สถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำมันโลกปัจจุบัน-ความผันผวนของราคาน้ำมัน

นโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยทั่วไปกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และกำหนดแนวโน้มของสิ่งนั้นๆ แต่สถานการณ์ก็มีหลายอย่างได้แก่

(ก) สถานการณ์ที่สร้างขึ้น สถานการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเป็นไปเองทั้งหมด จำนวนไม่น้อยหรือที่สำคัญเป็นสถานการณ์ที่สร้างโดยผู้มีอำนาจและมั่งคั่ง จนเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิด ผู้มีอำนาจและความมั่งคั่งน้อยกว่ามักตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ นโยบายที่ดีก็อาจช่วยไม่ได้ ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างสถานการณ์ก็สามารถส่งผลตีกลับเป็นอันตรายต่อผู้สร้างเองได้ (Blowback)

(ข) สถานการณ์ที่คิดเอาเอง บางทีเรียกด้านดีว่า “วิสัยทัศน์” มีทั้งการมองโลกด้านดีและด้านร้าย ทั้งนี้เนื่องจากเอาใจใส่ต่อข้อเท็จจริงพื้นฐานเชิงประจักษ์ไม่พอ ผสมกับความต้องการรักษาผลประโยชน์และสถานะเดิม ก็ทึกทักไปว่าสถานการณ์และแนวโน้มควรเป็นเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ทั้งสองแบบข้างต้น ไม่ได้เป็นพื้นฐานที่ดีนักสำหรับการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์

(ค) สถานการณ์จากข้อเท็จจริงหรือความเป็นจริงเชิงประจักษ์ สถานการณ์แบบนี้ดูเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการสร้างนโยบาย แต่ในแบบนี้ก็ก่อปัญหาได้มากเช่นกัน นั่นคือในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทั้งโลกเกี่ยวข้องกันในทุกมิติ มีข้อเท็จจริงมากเกินไปที่จะประมวลให้ทันใช้

ดังนั้น จึงต้องเลือกเก็บเฉพาะที่เห็นว่าสำคัญ จำเป็น ที่เหลืออาศัยสร้างสถานการณ์และการคิดเอาเอง นโยบายในยุคโลกาภิวัตน์จึงคล้ายกับสิ่งอื่น คือมีอายุสั้น และต้องอัพเดตอยู่เสมอ

สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกในปัจจุบัน (คิดตั้งแต่ปี 2008) มีจุดเด่นได้แก่ราคาผันผวนสูง

โดยในปีนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูง 144.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม และทรุดฮวบเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 แสดงตัว (บริษัทการเงินใหญ่ของสหรัฐเลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลายในเดือนกันยายน 2008) เหลือเพียง 33.87 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม

จนกลุ่มโอเปคประกาศทยอยลดการผลิต หลังจากนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เหวี่ยงไปมารุนแรง จนกระทั่งไหวตัวไปมาอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และก็ไม่มีใครทำนายได้ชัดหรือให้เป็นที่เชื่อถือทั่วไปว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มระยะสั้นอย่างไร

เหตุปัจจัยความผันผวนไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน เกิดจากหลายเหตุปัจจัยใหญ่ที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่

(1) การผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุด

(2) กลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจในระบบทุนอ่อนแอไม่ทำงาน

(3) ภาระหนี้

ทั้งนี้ จะขยายความเหตุปัจจัยแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้

1.การผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุด ทฤษฎีการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงพื้นฐานบางประการคือ

(ก) น้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นเป็นแหล่งพลังงานสิ้นเปลือง และมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น เมื่อนำมาใช้นานขึ้นก็ต้องหมดไปในวันหนึ่ง

(ข) ข้อเท็จจริงที่นักขุดเจาะน้ำมันทั้งหลายพบมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ว่าหลุมน้ำมันหนึ่งเมื่อนำน้ำมันขึ้นมาราวครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรอง การผลิตก็ถึงจุดสูงสุด จากนั้นก็ค่อยลดต่ำลงต้องเปิดหลุมใหม่เพื่อรักษาหรือเพิ่มระดับการผลิต

(ค) การผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นโดยตลอดนับแต่เริ่มมีการขุดเจาะน้ำมันมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นการเพิ่มแบบชี้กำลังหรือแบบทวีคูณ ดังนั้น จึงเร่งเวลาให้การผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดเร็วขึ้น ทฤษฎีการผลิตน้ำมันสูงสุดพยายามทำสิ่งที่ยากกว่านั้น ได้แก่ การพยายามประมวลปริมาณน้ำมันในแหล่งสำรองสหรัฐ ปริมาณการนำน้ำมันขึ้นมาใช้ และแหล่งสำรองน้ำมันที่ค้นพบใหม่ จากนั้นมาคำนวณว่า การผลิตน้ำมันในสหรัฐจะถึงจุดสูงสุดในปีใด ปรากฏว่าสามารถทำนายได้ถูก

จึงเกิดความพยายามที่สูงขึ้นไปอีก นั่นคือ พยากรณ์ทั้งโลก ปรากฏว่าคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามการคาดการณ์

เช่น ในสหรัฐที่เคยทำนายถูกว่าการผลิตจะถึงจุดสูงสุดในปี 1970 แต่กลับสามารถฟื้นกำลังการผลิตให้สูงขึ้นอีก เนื่องจากการนำแหล่งน้ำมันในอลาสก้ามาใช้ และยังพุ่งสูงขึ้นอีกในปี 2014 เมื่อใช้เทคนิคแฟรกกิง นำก๊าซและน้ำมันจากหินดินดานในดาโกต้าและเท็กซัสขึ้นมาใช้ แต่การผลิตปี 1970 ก็ยังคงเป็นระดับสูงอยู่ดี

ทฤษฎีการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดขึ้น สร้างขึ้นเพื่อใช้ในวงการน้ำมันและรัฐบาลเป็นสำคัญ เป็นการเตือนให้ระวังถึงภาวะนี้ เพื่อการลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งการเร่งหาพลังงานทดแทน ซึ่งในระยะแรก ได้แก่ พลังงานนิวเคลียร์ ไปจนถึงมาตรการต่างๆ ในการประหยัดพลังงาน

เนื่องจากน้ำมันมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูง เกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นโลกร้อน ความคิดเรื่องการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดจึงได้มีการต่อยอดทั้งด้านเห็นด้วยและคัดค้านจากหลายวงการด้วยกัน รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องมากขึ้นทุกทีจนถึงขนาดให้เก็บแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เหลือไว้ใต้ดิน และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งปฏิบัติได้ยาก

ในการพัฒนาทฤษฎีการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุด ได้เกิดแนวคิดสำคัญขึ้นอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความคิดเรื่อง “พลังงานที่ได้รับต่อการลงทุน” (Energy Return of Investment – EROI อีโร่ย)

ความคิดนี้เริ่มต้นใช้ในวงการนิเวศวิทยา จากหลักการง่ายๆ ว่า “การผลิตพลังงานใดๆ ย่อมต้องใช้พลังงาน”

เช่น กว่าจะได้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ก็ต้องใช้พลังงานหรือน้ำมันจำนวนมาก ตั้งแต่การสำรวจ การขุดเจาะ การกลั่น และการขนส่งในทุกขั้นตอน จนกระทั่งถึงปั๊มน้ำมัน พลังงานที่นำมาใช้ได้หักด้วยพลังงานที่ใช้ไปเรียกว่า “พลังงานสุทธิ” หรือ “พลังงานส่วนเกิน” ระบบนิเวศและระบบสังคมซึ่งเป็นระบบนิเวศพิเศษขับเคลื่อนด้วยพลังงานสุทธินี้เอง

ต่อมามีการนำแนวคิด “พลังงานสุทธิ” มาใช้ในด้านพลังงาน โดยคิดเป็นสัดส่วนในสมการง่ายๆ คือ

อีโร่ย เท่ากับพลังงานที่นำมาใช้ได้ในสังคม หารด้วยพลังงานที่จำต้องใช้เพื่อผลิตพลังงานนั้น

ตัวเลขที่ได้จะเป็นเช่น 30:1 หมายถึง กระบวนการผลิตพลังงานนี้ได้พลังงาน 30 จูลส์ต่อการลงทุน 1 จูลส์ (หรือ 30 บาร์เรลต่อ 1 บาร์เรล นิยมเรียกให้สั้นว่าอีโร่ยเท่ากับ 30)

แนวคิดนี้ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวัดคุณภาพของแหล่งพลังงานและชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้หลากหลายขึ้น และยังใช้แสดงอัตราการหมดไปของพลังงาน อธิบายทฤษฎีการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดได้ละเอียดขึ้น

นักวิชาการที่มีบทบาทในการพัฒนาเรื่องนี้ เช่น ชาร์ลส์ เอ. เอส. ฮอลล์ (เกิด 1943) นักนิเวศวิทยาเชิงระบบชาวสหรัฐ

แม้แนวคิดนี้จะเรียบง่ายและทรงพลัง แต่ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติไม่น้อย ข้อแรกคือมีความขัดแย้งในการคำนวณหาพลังงานสุทธิ

เช่น ในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพมีเอทานอล เป็นต้น บางคนคำนวณว่าขาดทุน บางกลุ่มคำนวณว่ายังมีกำไร สามารถผลิตต่อไปได้

ข้อต่อมาก็คือจะใช้ฐานเชื้อเพลิงที่ต้องลงทุนกว้างขนาดไหน เช่น ถ้าใช้ฐานแคบ คิดเฉพาะพลังงานที่ลงทุนเฉพาะหน้า ค่าพลังงานสุทธิก็ไม่ต้องสูงมาก เช่น ราว 3:1 ก็พอผลิตได้แล้ว แต่หากคิดถึงการอยู่รอดของอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมด ก็ต้องใช้ฐานค่าใช้จ่ายลงทุนมากกว่านั้น นั่นคือรวมกำไรการปันผลให้แก่ผู้ลงทุน การเสียดอกเบี้ย การมีเงินสำรองไว้เพื่อลงทุนการผลิตใหม่ ทดแทนหลุมเก่าที่ผลิตได้ลดลง ไปจนถึงการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐบาล ค่าอีโร่ยก็จำต้องสูงขึ้น เช่น เป็น 7:1 จึงพออยู่ได้

ถ้าขยายฐานกว้างไปจนรวมทั้งสังคม เช่นในประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน มักใช้รายได้จากการขายน้ำมัน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการของรัฐ สร้างกองทัพและหน่วยรักษาความมั่นคงของประเทศ ก็ยิ่งต้องการค่าพลังงานสุทธิสูงขึ้นอีก จึงพออยู่ได้

ตัวอย่างเช่น ประเทศเวเนซุเอลา อาจต้องการมูลค่าน้ำมันที่ส่งออกสูงถึง 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจึงพออยู่ได้ เมื่อราคาน้ำมันอยู่ที่ระหว่าง 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจทรุดหนัก เกิดภาวะเงินเฟ้อและสินค้าจำเป็นขาดแคลนอย่างน่าเป็นห่วง

ในซาอุดีอาระเบีย ที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันต่ำที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง เมื่อประสบปัญหาราคาน้ำมันทรุดตัวก็กระทบต่อการคลังของประเทศอย่างยิ่ง ต้องใช้มาตรการการรัดเข็มขัด และวิจารณ์กันว่าสามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย

ตัวอย่างการใช้ค่าพลังงานสุทธิช่วยให้เราสามารถเข้าใจคุณภาพของแหล่งพลังงาน เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2016 มีรายงานจากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐคาดว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันที่คาดว่าจะค้นพบในทุ่งน้ำมันวูลฟ์แคมป์ แอ่งเพอร์เมียน รัฐเท็กซัส สูงถึง 20 พันล้านบาร์เรล

บลูมเบิร์กสำนักบริการข่าวการเงินของสหรัฐโปรยหัวข่าวว่า ค้นพบสำรองน้ำมันใต้ทะเลทรายของเท็กซัสตะวันตก มีมูลค่า 900 พันล้านดอลลาร์ (คำนวณจากปริมาณสำรองน้ำมัน 20 พันล้านบาร์เรล คูณด้วยราคาปัจจุบันราว 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

แต่ทุ่งน้ำมันวูลฟ์แคมป์ เป็นแหล่งน้ำมันแบบหินดินดาน คุณภาพไม่ดี เมื่อคิดถึงสัดส่วนพลังงานที่ได้ต่อการลงทุนบางแห่งกล่าวว่า อีโร่ยของแหล่งน้ำมันหินดินดานในสหรัฐมีค่าสูงเพียง 5:1 (ดูคำ Energy Returned on Energy Invested ในวิกิพีเดีย)

มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคำนวณว่า การจะนำน้ำมันขึ้นมาใช้ทั้ง 20 พันล้านบาร์เรล ต้องสร้างหลุมเจาะถึง 196,253 หลุม

และค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะจนนำน้ำมันขึ้นได้สำเร็จในบริเวณดังกล่าวประมาณหลุมละ 7 ล้านดอลลาร์

ถ้าเป็นดังนี้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อนำน้ำมันราคา 900 พันล้านดอลลาร์ขึ้นมา ขาดทุนในราคาปัจจุบันถึง 500 พันล้านดอลลาร์ เขายังได้คำนวณว่าจุดคุ้มทุนเชิงพาณิชย์ในการผลิตน้ำมันในแอ่งเพอร์เมียนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

(ดูบทความของ Art Berman ชื่อ Permian Giant Oil Field Would Lose $500 Billion At Today Prices ใน artberman.com 20.11.2016)

แนวคิดเรื่องสัดส่วนพลังงานที่ได้ต่อที่ใช้ ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพลังงาน การหมดไปของแหล่งพลังงานฟอสซิลกับเศรษฐกิจ ได้ชัดขึ้น ศ.ชาร์ลส์ ฮอลล์ ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานซึ่งที่มีบทบาทมาก ได้แก่น้ำมันกับสังคม ว่า

(1) พลังงานมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด คุณภาพและการเข้าถึงแหล่งพลังงานและวัสดุอันหลากหลาย มีส่วนกำหนดแนวโน้มทั่วไปของการตั้งถิ่นฐาน การเติบโตและการล่มสลายในที่สุดของอารยธรรมทั้งหลาย

(2) สังคมจำต้องมีพลังงานส่วนเกินเพื่อที่จะทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำ การมีผู้เชี่ยวชาญ และการเติบโตของเมือง และเมื่อมีพลังงานส่วนเกินมากขึ้น ก็จะเกิดมีความมั่งคั่ง ศิลปวัฒนธรรม สิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมอื่นตามมาอีก

(3) การขึ้นลงทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเกิดจากตัวแปรทางสังคมเพื่อเข้าถึงแหล่งพลังงานปริมาณมากและราคาถูกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

(4) ในปัจจุบันเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดของโลก สนองการบริโภคพลังงานกว่าร้อยละ 74 ความไพบูลย์และความมั่นคงของสังคมสมัยใหม่ ขึ้นอยู่กับการผลิตและการบริโภคพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน

(5) โดยทั่วไป การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง สัมพันธ์อย่างสูงต่ออัตราการบริโภคน้ำมันนับแต่ปี 1970 ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลก สี่ใน ห้าครั้งสัมพันธ์กับการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันมักลดลง ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภค ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว ราคาน้ำมันมักเพิ่มขึ้นและมีการบริโภคน้ำมันมากขึ้น จนกระทั่งราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ทำให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัว

(6) สัดส่วนค่าใช้จ่ายหรือการลงทุนสำหรับพลังงานที่คิดเป็นตัวเงินต่อจีดีพี สามารถบอกสุขภาพของเศรษฐกิจได้เมื่อสัดส่วนต่ำ คือต่ำกว่าร้อยละ 5 เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแรง เมื่อสัดส่วนสูง เช่น ราวร้อยละ 10 เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

งานศึกษาของ ดร.ฮอลล์ พบว่าค่าพลังงานสุทธิสำหรับน้ำมันและก๊าซในระยะ 10 ถึง 20 ปีมานี้ได้ลดลง นั่นคือต้นทุนในการผลิตพลังงานของโลกสูงขึ้น โดยอีโร่ยของการผลิตน้ำมันและก๊าซในบริษัทจดทะเบียนสาธารณะลดลงจาก 30:1 ในปี 1995 เหลือราว 18:1 ในปี 2006

โดยทั่วไปค่าพลังงานสุทธิของน้ำมันทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ประมาณ 20:1

ค่าพลังงานสุทธิของถ่านหินทั่วโลกอยู่ที่ราว 46:1

ค่าพลังงานสุทธิในการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐลดลงจากมากกว่า 1000:1 ในปี 1919 เหลือเพียง 5:1

ในทศวรรษ 2010 การใช้เทคนิคการผลิตใหม่แบบแฟรกกิง ช่วยให้สหรัฐสามารถรักษาระดับการผลิตน้ำมันและก๊าซทั้งแบบธรรมาดาและไม่ธรรมดาให้เท่ากับอัตราการผลิตในปี 1973 ที่ผลิตจากแหล่งน้ำมันแบบธรรมดาไว้ได้

แหล่งน้ำมันแบบปรกติที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือต้าชิ่ง ค่าพลังงานสุทธิลดลงจาก 10:1 ในปี 2001 เหลือเพียง 6:1 ในปี 2009

จากการที่ต้นทุนพลังงานน้ำมันและก๊าซที่สนองพลังงานราวร้อยละ 60-65 ของโลกสูงขึ้น ได้ส่งผลอย่างสูงต่อเศรษฐกิจโลกดังที่เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ในที่สุดย่อมทำให้เราไม่สามารถนำพลังงานสำรองที่เหลืออยู่ทั้งหมดมาใช้ได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับสังคมมนุษย์ พลังงานทดแทนได้แก่ พลังแสงอาทิตย์และพลังลม มักมีความเข้มข้นทางพลังงานน้อยไป มีต้นทุนในการผลิตสูง และต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีกมาก การแก้ปัญหานี้ ผู้คนในวงการต่างๆ อาจต้องปรับความต้องการทางสังคมในการพอกพูนความมั่งคั่งทางวัตถุ ไปสู่ความพร้อมในการแบ่งปันกัน รวมทั้งการแบ่งปันในความรู้ (ดูบทความของ Charles A. S. Hall และคณะ ชื่อ Eroi of different fuels and the implications for society ใน Energy Policy มกราคม 2014)

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงข้อ 2 และ 3 คือความผันผวนของราคาน้ำมันเนื่องจากประชากรและภาระหนี้