Passing a window, I glanced Into It. บทกวีแห่งเงาสะท้อนอันไร้สุ้มเสียง ที่สำรวจธรรมชาติของความเป็นภาพอย่างเรียบง่ายเงียบงัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เราขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่เราได้ไปดูมาให้อ่านกันอีกตามเคย

อ้อ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับนิทรรศการนี้คือ ตัวศิลปินเจ้าของผลงานนั้น เราๆ ท่านๆ อาจรู้จักและคุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดีในอีกบทบาท

ถ้าเอ่ยชื่ออธิษว์ ศรสงคราม หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกันนัก แต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นคนเดียวกับ “อ้วน อาร์มแชร์” คอดนตรีหลายคนน่าจะรู้จักเขาดี ในฐานะมือคีย์บอร์ด/ฟลุต มาดเท่ แห่งวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ/บอสซาโนวา ที่โด่งดังในยุค 2000 อย่าง “อาร์มแชร์” นั่นเอง ถึงแม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการทำงานดนตรีกับวง แต่ด้วยความที่เขามีพื้นฐานทางด้านศิลปะการถ่ายภาพมาก่อน อธิษว์จึงละทิ้งเส้นทางสายดนตรีและหันเหไปสู่เส้นทางสายศิลปะอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าศึกษาต่อทางด้านการถ่ายภาพที่ สถาบันศิลปะแห่งเมืองดุสเซลดอร์ฟ (Kunstakademie Düsseldorf) ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีศิษย์เก่าเป็นศิลปินชั้นนำของโลกอย่างโจเซฟ บอยส์ และแกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เป็นอาทิ อธิษว์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้

หลังจากจบการศึกษา เขากลับมาแสดงงานในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการชื่อ Mind the Monsoon ในปี 2016 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ กับผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เริ่มต้นจากการตั้งคำถามและเสนอสมมุติฐานเกี่ยวกับสื่อของภาพถ่าย ด้วยการเล่นกับการรับรู้ของผู้ชมผ่านการจัดแสง, การทำภาพซ้ำ และการดัดแปลงรูปถ่ายด้วยวิธีการต่างๆ

และในปี 2019 นี้เขาก็กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการ Passing a window, I glanced Into It. นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะที่มุ่งค้นหาความเป็นไปได้ของสื่อภาพถ่าย ว่าสามารถก้าวข้ามความเป็นระนาบสองมิติได้อย่างไรบ้างภายใต้กรอบกติกาของมัน

อธิษว์สนใจในความเป็นภาพ การเกิดของภาพ และการสร้างภาพที่เป็นตัวแทนภาพในความคิด เขาตั้งคำถามกับสถานะของภาพถ่ายว่า แท้จริงแล้วมันคืออะไร? และมีหน้าที่ใดบ้าง โดยเปิดให้การรับรู้ของผู้ชมเป็นส่วนเติมเต็มในผลงานของเขา

ในปัจจุบันที่ใครๆ ก็สามารถถ่ายภาพได้เองในชั่วพริบตาด้วยสมาร์ตโฟนในมือ แต่อธิษว์กลับทำงานศิลปะอย่างเชื่องช้าและระมัดระวัง

เขาใช้เวลาคัดสรรวัตถุดิบและจัดฉากด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับการทำงานของประติมากร ผนวกกับกระบวนการปรับแต่งด้วยระบบดิจิตอล เพื่อให้ภาพถ่ายเข้าถึงสถานะในอุดมคติมากที่สุด และแสดงออกถึงตัวมันเองอย่างบริสุทธิ์ ไร้อารมณ์ฟูมฟายล้นเกิน

เขาให้คำจำกัดความผลงานศิลปะภาพถ่ายของตัวเองว่าเป็นเหมือนบทกวีในรูปแบบหนึ่ง ที่ดูสะอาด เรียบง่าย และต้องอาศัยประสาทการรับรู้และเวลาในการพินิจพิจารณาเพื่อเข้าถึงมันอย่างแท้จริง

อธิษว์เชื่อว่าสื่อของภาพถ่ายสามารถชักนำผู้ชมเข้าไปสู่พื้นที่ภายในภาพได้ เหมือนกับว่าภาพถ่ายมีโลกในตัวมันเอง

แต่ในทางกลับกัน เขาก็มองว่าภาพถ่ายเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งที่ถูกผู้สร้างและภาพกำหนดมุมมองและความหมายให้กับมัน

ในนิทรรศการครั้งนี้ อธิษว์ตั้งคำถามกับความเป็นภาพของภาพถ่าย ด้วยการเดินทางย้อนกลับไปสู่การถือกำเนิดของภาพ ที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด

นั่นคือ “ภาพสะท้อน” ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อพื้นผิวของของเหลวต่างๆ กระทบกับแสง

ผลงานชุดนี้ อธิษว์เลือกวัตถุอย่าง “กระจกเงา” เป็นองค์ประกอบหลักในการทำงาน ด้วยความที่มันเป็นวัตถุที่มีพื้นผิวคล้ายของเหลว และสามารถสร้างภาพให้ปรากฏขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง

เขาทำการทดลองกับกระจกเหล่านี้เพื่อสร้างภาพที่ต้องการ และทำการถ่ายภาพเพื่อบันทึกและถ่ายภาพเหล่านั้นออกมาเป็นภาพถ่ายอีกครั้ง

เพื่อตั้งคำถามถึงระนาบ และมิติความลึกในระยะ พื้นผิวของ “ภาพที่อยู่ในภาพ” ที่ภาพถ่ายสองมิติพึงจะทำให้ปรากฏขึ้นได้

ผลงานชุดแรกที่จัดแสดงในห้องแสดงงานหลักของหอศิลป์ เป็นภาพถ่ายของเส้นสายรูปทรงเรขาคณิต ดูคล้ายภาพนามธรรม

แต่อันที่จริงแล้วมันเกิดจากการทดลองสร้างภาพด้วยกระจกเงา

“ผมสนใจเรื่องการเกิดของ “ภาพ” เพราะภาพแรกๆ ที่มนุษย์เห็นตั้งแต่สมัยโบราณนั้นเกิดขึ้นจากการสะท้อนของน้ำหรือของเหลวจนเกิดเป็นภาพขึ้นมา ผมสนใจกระจกในความเป็นวัสดุที่สร้างภาพได้ ผมก็เลยเอากระจกที่เป็นวัสดุที่สะท้อนภาพในยุคสมัยนี้มาประกอบกันเพื่อสร้างภาพอีกทีหนึ่ง เป็นการสร้างภาพที่พูดถึงเรื่องการสร้างภาพ ว่าภาพที่ถูกสร้างขึ้นสามารถมีมิติข้างใน และสะท้อนอะไรออกมา” อธิษว์กล่าวถึงแนวคิดของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

เมื่อได้ฟังแนวคิดในการสร้างผลงานชุดนี้ของเขาแล้ว ทำให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า อันที่จริงหน้าที่ดั้งเดิมของศิลปะ ก็คือการสร้างภาพแทนของบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเหมือนกันนั่นแหละ ซึ่งอธิษว์ก็เห็นด้วยและเสริมว่า

“ผมเองก็เอาประเด็นนี้มาใช้เปรียบเทียบกันระหว่างการสร้างภาพด้วยการถ่ายภาพ และการสะท้อนภาพของกระจก ต่างกันตรงที่ ภาพถ่ายเป็นการบันทึกภาพผ่านเลนส์ ส่วนกระจกนั้นสร้างภาพขึ้นจากการสะท้อน ผมสนใจในวัตถุที่มีความเชื่อมโยงกับภาพถ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำเป็นหลัก

ภาพถ่ายที่เห็น เกิดจากการนำกระจกเพียงไม่กี่ชิ้นมาประกบชนกันจนสร้างมิติที่ลึกและหลากหลายให้เกิดขึ้นได้ ภาพบางภาพที่เกิดการสะท้อนของกระจก ผู้ชมต้องอยู่ในตำแหน่ง มุมมอง และองศาที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะมองเห็นมันได้

ส่วนการใส่กรอบภาพ ผมตั้งใจทำให้ดูเหมือนเป็นกรอบหน้าต่าง ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเวลาเราเดินผ่านแล้วเราเหลือบมองเข้าไปข้างในได้”

ผลงานชิ้นที่สองที่เราเห็น เมื่อดูห่างๆ เป็นคล้ายกับหยาดน้ำที่เนืองนองอยู่บนพื้นหอศิลป์ แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เราจึงพบว่ามันเป็นแผ่นกระจกเงาที่ถูกตัดเลียนแบบหยาดน้ำนั่นเอง

“วัตถุชิ้นนี้มีชื่อว่า Drop of Water เริ่มต้นจากการที่ผมเข้ามาในหอศิลป์ แล้วเอาน้ำหยดในระดับความสูงของตัวเองจนเกิดเป็นรูปทรง แล้วก็ขยายรูปทรงให้ใหญ่ขึ้นตามความสูงที่หยด เหมือนกับเวลาที่เราขยายรูปถ่ายนั่นแหละ ผลงานชิ้นนี้ผมพัฒนามาจากงานชิ้นก่อนหน้าที่ได้แรงบันดาลใจจากเวลาที่เห็นน้ำมันเครื่องหยดลงพื้นแล้วกลายเป็นรูปทรง ผมคิดว่ามันสวยและน่าสนใจดี เลยทำออกมาเป็นตัววัตถุขึ้นมา”

“ส่วนวัตถุชิ้นที่เห็นในนิทรรศการนี้ ผมพัฒนาแนวคิดให้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของภาพเป็นครั้งแรกๆ ที่เป็นการสะท้อนจากน้ำหรือของเหลว เราก็นำเอาหยดน้ำนั้นมาเปลี่ยนให้เป็นวัตถุสะท้อนภาพที่มีมวลและสามารถยกไปไหนมาไหนได้”

ผลงานชุดสุดท้ายในนิทรรศการนี้เป็นภาพถ่ายขนาดเล็ก ที่จัดแสดงในห้องแสดงงานขนาดย่อมอีกห้องของหอศิลป์

แต่ผลงานเหล่านี้ไม่ได้แขวนบนผนังธรรมดาๆ หากแต่อยู่บนผนังที่กรุด้วยกระจกเงารอบด้าน ผลงานภาพถ่ายที่ถูกสาดส่องด้วยหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ติดเรียงรายเป็นสี่เหลี่ยมเรขาคณิตบนเพดาน สร้างภาพสะท้อนที่ดูคล้ายกับมิติอันลึกล้ำไม่รู้จบขึ้นมาในห้อง

“ผลงานที่แสดงในห้องกระจกนี้ มีที่มาจากการที่ทางหอศิลป์บอกว่ามีพื้นที่ว่างอีกที่ภายในห้องแสดงงาน เขาเลยขอให้ผมคิดงานอีกชุดที่เกี่ยวข้องกับตัวนิทรรศการ ผมคิดว่า ถ้าแขวนภาพในห้องใหญ่ แล้วเอางานแบบเดียวกันมาแขวนห้องเล็กด้วยมันจะดูแปลกๆ ผมก็คิดถึงงานอีกชุดหนึ่งที่เป็นภาพถ่ายของกระจกที่เอามาประกบทำมุมชนกัน และส่องไฟรอบด้านให้ดูเหมือนถูกแสงอาทิตย์สาดส่องอยู่ จนดูเหมือนเป็นภาพที่ถ่ายในพื้นที่กลางแจ้งภายนอก เราก็เลยสร้างห้องนี้ขึ้นมาให้ล้อกันเป็นเหมือนมุมมองภายในห้องของตัวงานชุดนี้ และด้วยลักษณะของห้องที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเพดานเตี้ย เราเลยติดกระจกเงาบนผนังรอบด้านเพื่อเพิ่มความลึกของมิติให้กับห้อง ส่วนหลอดไฟที่ส่องจากด้านบนก็เป็นของเดิมที่ห้องนี้มีอยู่แล้ว”

ผลงานภาพถ่ายที่เป็นเหมือนบทกวีแห่งเงาสะท้อนอันไร้สุ้มเสียงของอธิษว์ในนิทรรศการนี้ นอกจากจะทำให้เราดื่มด่ำไปกับความงามอันบริสุทธิ์เรียบง่ายและเงียบงันของวัตถุธรรมดาสามัญอย่างกระจกเงาแล้ว

ภาพอันแปลกตาที่เกิดจากการสร้างความลวงตาด้วยการสะท้อนก็กระตุ้นเตือนให้เราอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า สิ่งรอบๆ ตัวที่เรามองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เป็นความจริงแท้

หรือแค่ความลวงที่ถูกใครบางคนประกอบสร้างขึ้นมากันแน่?

นิทรรศการ Passing a window, I glanced Into It. จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม – 11 พฤษภาคม 2019 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15), เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067

อนึ่ง ในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของนิทรรศการ จะมีการจัดเสวนาพิเศษที่อิงจากผลงานในนิทรรศการผ่านสองวิทยากรรับเชิญ พิชญา โชนะโต และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และดำเนินรายการโดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ ที่แกลเลอรี่เว่อร์ โดยการบรรยายจะเป็นภาษาไทย ในเวลา 15.00-17.00 น.