“รัฐบาลที่หวังได้” ควรจะเป็นอย่างไร ?

ทางออกหลังเลือกตั้ง

การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการกำหนดไว้วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หลังจากนั้นคาดว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนถัดไปคือมิถุนายน

ความคาดหวังอยู่ที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะนำประเทศเดินหน้าไปได้ อย่างน้อยก็ดีกว่าปัจจุบัน

ทว่าถึงวันนี้เกิดคำถามขึ้นแล้วว่า “รัฐบาลที่หวังได้ควรจะเป็นอย่างไร”

คำถามนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยผลการเลือกตั้งที่ประกาศออกมาแล้ว แม้จะยังไม่เป็นทางการ แต่ก็พอรู้ว่าเป็นอย่างไร สะท้อนชัดเจนว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้มีความสามารถอย่างที่คาดหวังได้ เพราะผลคะแนนที่ทำให้พรรคแตกเป็น 2 ฝ่ายที่ทำให้การต้องสู้กันแรงขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างมีช่องที่จะอ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นที่คาดหมายได้ว่าไม่ว่าฝ่ายไหนจะตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอที่จะควบคุมอำนาจได้อย่างมั่นคงแท้จริง

ประชาชนกับอำนาจรัฐดูจะยืนอยู่คนละฝั่ง และไม่มีท่าทีที่จะยินยอมให้กันและกัน

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ หากติดตามความคิดความเห็นว่าด้วยอนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง จะเริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องให้หาทางยุติความขัดแย้ง ร่วมมือกันจัดการให้เกิด “รัฐบาลประชาธิปไตย” อย่างแท้จริงขึ้นมา โดยหาทางขจัดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการไม่ยอมรับให้หมดไป

ล่าสุด “สวนดุสิตโพล” สำรวจเรื่อง “กระแสและทิศทางการเมืองไทย” ในคำถามที่ว่า “ประชาชนคิดว่าคนไทยควรทำอย่างไร บ้านเมือง ณ วันนี้จึงจะสงบและก้าวหน้าต่อไปได้”

คำตอบร้อยละ 51.35 เห็นว่าทุกคนทุกฝ่ายต้องสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ร้อยละ 29.38 บอกต้องเคารพกฎหมาย ทำตามระเบียบข้อบังคับ ร้อยละ 20.31 ให้ลดทิฐิ รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ร้อยละ 18.13 ให้ยึดหลักคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดี ร้อยละ 14.90 เห็นว่า ต้องไม่ออกมาเคลื่อนไหว ทะเลาะเบาะแว้ง

สะท้อนว่าความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่เป็นไปอย่างที่นักวิเคราะห์แนวโน้มประเทศแนะให้เป็นทางออก

คือ “ทุกฝ่ายจับมือกันหาทางนำประเทศออกจากทางตันที่จะนำสู่วิกฤตโดยละทิ้งประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องลงก่อน”

วิธีการที่ได้นำเสนอกันคือ ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ มี “คนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ” มาเป็นผู้นำ โดยกำหนดภารกิจและระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน

หนึ่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องยอมรับว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤต ให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย

สอง จัดการแก้ไขเงื่อนไขที่ก่อความคิดว่าไม่ชอบธรรมทั้งหมดออกไป โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรอิสระต้องมีกระบวนการสรรหาที่ไม่ก่อความระแวงสงสัยว่าจะมาเพื่อเป็นมือไม้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

จัดการเรื่องดังกล่าวให้เสร็จภายในไม่เกินปีครึ่ง

หลังจากนั้นจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

นั่นคือข้อเสนอที่มาจากเจตนาดี ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างไม่มีเงื่อนไขที่เป็นปัญหา

ความแป็นไปได้ของข้อเสนอนี้ อยู่ที่ความมั่นใจของฝ่ายต่างๆ ที่ว่าฝ่ายตัวเองสามารถที่จะยึดกุมอำนาจไว้ได้ว่ายังเหลืออยู่แค่ไหน

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา เป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

หากตั้งสติประเมินสถานการณ์อย่างมีปัญญาได้ จะพบว่าไม่ว่าฝ่ายไหนที่ว่าแน่นั้น ไม่แน่ตามที่คิด

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความตื่นตัวของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กังวลต่ออนาคตภายใต้การควบคุมครอบงำของอำนาจ ดูจะออกมาส่งเสียงเรียกร้องชัดเจน ด้วยท่าทีไม่ยอมจำนนมากขึ้น

การกล่าวอ้างว่า และเรียกร้องให้เสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยยอมให้อำนาจยังอยู่ที่ฝ่ายตัวเท่านั้นเหมือนที่ผ่านมา

เป็นเรื่องที่ถูกท้าทายมากขึ้น