วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนศึกษาจากจุดเริ่มแรก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แรกเมื่อศึกษาจีน (ต่อ)

การทำงานดังกล่าวข้างต้นดำเนินไปท่ามกลางกัลยาณมิตรทั้งในและนอกจุฬาฯ ซึ่งมีผลไม่น้อยต่อการเปิดโลกทัศน์ของตนให้กว้างขึ้น ที่ซึ่งต่อไปจะมีผลต่องานเขียนอยู่ไม่น้อย

แม้กระนั้นก็ตาม ในแง่ของการวางตนนั้น ด้วยความที่โตเป็นผู้ใหญ่ในวัยกว่า 30 จึงทำให้ต้องเจียมตนให้มาก แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งร่องรอยของความไร้เดียงสาดังเมื่อครั้งยังหนุ่มเลยก็หาไม่ และสิ่งที่ทำให้วุฒิภาวะค่อยๆ สั่งสมเติบโตอย่างสำคัญก็คือ งานวิจัย

งานวิจัยชิ้นแรกที่ทำคือ การมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยเรื่อง ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซ่าน (1860-1949) ซึ่งมีนักวิจัยในโครงการนี้อยู่หลายคน ทั้งยังเป็นโครงการที่ร่วมมือกับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยจงซัน

หรือที่บางทีก็เรียกว่า มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น

 

ความประทับใจในโครงการนี้ก็คือ เป็นโครงการที่ทำให้ได้ไปลงภาคสนามเก็บข้อมูลที่เมืองซั่นโถว (หรือซัวเถาในภาษาถิ่นแต้จิ๋ว) ใน ค.ศ.1989 และทำให้ได้รู้จักกัลยามิตรทางวิชาการชาวจีนไปด้วย

ความประทับใจดังกล่าวคงเกิดขึ้นเพราะตนมีเชื้อจีนเป็นทุนเดิมอยู่ด้วย เวลานั้นการเดินทางไปจีนยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ การเดินทางไปซั่นโถวของคณะเราจึงต้องโดยสารเรือ โดยต้องไปลงเรือที่ฮ่องกงที่จะออกตอนกลางคืนแล้วถึงท่าเรือซั่นโถวในตอนเช้าของอีกวัน

จำได้ว่า คืนนั้นแม้จะหลับได้ดีก็จริง แต่ก็รู้สึกได้ว่าข้างนอกมีพายุฝนจนทำให้เรือโคลงเคลงจนดูเหมือนเรือจะล่ม จึงได้แต่บอกกับตัวเองว่า ตายเป็นตาย แต่ขอให้ได้นอนก่อนก็แล้วกัน จนถึงเช้าวันต่อมาเรือก็ไปถึงท่าเรือซั่นโถวโดยสวัสดิภาพ

ครั้นพอขึ้นฝั่งและขึ้นรถที่มารับแล้วออกไปจากท่าเรือก็ให้ขนลุกซู่

อาการนี้มาจากสัญชาตญาณที่เตือนว่า นี่คือแผ่นดินจีนที่เป็นแผ่นดินเกิดของบรรพชน คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า อาการนี้จะเกิดเมื่อบุคคลได้เข้าไปในถิ่นฐานที่คล้ายกับตนเคยมีความผูกพันมาก่อน

และที่รู้สึกเช่นนั้นก็เพราะซั่นโถวตั้งห่างจากเหมยโจวที่เป็นเมืองถิ่นเกิดบรรพชนของตัวเองไปไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เวลานั้นจึงได้แต่เตือนตัวเองว่า ญาติเราอยู่ไกลจากนี้ไม่กี่มากน้อย และเราได้ส่งใจไปถึงแล้ว

 

การได้เยือนแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรกในชีวิต ทั้งยังได้ไปเยือนถิ่นฐานที่อยู่ไม่ไกลจากถิ่นเกิดของบรรพชนเช่นนี้ ทำให้ต้องรีบฉวยโอกาสซึมซับทุกสรรพสิ่งที่แวดล้อมให้เต็มอิ่ม ไม่เว้นแม้แต่อากาศที่สูดเข้าไปที่เวลานั้นยังบริสุทธิ์อยู่

และจากเวลาสองสามวันที่อยู่ที่เมืองนี้ได้ทำให้รู้อะไรหลายเรื่อง เช่น รู้ว่าจีนมีโบราณสถานหลายแห่งที่ยังไม่บูรณะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องนำงบประมาณไปบูรณะโบราณสถานที่เก่าแก่กว่า ซึ่งเวลานั้นจีนยังมิได้ร่ำรวยดังทุกวันนี้ ที่ไม่เพียงจะบูรณะหรือดูแลโบราณสถานได้ทั่วถึงเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเข้าไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิ่มมากขึ้นจนน่าตื่นตาตื่นใจในหลายที่

หรือรู้ว่ามีชาวจีนที่นี้จำนวนหนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมาก่อน ชาวจีนเหล่านี้พูดภาษาไทยได้ดีมาก และที่ต้องมาอยู่เมืองจีนก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง คือบางคนกลับไปไทยไม่ได้เพราะไทยต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมัยหนึ่ง

บางคนกลับไม่ได้เพราะเป็นที่หมายตาของทางการไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การไปเยือนจีนครั้งแรกนี้ตรงกับช่วงที่นักศึกษาจีนกำลังประท้วงรัฐบาลจีนครั้งใหญ่ และที่ชวนให้ตื่นเต้นก็คือ เมื่อออกจากซั่นโถวมาพักอยู่ในมหาวิทยาลัยจงซันแล้วนั้น เช้าตรู่วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1989 มิตรชาวจีนก็แจ้งแก่คณะเราว่า

รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) แล้ว

แต่เวลานั้นยังเช้าอยู่และเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นอย่างสดๆ ร้อนๆ ข้อมูลจึงมีไม่มากไปกว่านั้น

 

จากนั้นจึงได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเซินเจิ้นที่เมืองเซินเจิ้น ที่นี้เองที่ได้เห็นการประท้วงของนักศึกษา ซึ่งมีทั้งวางพวงหรีดใต้เสาธงชาติในมหาวิทยาลัย ร้องเพลง อินเตอร์เนชั่นแนล (1) ในอาคารหอพักจนเสียงดังกระหึ่ม หรือพบอาจารย์บางคนและนักศึกษาใส่ปลอกแขนดำไว้ทุกข์ เป็นต้น

การไปเยือนในวันนั้นจึงแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่หดหู่ ครั้นพอกลับถึงเมืองกว่างโจวในตอนเย็นก็ยังพบการเดินขบวนของนักศึกษา ถึงตอนนั้นมหาวิทยาลัยที่พักอยู่ก็มีโปสเตอร์ประท้วงปิดอยู่ทั่วมหาวิทยาลัย และมีการวางพวงหรีดที่ใต้ฐานอนุสาวรีย์ ดร.ซุนยัตเซ็นในมหาวิทยาลัย

แต่ที่จำได้ไม่ลืมก็คือ มีอาจารย์บางท่านที่ดูแลคณะเราที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้ หลังจากที่กลับมาเมืองไทยแล้วหลายเดือน จึงได้ทราบว่าอาจารย์เหล่านี้ถูกจับและถูกสอบสวน

แม้ไม่รู้ว่ากระบวนการสอบสวนเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าคงหนักหนาเอาการอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีอาจารย์ไทยบางท่านพบอาจารย์ท่านนั้นอีกครั้งหนึ่งนั้น ท่านอยู่ในสภาพที่ผอมเซียวจนหมดรูป การพูดการจาก็ไม่มีชีวิตชีวาดังแต่ก่อน

ซ้ำยังพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างอีกด้วย

 

ในระหว่างที่งานวิจัยเรื่อง ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซ่าน (1860-1949) กำลังดำเนินการอยู่นั้น ก็มีอีกงานหนึ่งเข้ามาโดยบังเอิญ เรื่องนี้เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งราวต้น ค.ศ.1991 มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งได้ขอให้ช่วยไปเป็นล่ามให้

พอไปถึงก็พบว่าที่จะเป็นล่ามนั้นเป็นให้กับหญิงจีนกลุ่มหนึ่งที่ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ปัจจุบันคือมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก) กำลังจะให้ความช่วยเหลืออยู่ หญิงจีนเหล่านี้ถูกล่อลวงมาค้าประเวณีในไทยแล้วได้หลบหนีออกจากซ่อง แต่ครั้นมาอยู่ใจกลางเมืองอย่างกรุงเทพฯ ก็หลงทางไปไม่ถูก

จนถึงจุดๆ หนึ่งที่มีตำรวจกำลังดูแลการจราจร หญิงจีนเดาว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปหาเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็มิอาจสื่อสารให้เข้าใจกันได้ ผลคือ ทางเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนั้นมีการติดต่อประสานงานกับศูนย์ที่ว่าอยู่ก่อนแล้ว จึงได้ขอความช่วยเหลือให้ศูนย์ช่วยหาล่ามมาให้เพื่อช่วยในการสอบปากคำ

การเป็นล่ามในขณะที่ภาษาจีนได้คืนครูไปจนเกือบจะหมดนั้น ทำให้การแปลเต็มไปด้วยความขลุกขลัก แต่ก็ได้ความพอที่เจ้าหน้าที่จะบันทึกเอาไว้ได้ โดยที่หากไม่นับปัญหาจากศัพท์ที่ไม่รู้แล้ว ปัญหาที่มาจากความไม่เข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์และชนบทจีนก็ถือเป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน

ปัญหานี้หมายถึงว่า แม้จะเข้าใจในสิ่งที่หญิงจีนบอกเล่าก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเห็นภาพพอที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ เช่น เมื่อหญิงจีนบอกว่าพวกเธอนั่งรถบรรทุกข้ามพรมแดนจีนมานั้น ความเข้าใจของฝ่ายไทยจะหมายถึงรถบรรทุกหกล้อหรือสิบล้อ ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็จะไม่เข้าใจว่ารถพวกนี้ข้ามแดนมาได้อย่างไร เพราะมันดูง่ายจนเกินไป เป็นต้น

สิ่งที่มารู้ทีหลังหลังจากนั้นก็คือ รถบรรทุกที่หญิงจีนพูดถึงนั้นก็คือรถที่ไทยเรียกว่า รถอีแต๋น (2)

 

ภาพที่ได้เห็นในเวลาต่อมาคือ รถพวกนี้สามารถวิ่งข้ามพรมแดนพม่ากับจีนไปมาได้เป็นปกติ เพราะคนที่ใช้รถเหล่านี้เป็นชาวบ้านที่อยู่ที่บริเวณพรมแดน ชาวบ้านนี้มีทั้งชาวจีน พม่า และชนชาติพันธุ์อื่นๆ ชาวบ้านเหล่านี้อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมาหลายชั่วคนแล้ว และอยู่ปนกันไปหลายชนชาติ

ครั้นมีการปักปันเขตแดนระหว่างจีนกับพม่าในทศวรรษ 1950 แล้ว ก็ทำให้ชนชาติเหล่านี้ต้องอยู่บนพรมแดนที่ทับซ้อนกัน บางพื้นที่ก็ทำให้เครือญาติต้องอยู่ดินแดนที่แยกกันทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น หากให้จีนกับพม่าถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเหล่านี้ ทางออกจึงคือ ปล่อยให้วิถีชาวบ้านในแถบนั้นเป็นไปดังเดิม เหมือนไม่มีการแบ่งพรมแดนเกิดขึ้น

จากการเป็นล่ามในครั้งนั้น ได้เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเกิดความคิดว่าน่าที่จะมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ด้วยเห็นว่าอย่างไรเสียก็มีข้อมูลของหญิงจีนเหล่านี้อยู่แล้ว

 

จากเหตุนี้ จึงได้นำความคิดนี้มาปรึกษากับผู้อำนวยการสถาบันเอเชียฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชา (3) หลังได้ฟังความแล้วท่านก็แสดงความกระตือรือร้นว่าเป็นโครงการที่น่าส่งเสริมอย่างยิ่ง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดแม้แต่น้อยว่า ต่อไปโครงการนี้ได้เปลี่ยนชีวิตทางด้านจีนศึกษาอย่างเอกอุเพียงใด จึงได้แต่แจ้งไปยังทางศูนย์ว่างานวิจัยนี้เริ่มได้แล้ว

หลังจากนั้นอีกนานนับเดือน ก็เข้าสู่ขั้นตอนการส่งตัวหญิงจีนกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมที่มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ซึ่งตนจะต้องเดินทางไปด้วยในฐานะล่าม ถึงตอนนี้จึงได้เข้าไปรายงานต่อผู้อำนวยการสถาบันเอเชียฯ อีกครั้งหนึ่ง

โดยวันรุ่งขึ้นท่านได้ให้ฝ่ายการเงินเบิกเงินยืมรองจ่ายสำหรับถือไว้ใช้ที่จีนจำนวนหนึ่ง

สิ่งที่น่าประทับใจจากเหตุการณ์นี้ก็คือ ความไว้วางใจให้เดินทางไปจีนในขณะที่ภาษาจีนไม่แข็งแรงมากนัก ความไว้วางใจเช่นนี้คงเกิดจากประสบการณ์ของตัวท่านเอง ที่ว่าหากไม่ใช้โอกาสเช่นนี้แล้วก็ยากที่จะพัฒนาตนเองในทางวิชาการให้ได้ดี

ซึ่งหลังจากได้ไปจีนในครั้งนั้นและครั้งต่อๆ มา ความจริงก็เป็นเช่นที่ท่านว่าไว้

————————————————————————————————————–
(1) เพลงนี้คือ The Internationale ที่แต่งโดย ยูจีน เอดีน พอตเทียร์ (Eugene Edine Pottier, 1818-1887) เป็นชาวสังคมนิยมฝรั่งเศส เพลงนี้ต่อมาได้กลายเป็นเพลงประจำของชาวสังคมนิยมหรือฝ่ายซ้ายทั่วโลก
(2) เป็นรถที่ผลิตขึ้นเองในเมืองไทย เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์อเนกประสงค์และน้ำมันดีเซล วิ่งได้ไม่เร็วนัก และเวลาวิ่งจะมีเสียงจากเครื่องยนตร์ดังแต้นโดยตลอด จึงถูกเรียกว่า รถอีแต๋น รถชนิดนี้นิยมใช้ในชนบทไทย และโดยมากใช้ประโยชน์ในทางการเกษตร
(3)ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาในขณะนั้นคือ ดร.เขียน ธีระวิทย์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย