คนมองหนัง : “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ใครว่า “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” ไม่มีอะไร “ใหม่”

คนมองหนัง

แพร่ภาพมาได้เกือบสิบตอนแล้ว สำหรับละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “ขวานฟ้าหน้าดำ” ฉบับปี 2562 ที่ลงจอต่อจาก “สังข์ทอง”

ละครพื้นบ้านล่าสุดของค่ายสามเศียรยังคงทำเรตติ้งได้งดงามเช่นเคย โดยเมื่อดำเนินเรื่องไปถึงตอนที่ 5 (31 มีนาคม) ดัชนีความนิยมก็ทะลุเกินหลัก 5 เรียบร้อยแล้ว

สำหรับใครที่ไม่ใช่แฟนละครประเภทนี้ อาจรู้สึกว่า “ขวานฟ้าหน้าดำ” คือนิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องเดิมๆ ซึ่งไม่มีองค์ประกอบอะไรแปลกใหม่ และปราศจากความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่คล้ายจะซ้ำเดิมนั้น ก็มีพลวัตและสิ่งใหม่ๆ ซ่อนแฝงอยู่มากมาย

แม้จะไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน แต่หนังสือนิทานเรื่อง “ขวานฟ้าหน้าดำ” ซึ่งประพันธ์โดย “เสรี เปรมฤทัย” หรือ “เปรมเสรี” นักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่ยุคก่อน 2500 ก็ถือเป็นเรื่องเล่าจักรๆ วงศ์ๆ “รุ่นใหม่”

หากเปรียบเทียบกับนิทานพื้นบ้านที่ถูกถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมมุขปาฐะมาแต่โบราณกาล หรือหนังสือนิทานคำกลอนวัดเกาะ ซึ่งแพร่หลายในยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของประเทศไทย/สยาม

“ความใหม่” ของ “ขวานฟ้าหน้าดำ” ถือว่าอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับ “ดาบเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง” และ “โม่งป่า” ซึ่งเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ยอดนิยม ที่สร้างขึ้นจากงานเขียนของเสรีเช่นกัน

ถ้าถามว่าสังคมไทยไม่มีวรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ ที่ “ใหม่” กว่านี้อีกแล้วหรือ? ก็ต้องตอบว่า “พอมี” อยู่บ้าง

เพียงแต่หลายๆ เรื่องมีลักษณะเป็น “เทพนิยาย-แฟนตาซีชวนฝัน” ไม่ได้ถ่ายทอดอารมณ์ขันแบบบ้านๆ หรือกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมือง จากมุมมองของคนธรรมดาที่ด้อยอำนาจ ซึ่งมักเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ละครจักรๆ วงศ์ๆ จำนวนมากประสบความสำเร็จ

“ขวานฟ้าหน้าดำ” มีทั้งองค์ประกอบที่แลดูผิดแผกแตกต่างและรับมรดกตกทอดมาจากเรื่องเล่าจักรๆ วงศ์ๆ รุ่นก่อนหน้า ในคราเดียวกัน

หลายคนคงตระหนักได้ตั้งแต่แรกรับชมว่า จุดเริ่มต้นของ “ขวานฟ้าหน้าดำ” นั้นดัดแปลงมาจากชะตากรรมของ “นนทก” ในรามเกียรติ์

แต่ดูเหมือนผู้เขียนนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ยุคใหม่เรื่องนี้จะพยายามท้าทายจารีตดั้งเดิมว่า จำเป็นเสมอไปหรือไม่ที่ตัวละครเช่น “นนทก” จะต้องลงมาเกิดเป็นตัวร้ายอย่าง “ทศกัณฐ์”?

“นนทก” สามารถถือกำเนิดเป็นลูกชาวบ้านหน้าตาอัปลักษณ์ ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาตนเองจนกลายเป็นพระเอกผู้เปี่ยมคุณงามความดีได้หรือไม่?

“ขวานฟ้าหน้าดำ” ยังมีตัวละครทรงเสน่ห์อย่าง “เจ้าพ่อเขาเขียว” เจ้าที่ร่างเล็กจิ๋ว (และใหญ่ยักษ์ในบางโอกาส) ผู้ประจำการอยู่ ณ ศาลตายายซอมซ่อ อันเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย

ตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะโดดเด่น ซึ่งอ้างอิงกับวิถีชีวิตประจำวันและความเชื่อของสามัญชนคนทั่วไปเช่นนี้ หาได้ไม่ง่ายสักเท่าไหร่ในนิทานวัดเกาะและวรรณคดีไทยรุ่นเก่า

ขณะเดียวกันคุณธรรมน้ำมิตรสไตล์นิยายจีนกำลังภายใน ระหว่าง “ขวาน” กับ “จ้อย” และการกำหนดให้ “อำมาตย์ผู้ฉ้อฉลและทรงฤทธิ์” กับ “เด็กน้อยลูกชาวบ้าน” เป็นคู่ขัดแย้งหลักของละคร

ก็ถือเป็นรสชาติแปลกลิ้นที่แฟนๆ ค่ายสามเศียรไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสบ่อยครั้งนัก

คําถามชวนคิดข้อถัดมาคือ จริงหรือไม่ที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งถูกสร้างมาแล้วหลายเวอร์ชั่น จะปราศจากความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการใดๆ ทั้งสิ้น?

คำตอบคือ ละครพื้นบ้านเรื่องเดียวเรื่องเดิมที่ถูกนำมาผลิตซ้ำใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมมีพลวัตอยู่เสมอ

ขนาดในบางกรณี ผู้สร้างนำบทโทรทัศน์ฉบับเก่ามาถ่ายทำใหม่ชนิดแทบจะช็อตต่อช็อต

แต่สุดท้ายก็ยังต้องมีรายละเอียดที่ปรับเปลี่ยนไปตามวิธีคิด-อารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมต่างยุคสมัย

หรือเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอันเกิดจากความไม่พร้อมของตัวนักแสดง ที่อาจป่วยไข้ไม่สบาย กระทั่งตั้งท้องจวนจะคลอดลูก (ดังกรณีของ “เทพสามฤดู 2560” และ “สังข์ทอง 2561”)

รูปธรรมชัดเจนที่ช่วยบ่งชี้ให้เห็นถึงพลวัตของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “ขวานฟ้าหน้าดำ” ก็คือ ละครทั้งสามฉบับ ณ สามปี พ.ศ. ล้วนมีผู้กำกับฯ และผู้เขียนบทไม่ซ้ำหน้ากันเลย

“ขวานฟ้าหน้าดำ 2526” กำกับการแสดงโดย “สมาน คัมภีร์” และ “สันติภาพ บุนนาค” เขียนบทโดย “วาณิช จรุงกิจอนันต์”

“ขวานฟ้าหน้าดำ 2540” กำกับการแสดงโดย “ประทุม สินธุอุส่าห์ (มิตรภักดี)” เขียนบทโดย “ภาวิต” หรือ “รัมภา ภิรมย์ภักดี”

(น่าสนใจว่าในฉบับดังกล่าว ผู้กำกับฯ และผู้เขียนบทเป็นสตรีทั้งคู่ ทั้งนี้ ประทุมได้หวนกลับมาร่วมแสดงบทสมทบใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” เวอร์ชั่นล่าสุดด้วย)

ส่วน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” กำกับการแสดงโดย “หนำเลี้ยบ-ภิพัชพนธ์ อภิวรสิทธิ์” และเขียนบทโดย “อัศศิริ ธรรมโชติ” ที่เลือกใช้นามปากกา “บางแวก” ในการรับงานชิ้นนี้

นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ผู้เขียนบทละครพื้นบ้านค่ายสามเศียรจะมิใช่สองบุคลากรหลักอย่าง “รัมภา ภิรมย์ภักดี” และ “นันทนา วีระชน”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสุดที่อัศศิริเข้ามาข้องแวะกับแวดวงละครจักรๆ วงศ์ๆ เพราะเขาเคยเขียนบทโทรทัศน์ให้แก่ “อุทัยเทวี 2545” มาแล้ว

สิ่งที่ควรบันทึกไว้อีกประการหนึ่งก็คือ “ขวานฟ้าหน้าดำ” สามเวอร์ชั่นนั้น ใช้บริการนักเขียนรางวัลซีไรต์ถึงสองราย

โดยวาณิชได้รับรางวัลซีไรต์หลังเขียนบท “ขวานฟ้าหน้าดำ ฉบับแรก” เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่อัศศิริได้รางวัลซีไรต์เมื่อ 38 ปีที่แล้ว ก่อนจะมาเขียนบท “ขวานฟ้าหน้าดำ ฉบับล่าสุด” ใน พ.ศ.2562

ขอบคุณภาพประกอบจากช่องยูทูบ “สามเศียร”