วางบิล/เรืองชัย /ทรัพย์นิรันดร์ ปรับขนาดมาตรฐานหนังสือพิมพ์

กอง​บรรณาธิการ​มติ​ชน สมัย​เริ่ม​แรก​ก่อตั้ง​บริษัท

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ปรับขนาดมาตรฐานหนังสือพิมพ์

 

ขณะที่ชั้นล่างของอาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์มติชนแห่งใหม่ ถนนเฟื่องนคร อันเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง อยู่ระหว่างจะจัดตั้งเครื่องพิมพ์ “เวป ออฟเซ็ต” ได้อย่างไร

บนชั้นสาม ซึ่งมีพื้นที่ 3 ห้อง เปิดโล่ง สองห้องใหญ่เป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน แบ่งเป็นห้องกระจกของผู้บริหารสองคนส่วนหนึ่ง อีกห้องหนึ่งเป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจครึ่งหนึ่ง เป็นห้องสมุดและข้อมูลครึ่งหนึ่ง ด้านหลังของห้องสมุดเป็นแคนทีน ห้องครัวขนาดเล็ก ต่อจากนั้นจึงเป็นห้องน้ำชายห้องหนึ่ง หญิงห้องหนึ่ง เปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวและหน้าที่อื่นเพิ่มขึ้น

รายชื่อกองบรรณาธิการเหนือบทนำ หน้า 3 ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2521 มีชื่อคณะที่ปรึกษา กิตติพันธ์ ศศะนาวิน สุทธิชัย หยุ่น รักษาการบรรณาธิการ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กรรมการผู้จัดการ ขรรค์ชัย บุนปาน ส่วนกองบรรณธิการเพิ่มชื่อปริชาดา หนูสีม่วง ประจำแผนกพิสูจน์อักษร เฉียด ปริพนธิ์พจนพิสุทธ์ ข่าวในประเทศและกระทรวงการต่างประเทศ อนันต์ สายศิริวิทย์ ข่าวการศึกษาและบทความ เสนอ สามัญบุตร “ซับเอดิเตอร์”

หลังจากนั้นยังมีการเพิ่มผู้สื่อข่าวเป็นระยะและแต่ละโต๊ะ เช่น โต๊ะข่าวกีฬา หลังจากประดิษฐ์ นิธิยานันท์ หาข่าว เขียนข่าว จัดหน้าข่าวกีฬาอยู่พักใหญ่ต้องขอเพิ่มผู้สื่อข่าวอีก 2 คน

ถัดด้านขวาของโต๊ะข่าวกีฬา ติดกับห้องกระจก มีขนาดเท่ากันเป็นโต๊ะข่าวต่างประเทศ ฐากูร บุนปาน เพิ่งสำเร็จเป็นบัณฑิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาหมาดๆ สุมิตรา จันทร์เงา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ กับอีกบางคนมานั่งประจำ ออกตระเวนหาข่าวตามงานเลี้ยงทูต และแปลข่าวจากเทเล็กซ์ข่าวต่างประเทศ เช่นเดียวกับโต๊ะข่าวในประเทศ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับบุญเลิศ ช้างใหญ่ สถาบันเดียวกับสมหมาย ปาริจฉัตต์ ชลิต กิติญาณทรัพย์ มาวิ่งข่าวเศรษฐกิจและการเมือง

ทั้งยังมีพงษ์ศักดิ์ บุญชื่น ผู้ชำนาญข่าวมหาดไทย รู้จักชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนไม่น้อยจากกองบรรณาธิการหลายฉบับ เคยเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวที่รวมประชาชาติมาเป็นผู้เรียบเรียงข่าวโต๊ะข่าวมติชน

 

จากวันที่ 1 เมษายน ขนาดหนังสือพิมพ์มติชน 12 หน้า กว้าง-ยาวเท่ากับมาตรฐานหนังสือพิมพ์ทั่วไปคือ สูง 22 1/2 นิ้ว กว้าง 13 1/4 นิ้ว ขณะที่เนื้อหาสาระและพื้นที่การนำเสนอข่าวยังเท่าเดิม

เนื้อหาสาระข่าวของมติชนมิได้เข้มข้นเฉพาะข่าวในประเทศ ข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศ และข่าวที่ตกหล่นจากฉบับอื่น ยังคมคายจากคอลัมนิสต์ประจำกองบรรณาธิการ นายหนุนยัน หมู่ขัน อารมณ์ดี กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พิชัย วาศนาส่ง วีระ มุสิกพงศ์ ฯลฯ และนักคิดนักเขียนนักวิชาการที่ที่ผลัดกันมานำเสนอความคิดของแต่ละคนทุกวัน

นอกจากนั้น ยังมีคอลัมน์ “คมนอกฝัก” จากหัวหน้าข่าวซึ่งคลุกคลีกับข่าววงในมานำเสนอสาระและส่วนที่นอกเหนือจากข่าวประจำวัน รวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลชั้นนำ บุคคลสำคัญในข่าวประจำวันฉบับวันจันทร์ ขณะที่มติชนมิได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ เพื่อผู้สื่อข่าวได้ตะลอนไปหาข่าวเด็ดข่าวเดี่ยวมานำเสนอท่านในสัปดาห์ต่อไป

นี้จึงทำให้หนังสือพิมพ์มติชนเติบโตและเพิ่มยอดจำหน่ายเป็นที่นิยมขึ้นทุกวัน

เช่น การเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะไปหลายคน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร ผู้สื่อข่าวที่ติดตามด้วย มีโอกาสสัมภาษณ์ยาวมาลงพิมพ์ในมติชนฉบับวันจันทร์

ทั้งการไปจีนครั้งนี้ ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นอีกผู้หนึ่งที่ร่วมเดินทาง กลับมานำเสนอสารคดีชื่อ “จากฟากฟ้า มาสู่ดิน” ด้วยสำนวนชนิดอ่านแล้ว ต้องรออ่านตอน 2 ตอน 3

 

ตอนหนึ่งของตอน 1 นำเสนอถึงบรรยากาศในเครื่องบินว่า

ภายในเครื่องบินมีทางยาวพอสมควร แต่มิได้ยาวไปกว่าหนทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงปักกิ่ง หรือยาวไปกว่าความคิดของมนุษย์ผู้มีความคิดอ่าน และในทางตรงกันข้าม ความยาวในตัวของเครื่องบินก็ยาวกว่าความคิดของใครหลายคนที่พิสูจน์แล้วในอดีตหมาดๆ ความจริงข้อนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างคุณอุปดิศร์ ปาจรียางกูร กับ นพ.ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งร่วมขบวนไปด้วยจะยืนยันได้ดีกว่าใครอื่น

ใครที่อ่านสารคดีเรื่องนี้ “จากฟากฟ้า มาสู่ดิน” ของขรรค์ชัย บุนปาน จะรู้ถึงความเป็นไปของประเทศจีนแทบว่าทุกแง่ทุกมุม จากประวัติศาสตร์ จากคำปราศรัยที่แตกต่างกันของผู้นำจีนกับนายกรัฐมนตรีไทย และจากบรรยากาศในชีวิตประจำวันของจีนได้ดี

น่าจะยิ่งกว่าไปเดินในกรุงปักกิ่งเสียเอง

 

เมื่อถึงวาระสำคัญหรือวันสำคัญของประเทศ เช่น วันครบรอบราชาภิเษกสมรส ปีที่ 28 มติชนฉบับประจำวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2521 เสนอเป็นฉบับพิเศษทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และสารคดี ที่สำคัญคือมีภาพ “ทะเบียนการสมรส” ลงตีพิมพ์จากต้นฉบับของทั้งสองพระองค์ รวมทั้งลายมือชื่อพยาน เลขทะเบียน และวันเดือนปีจดทะเบียน พร้อมลายมือชื่อนายทะเบียน ฟื้น บุณยรัตพันธ์

เพื่อพสกนิกรของพระองค์ได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ อันเป็น “ประเพณี” ที่ดีงามของการมงคลสมรส เป็นตัวอย่างอันดีของประชาชนคนไทยทุกคน

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับประจำวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2521 นำเสนอฉบับพิเศษ “ไทย-ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์อันยาวนาน” เรื่อง สมเด็จพระจักรพรรดิ สัญลักษณ์แห่งอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต มีภาพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตและสมเด็จพระบรมราชินีนางาโกะ ที่วังซูซากิ ในจังหวัดชิซูโอกา และพระฉายาลักษณ์เจ้าฟ้าชาย มกุฎราชกุมารอากิฮิโต เจ้าหญิงมิชิโกะ และเจ้าชายฮิโร

หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2521 หลังจากมีการปฏิวัติคณะรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เดือนตุลาคม พ.ศ.2521 ข่าวการนิรโทษกรรมนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เริ่มมีระแคะระคายออกมาบ้าง

เช่น มติชนฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2521 เสนอข่าว “เลื่อนพิจารณาคดี 6 ต.ค.อีก ระบุพยานโจทก์มีคดีติดตัว” ฉบับวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2521 เสนอข่าว “น.ร.ตาบอด เข้าฟังคดี 6 ตุลา”

มติชนฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2521 “นายกฯ ว่าคดี 6 ตุลาต้องเป็นขั้นตอน” โดยนายกรัฐมนตรีว่า เพราะหากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิดจะไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร