อะไรคือ “สงครามอุดมการณ์” ? | วิกฤติประชาธิปไตย

วิกฤติประชาธิปไตย (50)

อุดมการณ์และสงครามอุดมการณ์

คําว่า “อุดมการณ์” เป็นศัพท์บัญญัติขึ้น ตรงกับคำว่า ideology ในภาษาอังกฤษ เป็นการแปลความหมายในด้านดี

ความหมายเดิมในภาษาอังกฤษนั้น เป็นแบบกลางๆ แปลว่า “วิทยาศาสตร์แห่งความคิด” เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) ที่ได้เห็นถึงการยึดมั่นในชุดความคิดและค่านิยมหนึ่ง ได้เป็นพลังอย่างมหาศาลในการขับเคลื่อนการปฏิวัตินี้ได้ยาวนานและรุนแรง เกิดเป็นความสนใจใคร่รู้ว่าความคิดเช่นนี้ก่อรูปแข็งแรงได้อย่างไร

หลังจากนั้นก็มีนักคิดนักวิชาการจำนวนมากได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในมุมมองและประเด็นต่างๆ ความหมายของ ideology มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ในด้านบวกคล้ายกับคำ “อุดมการณ์” ในไทย ในด้านลบเป็นด้านการคลั่งไคล้ในลัทธิ เช่น พวกถือศาสนาหัวรุนแรง และลัทธิก่อการร้าย เป็นต้น ในภาษาไทยใช้คำนี้ในความหมายที่เป็นกลางขึ้นว่า “คตินิยม” แต่นิยมใช้คำว่า “อุดมการณ์”

ในที่นี้จะใช้ความหมายแบบกลางๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบ แล้วแต่ว่าจะยืนอยู่ฝ่ายใดในสงครามอุดมการณ์

อุดมการณ์เป็นเครื่องมือทางความนึกคิดเพื่อรักษาพื้นฐานของระบบสังคมไว้ ในสังคมชนชั้นที่มีการแบ่งผู้คนออกเป็นสองชนชั้นใหญ่

ได้แก่ ชนชั้นผู้ปกครองจำนวนน้อย พร้อมกับกลไกรัฐที่มากพอในการรักษาพื้นฐานระบบนั้น

และชนชั้นผู้ถูกปกครองซึ่งเป็นผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม อุดมการณ์ก็มีสองกลุ่มใหญ่ตามการแบ่งทางชนชั้นนั้น โดยทั่วไปอุดมการณ์ของชนชั้นผู้ปกครองเป็นอุดมการณ์หลัก ถือปฏิบัติทั่วทั้งสังคมนั้น มีลักษณะครอบงำอุดมการณ์อื่นทั้งหมด

ดังที่ปรากฏว่าสังคมทั้งหลาย นอกจากมีวัฒนธรรมหลักเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติแล้ว ก็ยังมีวัฒนธรรมย่อยอีกจำนวนมาก

เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น วัฒนธรรมย่อยเหล่านี้มักคล้อยตามหรือไม่ได้ท้าทายคุกคามต่อวัฒนธรรม หลักและได้รับอนุญาตให้ดำรงต่อไป

(Photo by JACQUES MARIE / AFP)

แต่หากวัฒนธรรมย่อยใดขึ้นมาท้าทายหรือคุกคามวัฒนธรรมหลัก ก็จะถูกขจัดไป เร็วช้าและแรงเบาตามระดับการท้าทายคุกคาม กล่าวอีกอย่างหนึ่ง อุดมการณ์โดยทั่วไปเป็นเครื่องมือทางระบบคิดนึก เพื่อสร้างและรักษาอำนาจ ความมั่งคั่งและการบริโภคของชนชั้นนำไว้

การให้ความสำคัญแก่การบริโภคนี้เพิ่มขึ้นเป็นอันมากในยุคทุนนิยม นั่นคือได้แพร่มาถึงชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง เข้าครอบงำทั่วทั้งสังคม โดยมีสินค้าและบริการระดับต่างๆ กัน เกิดเป็น “ลัทธิผู้บริโภค” หล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนระบบทุนนิยมมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบหลักของอุดมการณ์มีสามประการได้แก่

ก) ศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อ ค่านิยม และปทัสถานพิเศษที่อิงกับอำนาจเหนือมนุษย์หรือ อำนาจสูงสุดหรือ อำนาจรัฐมีส่วนสำคัญในกำหนดความเชื่อ ค่านิยม และปทัสถานสังคมทั้งหลายทั้งในด้านบวกและด้านลบ ในบางช่วง เช่น ในสมัยกลางของยุโรป ศาสนามีอิทธิพลสูงมาก แต่เมื่อถึงยุคสมัยใหม่อิทธิพลลดลง ผู้คนจำนวนมากในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วประกาศไม่นับถือพระเจ้าหรือไม่ถือศาสนาใด หรือถืออย่างไม่เคร่ง ไม่ได้ไปโบสถ์เป็นประจำ แต่ก็เกิดขบวนการฟื้นฟูความเชื่อทางศาสนาขึ้นและได้มีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญ เช่น ในสหรัฐ รัสเซีย และในหลายรัฐอิสลาม

มีนักทฤษฎีการเมืองสหรัฐบางคน เช่น แซมมวล ฮันติงตัน เห็นว่าหลังสงครามเย็น การต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่สำคัญจะเป็นในด้านศาสนา เรียกว่า “การปะทะกันทางอารยธรรม” ได้แก่ การปะทะกันระหว่างอารยธรรมคริสต์-อิสลาม และระหว่างอารยธรรมคริสต์-ขงจื๊อ

ข) ระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นเหมือนกติกาเพื่อความเป็นระเบียบทางสังคม สร้างข้อห้ามและข้อบังคับให้ปฏิบัติตาม กฎหมายทั้งหลายร่างขึ้นและแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยชนชั้นผู้ปกครอง และย่อมเอื้อประโยชน์แก่ผู้ปกครองเป็นสำคัญ แต่แม้เช่นนั้นในบางช่วงก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เกิดการปฏิบัติที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” ขึ้น ความเสื่อมในระบบกฎหมาย การรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สะท้อนความเสื่อมของอุดมการณ์ในที่นั้นๆ

ค) ระบบและระบอบการปกครอง มีลักษณะเป็นพลวัตสูง สะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ความสัมพันธ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ที่เป็นแก่นแกนก็คือสะท้อนการนำของประเทศ ในด้านแนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติจริงรายวัน เมื่อพูดถึงอุดมการณ์ก็มักหมายถึงอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ ความเสื่อมถอยของการนำส่งผลกระทบสูงต่อระบอบปกครอง กระทั่งตัวระบบเอง นั่นคือเมื่อเกิดปัญหาการนำ ผู้ปกครองก็มักแก้ไขด้วยการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร-ความมั่นคง และการบริหารรัฐกิจ จนกลายเป็นภาระหนักทางการเงินการคลังของประเทศ เกิดการทุจริตฉ้อฉล ความอุ้ยอ้าย ไม่คล่องตัว พาให้ทั้งระบบประสบวิกฤติตามไปด้วย

ในสมัยก่อนแทบเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มย่อยใดจะคิดอุดมการณ์อื่นมาแข่งขันกับผู้ปกครองได้ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางข่าวสาร ได้แก่ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบเคลื่อนที่ได้ในยุโรป (1440) สามารถผลิตหนังสือและเอกสารขึ้นเป็นจำนวนมากในราคาที่ถูกลง

เกิดนักวิชาการนักวิทยาศาสตร์นักคิดนักเขียนและนักเคลื่อนไหวจำนวนมากเช่นกัน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการปฏิรูปโปรเตสแตนต์ สมัยฟี้นฟูศิลปวิทยาการ (เรอเนซองส์) ยุคแสงสว่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป สร้างอุดมการณ์ทุนนิยมขึ้นมาแทนที่อุดมการณ์ฟิวดัลในที่สุด

(Photo by – / AFP)

สงครามอุดมการณ์ทุนนิยมกับลัทธิฟิวดัล

อุดมการณ์ทุนนิยมประกอบด้วยชุดความเชื่อ กฎระเบียบและการปฏิบัติจำนวนหนึ่งคือ

ก) ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หมายถึงว่าทรัพย์สินของชนชั้นนายทุนและนายทุนน้อยในเมือง ได้รับการค้ำประกันทางกฎหมาย ไม่ถูกริบไปตามอำเภอใจของเจ้าผู้ครองนคร และยังหมายถึงบรรดานายทุนสามารถนำทรัพย์สินของตนนี้ไปลงทุนทางการผลิต และการค้าได้อย่างเสรีในระบบตลาด

ข) แรงงานเสรี ไม่เป็นทาสติดที่ดินต้องสังกัดมูลนายหรือเป็นแรงงานเกณฑ์ ผู้คนมีเสรีที่จะขายแรงงานให้แก่ใครก็ได้ สามารถใช้ในการสร้างคำขวัญที่ปลุกใจชาวนา คนงานและช่างฝีมือได้เป็นอย่างดี เช่น “ชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาทรัพย์สินหรือความสุข” และ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ในการโค่นระบบฟิวดัล

ค) มีตัวแทนเป็นปากเสียง มีพรรคการเมืองของตนได้ประกันสิทธิเสรีภาพของชนชั้นนายทุนที่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด มีการเสนอคำขวัญว่า “ห้ามเก็บภาษี ถ้าไม่มีตัวแทน” เป็นต้น (ช่วงทศวรรษ 1750 ถึง 1760) นำมาสู่สงครามปฏิวัติอเมริกาเพื่อพ้นจากระบบกษัตริย์อังกฤษ

ง) การแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ล้มระบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ในบรรดาเจ้าผู้ครองนครหรือกษัตริย์ และป้องกันไม่ให้ฟื้นระบบฟิวดัลที่รวมศูนย์อำนาจขึ้นมาอีก ทั้งยังเป็นการประกันว่าระบบตลาดจะขึ้นมาเป็นใหญ่ ไม่ถูกรบกวนได้ง่ายๆ จากอำนาจรัฐ

น่าสังเกตว่าอุดมการณ์ทุนนิยมมีการอยู่ร่วมกับอุดมการณ์ฟิวดัลเป็นเวลานานนับร้อยปี ในช่วงต้นที่ทุนอยู่ในขั้นพาณิชยนิยม (ราวศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 18) อุดมการณ์ทุนนิยมได้เติบใหญ่เข้มแข็งภายในโครงครอบของลัทธิฟิวดัล จนเมื่อกลายเป็นทุนอุตสาหกรรมจึงได้เข้าปะทะรุนแรงจริงจัง

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ล้มล้างระบบฟิวดัลทั้งหมด เช่น รักษาระบบค่าเช่าและดอกเบี้ยของเดิมไว้

มีการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยขึ้นหลังการปฏิวัติแล้ว เช่นที่ฝรั่งเศส และสร้างระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นในหลายประเทศ เป็นต้น

สงครามอุดมการณ์ทุนนิยมกับสังคมนิยม

ขบวนการสังคมนิยมสมัยใหม่ ก่อตัวตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 มีนักคิดนักเคลื่อนไหวที่สำคัญ (ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป) เช่น แซงต์ ซีมอง (1760-1825) ผู้ประดิษฐ์คำว่า “สังคมนิยม” ชาร์ลส์ ฟูริเยร์ (1772-1837) ปิแอร์-โจเซฟ ปรูดอง (1809-1865) เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มสังคมนิยมแบบอุดมคติมีลักษณะเชิงปฏิรูป แก้ไขปัญหาความยากจนของคนงาน เป็นต้น ในระบบทุน และยังมีสังคมนิยมแบบคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) ซึ่งเป็นสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ ลักษณะเชิงปฏิวัติ ต้องการทำลายกลไกอำนาจรัฐแบบทุน ให้คนงานชนผู้ไร้สมบัติซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง

อุดมการณ์สังคมนิยมได้วิพากษ์อุดมการณ์ทุนนิยมในหลายประเด็น ยกเป็นตัวอย่างดังนี้

ก) อุดมการณ์ทุนนิยมไม่ได้ช่วยปลดปล่อยกรรมกรชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมจริงตามสัญญา ที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตยเป็นเพียงประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ส่วนชนชั้นคนงานต้องอยู่อย่างทุกข์ยากต่อไป

ข) การเน้นเสรีภาพของปัจเจกชนมากไป ทำให้ละเลยต่อผลประโยชน์ร่วมกันในสังคม ก่อให้เกิดช่องว่างและความขัดแย้งรุนแรงในสังคม

ค) เป็นการนำตลาดและทุนอยู่เหนือแรงงาน สร้างระบบริบทรัพย์ใหม่โดยใช้กลไกตลาด

ง) สร้างความไม่สมดุลรุนแรง ก่อความแตกร้าวในระบบนิเวศ ได้แก่ ความแตกร้าวของการผลิตทางสังคม มนุษย์ในระบบทุนนิยม ที่มีการผลิต การบริโภคปริมาณมากกับความสามารถของธรรมชาติในการฟื้นตัวเอง จนมนุษย์เป็นอริกับธรรมชาติ ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

สงครามอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมนี้ดำเนินไปอย่างดุเดือดรุนแรง มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นที่สังเกตว่าอุดมการณ์สังคมนิยมเชิงปฏิรูป เป็นที่ยอมรับของกลุ่มทุนได้มากกว่า และนำข้อเสนอบางอย่างโดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนและสวัสดิการคนงานมาปฏิบัติ เกิดระบบรัฐสวัสดิการ สวัสดิการแรงงาน ระบบประกันสังคม และสุขภาพ เป็นต้น

คล้ายกับว่าระบบทุนนิยมได้กลืนกินสังคมนิยมไป

ที่สุดแห่งอุดมการณ์และที่สุดแห่งประวัติศาสตร์

ในสงครามอุดมการณ์แบบเอาเป็นเอาตาย ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมนี้ ปรากฏว่าฝ่ายทุนนิยมได้ประกาศชัยชนะถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1960 มีนักคิดนักวิชาการจำนวนหนึ่ง (ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน) เช่น เซมัวร์ มาร์ติน ลิพเซ็ต (1922-2006) ผู้เขียนหนังสือชื่อ “มนุษย์นักการเมือง” (เผยแพร่ครั้งแรก 1959) แดเนียล เบลล์ (1919-2011) ผู้เขียนหนังสือรวมบทความและความเรียงชื่อ “ที่สุดแห่งอุดมการณ์” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1960) เป็นต้น

ทัศนะที่สุดแห่งอุดมการณ์ พอสรุปได้ดังนี้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกได้บรรลุเป้าหมายของการเป็นระบบทุน ไม่ต้องการอุดมการณ์ทุนนิยมชี้นำเพื่อการปฏิวัติต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง แนวคิดสังคมนิยมก็ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เพราะได้เกิดการยอมรับเรื่องรัฐสวัสดิการ ความต้องการกระจายอำนาจ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม พหุนิยมทางการเมือง ทั้งโลกจะพัฒนาเศรษฐกิจไปตามเส้นทางเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบใด

AFP PHOTO/CHRIS MADDALONI (Photo by CHRIS MADDALONI / AFP)

นอกจากนั้นมีการกล่าวถึงขั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมซึ่งใช้ได้กับทุกประเทศ ไม่ว่ามีอุดมการณ์อะไร และมีการชี้ว่าสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน มีการผสมผสานระหว่างนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การเป็นเชิงการเมืองลดลง แต่ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ได้เกิดขบวนการซ้ายใหม่เคลื่อนไหวอย่างครึกโครมในยุโรปและสหรัฐ ผสานกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพในจีน

ข้อเสนอเรื่องที่สุดแห่งอุดมการณ์จึงจางคลายลง ระบบทุนนิยมยังไม่สามารถหุ้มห่อระบบสังคมนิยมได้มิด อุดมการณ์ทุนนิยมประกาศชัยอีกครั้งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คราวนี้มาในชื่อว่า “ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์” (เสนอปี 1992) อ้างว่าอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอุดมการณ์ที่เข้มแข็งที่สุด เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

แต่ไม่นานก็ปรากฏความระส่ำระสาย เกิดวิกฤติประชาธิปไตยในสหรัฐและยุโรป สงครามอุดมการณ์กำลังปะทุขึ้นใหม่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21 และสงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐ