เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สามห่วงโซ่ปัญหา

รัฐบาลไหนก็ช่างเถิด เมื่อได้อำนาจโดยชอบธรรมแล้วขอฝากข้อเสนอสามข้อให้พิจารณาบรรจุเป็น “แผนแม่บท” เพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบายดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจด้วย

สามข้อซึ่งเป็นดังสามห่วงโซ่ปัญหาของสังคมไทยวันนี้ คือ

การศึกษา

การฉ้อโกง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ที่จริงยังมีอีกมากมาย แต่สามเรื่องนี้ดูเหมือนจะครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกปัญหาอยู่แล้ว

ปัญหาแรก เรื่องการศึกษา เข้าใจง่ายๆ คือ “ความไม่รู้” ไม่รู้ในเรื่องที่ควรรู้แทบจะทุกเรื่องนั่นเลย

เริ่มแต่ไม่รู้หนังสือ ในที่นี้นอกจากอ่านออกเขียนได้แล้ว ต้องรักการอ่านด้วย ดังคำของผู้รู้ที่ว่า

“คนที่รู้หนังสือแต่ไม่อ่านหนังสือก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ”

บ้านเรามีคนไม่รู้หนังสือเพราะไม่อ่านหนังสืออยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

มิพักต้องพูดถึงเขียนหนังสือไม่เป็น คือไม่เป็นทั้งประโยคและเป็นตัว แถวที่บ้านมีคนเรียนจบขั้นอาชีวะ เขียนเลขไทยเลขหกเป็นเลขแปดไม่มีหยัก ยังไม่รู้ว่าผิดเลย นึกออกไหม ยังงี้ไง ๖

เอาเถิด ถือว่าไม่คุ้นกับเลขไทยแล้วกัน

ประเทศจีนที่กำลังเจริญก้าวหน้านำโลกอยู่เวลานี้ ก่อนนี้เขามี “เข็มมุ่ง” กำหนดเป็น “แผนแม่บท” พัฒนาประเทศอันดับแรก โดยใช้คำว่า

“ปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต”

หมายถึง ศักยภาพของคนเป็นพลังการผลิต ต้องทำให้ทุกคนได้มีโอกาสสำแดงศักยภาพของตนเต็มที่ด้วยการขจัดข้อจำกัดที่มีอยู่ให้สิ้น แล้วพัฒนาศักยภาพนั้นให้ขึ้นสู่ศักยภาพสูงสุดที่ทุกคนมีอยู่ให้จงได้

นั่นคือการตระหนักรู้ในความสามารถอันมีอยู่ในตัวของคนทุกคนนั่นเอง

การไม่ตระหนักรู้ รวมแล้วก็คือความไม่รู้ และไอ้ตัว “ความไม่รู้” นี่แหละคือพันธนาการหรือข้อจำกัดที่ปิดกั้นความสามารถของเขาอยู่ เพราะฉะนั้น พันธนาการนี้จึงจำเป็นต้อง “ปลดปล่อย” คือขจัดออกไปให้หมดสิ้น เพื่อให้ความสามารถอันมีอยู่นั้นได้สำแดงศักยภาพออกมาเป็น “พลังการผลิต” ซึ่งก็คือ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ

การปลดปล่อยพลังการผลิตก็คือการศึกษา

ศึกษาให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ อันมีทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต โดยเฉพาะ “วิชาชีวิต” นี้สำคัญสุด ตั้งแต่รู้จักและตระหนักรู้ถึงชีวิตตนเอง ไปจนถึงชีวิตสังคม ชีวิตจักรวาล

ทุกวันนี้คนมักจะตายน้ำตื้นกันง่ายๆ เพียงเพราะไม่รู้จักตัวเอง

ส่องกระจกก็จะเห็นแต่ตัวที่คิดว่าตัวเองเป็น ไม่เห็นตัวเป็นๆ ของตัวเองตามที่มันเป็นจริงเลย ทั้งที่มันก็อยู่ต่อหน้าเราเองแท้ๆ

นี่คือความไม่รู้ ในบรรดาความไม่รู้ทั้งหลาย ที่แก้ได้ด้วยการศึกษา

ปัญหาสองคือ การฉ้อโกง

เป็นปัญหาคาราคาซัง เถียงกันไม่จบแม้จนวันนี้ กลายเป็นวาทกรรมที่เอาเถิดเจ้าล่อกัน คือจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ถือว่าไม่ผิด ไม่ทุจริต ไม่โกง ถึงจับได้คาหนังคาเขาก็ตะแบงว่าใช้หลักการสองมาตรฐานมาจับผิดกัน

ดังมีคำนิยามเรื่องสังคมดังนี้

สังคมชั่วไม่ใช่เพราะคนทำชั่วมาก คนทำดีน้อย แต่เป็นเพราะคนทั้งหลายไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วมากกว่า”

ยิ่งสังคมที่ถือเอาเงินเป็นใหญ่ก็จะเอาเงินเป็นมาตรวัดไปทุกเรื่อง ดังที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ ในทุกที่และทั่วโลก

กระทั่งความขัดแย้งหลักของโลกวันนี้ก็คือ การฉ้อโกงทางวาทกรรม เรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการ แยบยลสุดคือความขัดแย้งระหว่างทุนสัมมากับทุนสามานย์ ในโลกของทุนนิยมใหม่

สมควรนิยามความให้ชัดว่า ทุนสัมมาคือการนำทุนมารับใช้สังคม ทุนสามานย์คือนำสังคมมารับใช้ทุน

ปัญหาการฉ้อโกงทำให้เกิดความไม่เป็นปกติสุขในสังคม จัดเป็นปัญหาทางศีลธรรม

การฉ้อโกงทำให้คนไม่จริงใจต่อกัน จัดเป็นปัญหาทางจริยธรรมอันก่อให้เกิดค่านิยมผิดๆ ทั้งหลาย

ที่สุดคือต้อนให้คนหันไปเข้ามุม ถือเอาความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง

ตัวใครตัวมัน ดังที่เห็นและเป็นอยู่

รัฐบาลใหม่ต้องทำความจริงให้ปรากฏ ขจัดการทุจริตโกงกินให้สิ้นซาก อย่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ดังที่ทำกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย

ปัญหาสาม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

วาทกรรมสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจบ้านเราวันนี้คือ “รวยกระจุก จนกระจาย”

อาจารย์เสน่ห์ จามริก เคยกล่าวว่า ประเทศภูมิศาสตร์เขตร้อนในโลกซึ่งมีอยู่เฉพาะแถวเส้นศูนย์สูตรของโลกอันมีประเทศไทยอยู่ด้วยนี้ มีอยู่ราวเจ็ดเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โลก แต่มันสำคัญสุดตรงที่ว่า พื้นที่เจ็ดเปอร์เซ็นต์นี้มีทรัพยากรถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในโลก

ตรงนี้แหละสำคัญสุดคือ ประเทศไทยเราอยู่ในชัยภูมิดีสุดของโลก สมบูรณ์ด้วยสินทรัพยากรมั่งคั่งไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็ดูเหมือนว่าเราจะ “ห่วยแตก” ที่สุดในการตระหนักรู้และบริหารจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเราด้วยการปล่อยให้ตกอยู่ในมือของ “ทุนสามานย์” คือธุรกิจผูกขาด ไม่ใส่ใจดูแลผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของแท้จริง

ตรงนี้แหละ รัฐต้องเข้ามาดูแล

รัฐต้องเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนทุนผูกขาด ผู้ได้อำนาจรัฐอันเป็นองค์แห่ง “รัฏฐาธิปัตย์” ต้องกำหนดแผนแม่บททั้งระยะสั้น ระยะยาว สำคัญยิ่งต้องมีกลไกในการทำงานให้สัมฤทธิผลอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่มีลักษณะ “เช้าชาม เย็นชาม” ดังที่เป็นมาและดูจะเป็นไปอยู่ตลอดกาลในบ้านเราเวลานี้

สามห่วงโซ่ปัญหา ไม่ใช่วาทกรรม หากเป็นพันธนาการที่ทำให้เราติดอยู่ในกับดักที่ยิ่งแก้ยิ่งพันตัวดิ้นไม่หลุด

เหมือนลิงทอดแห

จักต้อง จัดเต็ม

อำนาจอันสำแดง แห่งปวงประชา

คือรัฏฐาธิปัตย์ ภิวัตน์สมัย

ตามครรลองของประชาธิปไตย

อันได้มาและเป็นไป เพื่อปวงชน

ท่านผู้ได้อำนาจรัฐ ณ บัดนี้

ท่านต้องมีปณิธาน แต่ขั้นต้น

เป้าหมายสามสำคัญต้องบันดล

ก้าวหน้า สู่สากล ไม่อนธการ

หนึ่งตระหนักศักดิ์ศรีทุกชีวิต

คือพลังการผลิต มหาศาล

การศึกษา เท่านั้น จักบันดาล

ให้ทุกคนพ้นผ่าน ความไม่รู้

สอง ขจัดคดโกงให้โปร่งใส

บ่งหนามให้หมดเสี้ยนที่คาอยู่

สาม ลดความเหลื่อมล้ำช่วยค้ำชู

เพื่อก้าวสู่สังคม อุดมทัศน์

หนึ่ง ปฏิรูปการศึกษาให้ปรากฏ

สอง ความคดความโกงจงกำจัด

สาม ลดความเหลื่อมล้ำธรรมาภิวัตน์

สามสิ่งนี้ จงรัฐ ต้องจัดเต็ม!