าไม่ทำลายดิน

จากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นแบบออแกนิกเพราะรู้แล้วว่าคนพากันคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น

ไต้หวันที่เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยลำดับต้นๆ กำลังเพิ่มปริมาณปุ๋ยออแกนิกที่ส่งออก

นี่เป็นเทรนด์ที่จะขยายมาถึงประเทศไทย เพราะว่าเราซื้อปุ๋ยจากไต้หวัน และเพราะเรามีผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น

 

การล้มละลายของระบบเกษตรในเมืองไทย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถรักษาที่ดินทำกินที่ตกทอดจากปู่ย่าตายายไว้ได้ และต้องทำกินบนที่ดินเช่า

คนชั้นกลางมากมาย นำโดยเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ นำเงินที่สะสมไว้ไปซื้อที่นาจากเกษตรกรแล้วจ้างเกษตรกรทำนา เทรนด์นี้กำลังเติบโตรวดเร็ว และก็อีกเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจะมีการศึกษาวิจัยไว้ เพื่อให้รัฐใช้ในการกำหนดนโยบายเรื่องเกษตร

หันกลับไปดูที่อเมริกา ไม่แปลกใจที่อะไรๆ ก็กำลังเกิดขึ้นแบบเดียวกัน ไม่มีใครเลียนแบบใคร

ชาวไร่ชาวนาอเมริกันยุคใหม่นั้น มีผู้ศึกษาวิจัยไว้ว่ามีอายุระหว่าง 25-44 ปี พวกเขาทำเกษตรบนที่เช่า เพราะว่าเนื้อที่ทำการเกษตรในอเมริกามีราคาสูงขึ้นมาก

ในขณะที่เกษตรกรในอเมริกามีจำนวนลดลง แต่เกษตรกรที่เพาะปลูกบนที่เช่ากลับมีจำนวนสูงขึ้น 9% จากปี 2007-2012 เฉพาะในแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นแหล่งกสิกรรมใหญ่ จำนวนเกษตรกรแบบที่ว่านี้เติบโตขึ้นถึง 22% ส่วนโอเรกอนสูงขึ้น 11%

อยากจะเดาว่าคนอเมริกันเจนใหม่เบื่อทำงานในออฟฟิศและหันไปใช้ชีวิตชาวนาอยู่กับธรรมชาติแทน คือในที่สุดก็ได้คิดว่าผืนดินนี่แหละคือสิ่งที่สร้างให้งอกงามเป็นพืชผลได้

เห็นไหมคะว่าเทรนด์นี้ก็ตรงกับเมืองไทยที่ผู้คนเบื่อชีวิตในเมืองและออกไปเพาะปลูกในชนบทกัน อย่างหลานๆ ผู้เขียนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว พ่อมีที่ที่เขาค้อ เขาก็จะไม่เพียงไปพักผ่อน แต่กำลังเรียนรู้วิธีพลิกผืนดินให้เป็นทรัพย์สินมีค่า ลงมือปลูกสตรอว์เบอร์รี่ พร้อมๆ กับการขายปุ๋ยชีวภาพให้เพื่อนเกษตรกร

 

เกษตรกรอเมริกันยุคใหม่ใช้วิธีเช่าที่ปีต่อปีเพื่อทำฟาร์มออแกนิก

ยอดขายผลิตภัณฑ์ออแกนิกในสหรัฐขณะนี้ขึ้นสูงถึง 43,300 ล้านเหรียญต่อปีในปี 2015 และยังจะเติบโตไปเรื่อยๆ แม้ว่ายอดขายดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียง 5% ของยอดขายอาหารทั้งหมด แต่ก็เชื่อได้ว่าแนวโน้มสดใส

ผู้บริโภคยุคใหม่เข็ดขยาดอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี เพราะมีผลต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคมะเร็ง

การเช่าที่เขาปลูก หากไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากทำ แต่ราคาที่ดินที่สูงมากก็ทำให้ไม่มีทางเลือก ข้อเสียคือเกษตรกรไม่สามารถลงทุนในระยะยาวได้ เช่น เกษตรกรรายหนึ่งอุตส่าห์ขุดบ่อน้ำ เจ้าของที่ก็เลยขึ้นราคาค่าเช่าเสียเลย และแถมบอกขายด้วยเพราะได้ราคาดี

เกษตรกรอีกรายลงทุนปลูกสตรอว์เบอร์รี่ไปแล้วหนึ่งเอเคอร์ครึ่ง เจ้าของที่บอกว่าไม่ให้ทำแล้วเพราะเกรงว่าจะใช้น้ำเปลือง

 

ตอนนี้อเมริกากำลังเข้าสู่ยุคเจ้าที่ดินยุคใหม่ (neo-feudal) กลายๆ ไปแล้ว

คิดหรือว่าเมืองไทยจะไม่ก้าวสู่ยุคนี้ในไม่ช้าเช่นเดียวกัน ข้อแตกต่างก็คือเจ้าที่ดินใหม่อาจไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนจีน!

เกษตรกรสองคนผัวเมียคู่หนึ่งจ่ายค่าเช่าที่ดินปีละ 4,000 เหรียญเพื่อเช่าที่ 2.5 เอเคอร์ และเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ ราคาเดือนละ 1,500 เหรียญ เช่นเดียวกับเกษตรกรไทยที่ต่างก็อยู่ในวังวนหนี้สิน ฝรั่งทั้งสองคนผัวเมียมีหนี้อยู่ 16,000 เหรียญ

แบบนี้ก็ยังเรียกว่าอยู่ในภาวะขัดสน

เกษตรกรบางกลุ่มรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อกระจายความเสี่ยงและใช้ทรัพยากรร่วมกัน อย่างเช่นในโอเรกอน บัณฑิตที่จบจาก Middlebury College อายุ 29 ปี ชื่อ Eric Harvey ได้รวมกลุ่มสหกรณ์ประกอบด้วยเกษตรกร 10 คน รวมแล้วมีเนื้อที่ 6 เอเคอร์ปลูกผัก อีก 11 เอเคอร์ปลูกบลูเบอร์รี่ และอีกครึ่งเอเคอร์ปลูกดอกไม้และสมุนไพร

Eric บอกว่ากำลังหาโมเดลที่ทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และสร้างชุมชนที่ดีรอบพื้นที่เกษตร เขาบอกว่าราคาที่ดินที่สูงขึ้นทำให้การเข้าถึงที่ดินทำได้ยาก

ราคาที่ดินทำการเกษตรสูงขึ้นจาก 1,590 เหรียญต่อเอเคอร์ในปี 2002 เป็น 4,090 เหรียญในปี 2015

ในขณะที่ประเทศไทยมีปัญหานายทุนหลอกให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด ยูคาลิปตัส) ทำให้ที่ดินทำการเกษตรแบบเหมาะสมลดน้อยลง อเมริกาเองก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน

พื้นที่เกษตรถูกแปลงไปเป็นพื้นที่ปศุสัตว์ สวนสาธารณะ โครงการพัฒนาต่างๆ

30 ปีที่ผ่านมาพื้นที่เกษตรในสหรัฐหายไป 76 ล้านเอเคอร์

ปัญหาการเปลี่ยนมือและการตกทอดของที่ดินก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งด้วย

 

กระทรวงเกษตรสหรัฐกำลังแก้ปัญหาพื้นที่เกษตรลดลง และเกษตรกรสูงอายุเข้าสู่วัยเกษียณด้วยการให้การศึกษากับเกษตรกรรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 2009 รัฐบาลได้กันเงินกู้ไว้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่ผ่าน Farm Service Agency ในปี 2006 องค์กรนี้ก็ได้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่กู้เพื่อซื้อที่ดิน 6,000 ราย เป็นงบประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ครอบครัวเกษตรกรผัวเมียที่ทำเกษตรอยู่ใกล้กับ Silicon Valley คงมองตากันปริบๆ เพราะในแถบนั้นอุตสาหกรรมไอทีเฟื่องฟู และคนหนุ่มสาวต้องการที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าการเกษตร และราคาที่ดินก็แพงลิบลิ่ว

เกษตรกรอเมริกันยุคใหม่กำลังให้เวลาตัวเอง 5 ปีที่จะลองสู้ดูสักตั้ง หากไม่ไหวพวกเขาก็คงต้องโบกมือลาไปทำอาชีพอื่น

ไม่เหมือนเกษตรกรไทยที่มีทางเลือกอย่างเดียวคือไปรับจ้างแรงงาน เพราะเขาเกิดมากับเกษตร เคยชินกับวิถีชีวิตเกษตรกร และไม่มีทักษะอย่างอื่นให้เลือกอีกแล้ว