หนุ่มเมืองจันท์ | ทายอนาคต

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน เพจ “เข้าพรวด” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอลลงเรื่องเทคนิคการอ่านเกมของนักฟุตบอลระดับโลก

2 คนพูดเหมือนกัน

คนหนึ่ง คือ อาร์แซง เวนเกอร์ อดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล

“เวนเกอร์” ศึกษานักฟุตบอลระดับโลก ไม่ใช่แค่ตอนที่เขาได้บอล

แต่ดูตอนที่เขาไม่มีบอลอยู่ที่เท้า

หัวของเขาจะหันไปมาคล้าย “เรดาร์”

ซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง

จะมองทั้งเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่ง

ดูว่าแต่ละคนยืนอยู่ตรงไหน

ในสมองของเขาจะมีภาพของเพื่อนร่วมทีม คู่แข่ง และสนามบอล

ดังนั้น เมื่อบอลมาถึงเท้า เขาก็จะตัดสินใจได้ทันทีว่าจะเลี้ยงบอลหรือส่งบอลไปทางไหน

นักบอลแต่ละตำแหน่งจะมีเวลาตัดสินใจแตกต่างกัน

กองหลังจะมีเวลา 1-2 วินาทีก่อนตัดสินใจเล่นบอล

มิดฟิลด์ 0.2-0.5 วินาที

และกองหน้าในพื้นที่สุดท้ายก่อนจบสกอร์ จะมีเวลาแค่ 0.1-0.2 วินาที

การเก็บข้อมูลก่อนที่บอลจะมาถึงเท้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“ผมเรียกมันว่าการสแกน”

เขาสังเกตดูช่วงเวลา 10 วินาทีก่อนที่นักเตะจะได้บอล

แต่ละคนสอดส่ายสายตาหา “ข้อมูล” กี่ครั้ง

เชื่อไหมครับว่านักเตะระดับโลกจะสแกน 6-8 ครั้งใน 10 วินาทีก่อนได้บอล

นักเตะธรรมดาจะสแกน 3-4 ครั้ง

“สตีเว่น เจอร์ราร์ด” จะสแกน 0.61 ครั้งต่อวินาที

“แฟรงก์ แลมพาร์ด” 0.62 ครั้ง

และ “ซาบี เออร์นันเดซ” 0.83 ครั้ง

นักเตะธรรมดากับนักเตะระดับโลกจะแตกต่างกันก็ตรงนี้

10 วินาทีก่อนที่บอลจะถึงเท้า

เขาทำอะไร

อีกคนหนึ่งที่คิดแบบเดียวกัน

“โรบิน ฟานเพอร์ซี่” อดีตศูนย์หน้าทีมอาร์เซนอลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครับ

“ศิลปะของการเป็นผู้เล่นชั้นยอดคือ การมองเห็นสิ่งต่างๆ ล่วงหน้าและอ่านสถานการณ์ก่อนผู้อื่น”

คล้ายๆ กับการทำธุรกิจไหมครับ

“ฟานเพอร์ซี่” ยกตัวอย่าง “แฟรงก์ แลมพาร์ด” สุดยอดกองกลางของทีมเชลซี

ตลอดเวลา 90 นาที “แลมพาร์ด” จะสอดส่ายสายตาดูเพื่อนร่วมทีม คู่แข่ง หาที่ว่าง และตำแหน่งที่จะเล่นบอลเป็น 1,000 ครั้ง

“ฟานเพอร์ซี่” เอา “แลมพาร์ด” เป็นต้นแบบ

เขาฝึกซ้อมการสแกนตลอดเวลา

“นักเตะส่วนใหญ่ต้องอาศัยเวลาในการคอนโทรลบอลเมื่อได้รับบอลมา พวกเขาจะก้มหน้าลงไปแป๊บนึงแล้วค่อยเงยหน้าขึ้นมาใหม่ และในช่วงนั้นเองคุณได้สูญเสียเวลา 2 วินาทีอันแสนสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจไป”

2 วินาทีในเกมระดับโลกสำคัญมาก

“ภาพในหัว” ก่อนบอลจะมาถึงทำให้คุณตัดสินใจเล่นบอลได้เลยโดยที่ไม่ต้องเงยหน้ามองหาเพื่อนร่วมทีม

ครับ “อดีต” คือ “ภาพในหัว” และ “จินตนาการ” ในใจว่าจะทำอย่างไรหากได้บอล

“ปัจจุบัน” คือ เมื่อบอลมาถึงเท้า

“อนาคต” คือ การจัดการ “จินตนาการ” ให้เป็นจริง

เชื่อไหมครับ ผมอ่านวิธีคิดของ “เวนเกอร์” และ “ฟานเพอร์ซี่” แล้วนึกถึงเรื่องวิธีคิดทางธุรกิจ

ในขณะที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

คำถามสำคัญของวงการธุรกิจคือ เราจะปรับตัวอย่างไรให้ทัน “ความเปลี่ยนแปลง”

ใครจะเห็น “โอกาส” ได้ก่อนกัน

ใครจะทาย “อนาคต” ได้ก่อนกัน

ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่อง “โชค” หรือ “พรวิเศษ”

แต่พออ่านเรื่องนี้แล้ว เราจะรู้เลยว่านักฟุตบอลระดับโลกนั้นนอกจาก “พรสวรรค์” และ “การฝึกซ้อม” แล้ว

การเก็บข้อมูลในสนามตลอดเวลาแทบทุกวินาทีทำให้เขาสามารถเล่นลูกมหัศจรรย์ได้เป็นประจำ

ผมเชื่อว่า “ศูนย์หน้า” ที่เราสงสัยว่าทำไมไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาได้ทุกครั้ง

เหมือนอยู่ดีๆ บอลก็มาที่เท้าให้ยิงประตู

นักฟุตบอลเหล่านั้นเก็บข้อมูลในสนามให้เป็น “ภาพในหัว”

และ “จินตนาการ” ว่าบอลจะไปตรงไหน

จากนั้นก็วิ่งไปอยู่ตรงนั้นเท่านั้นเอง

…ง่ายจะตายไป

ฟังแล้วน่าหมั่นไส้จริงๆ

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางทีเราอาจนำวิธีการของนักฟุตบอลระดับโลกมาใช้

“สแกน” ทีมงาน คู่แข่ง พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมบ่อยๆ

ไม่ต้องถึงขั้น “ซาบี เฟอร์นันเดซ”

0.83 ครั้งต่อวินาที

เอาแค่ “สตีเว่น เจอร์ราร์ด”

0.61 ครั้งต่อวินาทีก็พอ

แต่ต้องระวัง อย่า “ลื่นล้ม” นะครับ

แฮ่ม…เป็นคำล้อเล่นที่แฟน “หงส์แดง” เข้าใจดี

ครับ ถ้าเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เราจะเห็นภาพการเคลื่อนตัวเป็น “จุด”

ไม่ใช่ “เส้น”

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราจะเห็นก่อนคนอื่น

เห็นก่อนก็ปรับตัวได้ก่อน

ในหนังสือ “เดอะ ลาสต์เล็กเชอร์” ของ “แรนดี เพาช์”

มีตอนหนึ่งเขาเล่าถึงการฝึกเล่นฟุตบอล

โค้ชของเขาชื่อ “จิม แกรห์ม”

วันแรกของการฝึกซ้อม ทุกคนเล่นโดยไม่มีลูกฟุตบอล

เด็กคนหนึ่งทนไม่ไหว

“ขอโทษครับ โค้ช ทำไมเราไม่มีลูกฟุตบอลสักลูก”

“เราไม่จำเป็นต้องมีลูกฟุตบอล”

เป็นคำตอบของ “จิม แกรห์ม”

“มีนักบอลกี่คนอยู่ในสนาม” โค้ชถาม

“22 คนครับ”

ทีมของเรา 11 คน คู่แข่งอีก 11 คน

“มีกี่คนที่มีบอลอยู่ที่เท้า”

“คนเดียวครับ”

“ถูกต้อง” โค้ชพยักหน้า

“ดังนั้น เรามาเรียนรู้สิ่งที่คน 21 คนจำเป็นต้องทำ”

ครับ 21 คนนั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อรอเวลาที่ลูกบอลมาถึงเท้า

แล้วจัดการ “จินตนาการ” ที่อยู่ในหัว

ให้เป็นจริง