เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระเจ้านั่งดิน” เชียงคำ vs ป่าซาง ความต่างในความเหมือน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระเจ้านั่งดินสองเวอร์ชั่น

คําว่า “พระเจ้านั่งดิน” คนทั่วไปน่าจะรู้จักเพียงแค่องค์ที่ประดิษฐาน ณ วัด “พระนั่งดิน” (เดิมวัดนี้เคยชื่อ “วัดพระเจ้านั่งดิน” มาก่อน การตัดคำว่า “เจ้า” ทิ้งไปเหลือแค่ “พระ” น่าจะเป็นการรับอิทธิพลมาจากภาคกลางที่มองคำว่า “พระเจ้า” หมายถึง God) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เท่านั้น

ในความเป็นจริง ชาวอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ยังรู้จัก “พระเจ้านั่งดิน” อีกองค์หนึ่ง ประดิษฐาน ณ วัดป่าซางงาม แถมยังผนวกเป็นแพ็กคู่กับ “พระเจ้ายืนดิน” อีกหนึ่งองค์ด้วยที่วัดอินทขีล วัดทั้งสองนี้ตั้งอยู่กลางเวียงป่าซาง เยื้องกันคนละฟากถนนสาย 106 ลำพูน-ป่าซาง-ลี้

เป็นที่น่าเสียดายว่า “พระเจ้านั่งดิน-พระเจ้ายืนดิน” ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคมล้านนา ผิดกับพระเจ้านั่งดินที่จังหวัดพะเยา

แล้วประวัติความเป็นมาของพระเจ้านั่งดินทั้งที่อำเภอเชียงคำ และอำเภอป่าซางนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

คำตอบคือ คนละเวอร์ชั่นกันเลย สิ่งที่เหมือนกันมีเพียงแค่ชื่อเท่านั้น


หลบสายตาพระเจ้าตนหลวง

“พระเจ้านั่งดิน” เมืองพะเยา เอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรของกรมการศาสนาเรียกว่า “พระมหาเจ้านั่งดิน” ซ้ำเอกสารเล่มเดิมยังระบุว่าพระมหาเจ้านั่งดินมีอายุเก่ากว่า 2,000 ปี คือร่วมสมัยกับยุคพุทธกาลเลยทีเดียว

ปัญหาเรื่องการลากอายุพระพุทธรูปให้เก่าเกินจริงทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก มักเกิดขึ้นกับวัดหลายๆ แห่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ด้วยไปยึดเอาเรื่องราวจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่ระบุว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับตามที่ต่างๆ พร้อมให้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นหลัก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตำนานพระเจ้าเลียบโลกเขียนเมื่อราว พ.ศ.1900 ปลายๆ ถึง พ.ศ.2000 ตอนต้นมานี่เอง อีกทั้งประวัติการสร้างพระพุทธปฏิมาครั้งแรกบนโลกก็เพิ่งจะมีขึ้นหลังจาก พ.ศ.500 โดยช่างชาวกรีกในอินเดีย

ฉะนั้น จึงไม่มีพระพุทธรูปในสยามประเทศองค์ใดที่มีอายุ 2,000 ปี หรือ 2,500 ปี เป็นอันขาด

ด้านพุทธศิลป์ของพระมหาเจ้านั่งดินแห่งเมืองพะเยานั้นเล่า ก็เป็นพระหินทรายสกุลช่างพะเยา มีจารึกระบุว่าสร้างในปี พ.ศ.2024 (จ.ศ.1213) อันเป็นศักราชที่สอดรับกับพุทธลักษณะที่แท้จริง

ความเป็นมากล่าวกันว่า สาเหตุที่ไม่สามารถยกพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวทั้งๆ ที่เป็นพระประธานในพระวิหารขึ้นประทับนั่งบนฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ได้ เนื่องมาจาก ณ ความสูงในระดับที่เมื่อยกพระพุทธรูปขึ้นบนแท่นแก้วแล้วนั้น จักเป็นจุดที่ตรงกันกับสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวง (จากวัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองพะเยา) มองลงมาตกกระทบพอดิบพอดี

ทำให้แม้ชาวบ้านจะมีความพยายามช่วยกันยกพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นประทับบนฐานชุกชีระดับสูงกี่ครั้งกี่คราก็ตาม ก็ไม่อาจกระทำได้สำเร็จ สุดท้ายต้องอัญเชิญพระประธานนั่งในระดับพื้นดินมีเพียงฐานบัวเตี้ยๆ รองรับเท่านั้น


เงื่อนงำแห่งการหลบสายพระเนตร

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษา เขียนงานวิจัยเรื่อง “พระพุทธรูปตามคติชาวล้านนา” ได้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดพระเจ้านั่งดินเมื่อ พ.ศ.2533 ได้ความว่า

“ชาวล้านนาเชื่อว่า สถานที่ใดก็ตามที่อยู่ตรงกับจุดที่สายพระเนตรพระพุทธรูปองค์สำคัญทอดตกลงมาแห่งนั้น ถือเป็นบริเวณที่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เจ้าของบ้านและทุกคนจะอยู่ไม่สุขสบาย ไม่เจริญรุ่งเรืองในชีวิต อาจเจ็บไข้ (ขึด) เพราะแม้แต่พระพุทธรูปก็ยังไม่อาจจะประทับอยู่ในบริเวณที่สายพระเนตรพระพุทธรูปตกทอดมาถึงนั้นได้เลย”

ดังนั้น พระพุทธรูปหินทรายองค์ดังกล่าว จำต้องหลบสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ค่อนข้างไกลมาก แถบกว๊านพะเยา คนละอำเภอเลยทีเดียว แต่เนื่องด้วยพระเจ้าตนหลวงมีขนาดใหญ่โตมาก ชาวพะเยาจึงเชื่อว่าจุดที่สายตาของพระเจ้าตนหลวงตกกระทบนั้น คือบริเวณฐานชุกชีในวิหารวัดพระเจ้านั่งดินที่อำเภอเชียงคำพอดี

เมื่อพระประธานไม่อาจทนนั่งในแนวสายพระเนตรของพระเจ้าตนหลวงได้ จึงหลบสายตาลงมาประทับบนพื้นในวิหาร ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า “พระเจ้านั่งดิน” หรือ “พระมหาเจ้านั่งดิน”

เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการตกกระทบของสายพระเนตรพระพุทธรูปนี้ เมื่อได้สัมภาษณ์ปราชญ์ด้านศิลปโบราณคดีเมืองลำพูนท่านหนึ่งคือ สิบเอกสุวิช ศรีวิราช ได้อธิบายว่า

“เรื่องสายตาพระเจ้าที่ทอดตกลงบนพื้นที่แห่งใดก็ตาม ชาวล้านนาเชื่อว่าบริเวณใต้พื้นนั้น มักเป็นจุดสำคัญ เช่นอาจมีการฝังลูกนิมิต หรือฝังสิ่งของมีค่าพวกแก้วแหวนเงินทองไว้ ดังที่ชาวล้านนาเรียกว่า “บัดถา” (หรือบัตรา) หมายถึง “ลายแทง” ที่ซ่อนขุมทรัพย์ไว้ ซึ่งพวกมิจฉาชีพเวลาลักขุดหาสมบัติ มักจะเล็งองศาคำนวณจากสายตาพระเจ้าว่าตกลงตรงจุดใด

อาจเป็นไปได้ว่า การย้ายพระเจ้านั่งดินเมืองพะเยาไม่ให้ประทับตรงกับบริเวณสายตาพระเจ้าตนหลวงตกกระทบนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงที่จะให้มิจฉาชีพกำหนดรู้จุดที่เป็นลายแทงซ่อนของมีค่าไว้ ง่ายเกินไป”

 

พระเจ้านั่งดิน พระเจ้ายืนดิน
ย้ายพระไม่ได้ เมื่อวิหารใหม่ยกพื้นสูง

ส่วนพระเจ้านั่งดินแห่งวัดป่าซางงาม กับวัดพระเจ้ายืนดินแห่งวัดอินทขีลที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนนั้น กลับไม่มีความเกี่ยวข้องกับการที่จะต้องหลบสายตาของพระพุทธรูปองค์สำคัญในละแวกเมืองลำพูนแต่อย่างใด

เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ทั้งวัดป่าซางงามและวัดอินทขีลต้องมีพระเจ้านั่งดิน-พระเจ้ายืนดิน เนื่องมาจาก พระพุทธรูปเหล่านั้นสร้างมาก่อนตั้งแต่ยุคล้านนาเมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมาแล้ว ต่อมาในยุคของพระญากาวิละ ช่วงที่หลบหนีพม่ามาซ่องสุมไพร่พลที่เวียงป่าซางเพื่อฟื้นนครเชียงใหม่ เป็นเวลา 14 ปี (พ.ศ.2319-2333) นั้น พระองค์ได้ทำการบูรณะวัดทั้งสองแห่งนี้ให้เป็นวัดหลวง

แต่ปรากฏว่า ทั้งพระเจ้านั่งดินที่วัดป่าซางงาม และพระเจ้ายืนดินที่วัดอินทขีลต่างก็ไม่ยอมให้ใครสามารถเคลื่อนย้ายด้วยการยกขึ้นไปประดิษฐานบนแท่นแก้วที่สร้างใหม่ในระดับสูงได้เลย กลุ่มพระพุทธรูปทั้งสองแห่งนี้ ยืนยันที่จะอยู่จุดเดิมตำแหน่งเดิมที่เคยประดิษฐานมาตั้งแต่ครั้งสมัยล้านนา

ทำให้พระญากาวิละต้องเจาะช่องอุโมงค์ไว้ให้พระเจ้านั่งดิน-พระเจ้ายืนดิน พอมีพื้นที่ประดิษฐานได้ จากนั้นจึงสร้างพระประธานองค์ใหม่ไว้บนแท่นแก้วสูง ซึ่งหากใครไม่สังเกตด้วยการก้มๆ เงยๆ เดินไปรอบๆ ฐานชุกชีแท่นใหม่ให้ชัดๆ ก็จะไม่พบพระเจ้านั่งดิน-พระเจ้ายืนดิน แต่อย่างใด เพราะค่อนข้างจงใจหลบในอุโมงค์เฉพาะ

การไม่สามารถโยกย้ายพระพุทธรูปเหล่านี้ได้สะดวก เหตุเพราะสมัยล้านนาสร้างด้วยวัสดุปูนปั้น แถมเชื่อมโบกติดกับฐานปูนและผนังปูน ยากเกินกว่าจะกะเทาะออกมาได้ หากเป็นวัสดุประเภทไม้ สำริด หิน ก็คงไม่น่าจะมีปัญหาในการเคลื่อนย้ายผิดกับวัสดุปูนเช่นนี้

 

ความต่างในความเหมือน ความเหมือนในความต่าง

กล่าวโดยสรุป ทั้งพะเยาและลำพูนมีพระพุทธรูปชื่อ “พระเจ้านั่งดิน” เหมือนกัน มีอายุเก่าแก่ราว 500 ปี สร้างตั้งแต่สมัยล้านนาเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า องค์หนึ่งสร้างด้วยหิน อีกองค์สร้างด้วยปูน

องค์หนึ่งสามารถประดิษฐานบนแท่นแก้วระดับสูงได้ หากไม่ประสงค์จะสถิต ณ จุดนั้น เนื่องจากตรงกับ “สายตาพระเจ้าตนหลวง” จำต้องหลีกเลี่ยงหลบตนลงมาที่พื้นต่ำ

ส่วนอีกองค์หนึ่ง ผู้สถาปนาพยายามที่จะอัญเชิญขึ้นสู่แท่นแก้วที่สร้างใหม่ระดับสูง ทว่ายกเท่าไหร่ก็ไม่สามารถโยกย้ายได้ เนื่องจากสร้างติดกับพื้นปูน ถ้าจะหักหาญย้ายก็อาจทำให้องค์พระได้รับความเสียหาย ผู้สถาปนาจึงเลือกที่จะปล่อยพระพุทธรูปไว้จุดเดิมในลักษณะนั่งดิน แล้วเจาะช่องอุโมงค์ให้คนได้เคารพกราบไหว้แม้จะสร้างพระประธานองค์ใหม่ในบุษบกตอนบนครอบทับก็ตาม

ไม่ว่าประวัติความเป็นมาของพระเจ้านั่งดินทั้งสองแห่งจะต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่คำว่า “พระเจ้านั่งดิน” เมื่อชาวล้านนาได้ยินแล้ว เป็นกุศโลบายทำให้การสำรวมกายวาจาใจ กล่าวคือสาธุชนเมื่อเข้ามาในวิหารย่อมต้องก้มตัวค้อมลงนั่ง มิเช่นนั้นหากยืนก็จะค้ำเศียรของพระพุทธรูปเป็นอันดูไม่เหมาะไม่ควร

ยิ่งไปกว่านี้คำว่า “พระเจ้านั่งดิน” ยังอาจชวนให้นึกถึงคำตรัสของพระพุทธองค์ต่อพระภิกษุประโยคที่ว่า

“บุคคลผู้ละกิเลส ย่อมไม่ปรารถนาอาสนะฟูกหมอน ย่อมพอใจที่จะใช้ชีวิตเพียงแค่นั่งฝึกจิตอย่างสงบใต้โคนไม้”