อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (8) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

“…ในดินแดนแห่งใหม่นี้ ท่ามกลางผู้คนที่เพิ่งรับศรัทธาจากพระเจ้า ช่างเต็มไปด้วยอันตรายยิ่งนัก…”

คำกล่าวของเหล่านักเทววิทยาและบาทหลวงในโลกใหม่ ปี 1560

ในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 1560 เหล่าบาทหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักเผยแผ่ศาสนาในเม็กซิโกพากันรวมตัวที่บริเวณด้านหน้าของอารามซานโต โดมิงโก้ ในแอนเตเควร่า-Antequera

พวกเขาเหล่านั้นอันมีบาทหลวงนิกายโดมิงนิกัน นาม เฟร์ย เปโดร เดอ ลา เพน่า, บิชอป เบอร์นาโด้ เดอ อัลบูเกียวเก้, บาทหลวงโดมิงนิกัน อลอนโซ่ เดอ โซโตมายอร์ มีประเด็นสำคัญในการรวมตัวครั้งนี้คือการพิจารณาโทษว่าด้วยการดูหมิ่นพระเจ้าของชายผู้มีนามว่า เบอร์นาโด้ เดอ บิอามอนเต้ ช่างก่อสร้างที่พำนักอยู่ในแอนเตเควร่า

หลักฐานพยานทั้งหลายถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงว่ามีน้ำหนักมากพอสำหรับการกล่าวหาและการลงโทษเขาหรือไม่

จากปากคำของพยาน เบอร์นาโด้ เดอ บิอามอนเต้ ได้กล่าวถ้อยคำว่า “บุรุษที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวที่ยังไม่ได้ผ่านการสมรส ไม่สมควรต้องถูกลงทัณฑ์ในนรก นั่นเป็นเพราะว่าบาปเช่นนั้นเป็นบาปประเภทที่ให้อภัยได้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านการประพรมด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ บาปที่ว่าจะถูกยกเลิกไป”

นอกจากนี้ เบอร์นาโด้ ยังกล่าวด้วยซ้ำว่าแม้นักบุญเปโตรก็ทำผิดบาปเช่นนี้อยู่เนืองๆ เช่นกัน และทำให้ท่านนักบุญปฏิเสธไม่ให้คนที่เคยทำผิดบาปเช่นนี้ได้ล่วงเข้าสู่ประตูสวรรค์ด้วยซ้ำไป

เหล่าบาทหลวงและนักเทววิทยาผู้เผยแผ่ศาสนา (มีคำเรียกขานเฉพาะว่า คาลิฟิคาดอเรส-Calificadores) ได้สรุปว่าโทษของเบอร์นาโด้นั่นเกิดขึ้นจริงและเป็นอันตรายอย่างยิ่งด้วยเหตุสองประการ

ประการแรก มันเป็นดังคำกล่าวร้าย ใส่ร้าย บิดเบือนต่อคำสอนของพระเจ้า ต่อศาสนจักรและต่อนักบุญ

ประการที่สอง มันเป็นดังคำกล่าวพล่อยๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างอาณานิคมใหม่ที่ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย

จากเหตุผลนี้จะเห็นได้ว่าการลงโทษผู้หมิ่นศาสนานั้นมีเหตุผลทั้งทางศาสนาและทางการเมืองประกอบด้วย

 

การลงโทษชนผิวขาวอย่างรุนแรงด้วยข้อหาทางศาสนาต่อหน้าชนพื้นเมืองที่เพิ่งเข้าสู่พลเมืองของศาสนจักรย่อมส่งผลทางจิตใจและโน้มน้าวให้เห็นถึงความเข้มงวดในหลักธรรม

สเปนนั้นได้กลายเป็นประเทศที่ปกป้องศาสนจักรอย่างต่อเนื่อง หลังการขับไล่พวกมัวร์ออกจากดินแดน

ติดตามมาด้วยการนำชนพื้นเมืองเข้าสู่ศาสนา

อีกทั้งการที่พระเจ้าชาร์ลที่ห้าผู้เป็นกษัตริย์ของสเปนได้กลายเป็นกษัตริย์ที่ครอบครองดินแดนในยุโรปอย่างกว้างขวางอันเป็นผลจากมรดกที่ได้รับจากทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดาและทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรองจากมหาราชชาร์ลมาญเมื่อเจ็ดร้อยปีก่อน

เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ทำให้สเปนตั้งตนเองเป็นดังผู้ปกป้องศาสนาและไม่อาจปล่อยให้การบิดเบือน ใส่ร้ายต่างๆ เกิดขึ้นได้ในดินแดนของตน

ยุทธนาวีทางเรือที่อาร์มาด้า-Armada ในปี 1588 อันทำให้กองทัพเรือของสเปนต้องพ่ายแพ้ต่อกองเรือของประเทศอังกฤษ ทำให้สเปนเกิดความกังวลว่านั่นคือสัญญาณการลงโทษจากพระเจ้าที่พวกเขากระทำความผิดบาปนานาในโลกใหม่

บทลงโทษด้านศาสนาในดินแดนอาณานิคมรุนแรงขึ้น ขยายกว้างขวางขึ้นในทุกพื้นที่

ศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นศตวรรษแห่งการลงโทษผู้กระทำผิดต่อศาสนา เมื่อเม็กซิโกเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 1629 ที่ทำให้เมืองทั้งเมืองเป็นอัมพาต ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับสเปนในปี 1635 เนเธอร์แลนด์มีชัยเหนือสเปนในสงครามที่ดาวน์ส-Downs ในปี 1639 ไม่นับการเกิดจลาจลที่คาตาโลเนียในช่วงปี 1640-1652

ทั้งหมดนี้ถูกมองว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้าต่อการปล่อยปละละเลยให้มีการดูหมิ่นศาสนาในดินแดนโลกใหม่

กฎหมายที่มุ่งลงโทษพวกหมิ่นศาสนาถูกเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามลำดับนับแต่ฉบับปี 1633, 1646 และ 1667

ในที่สุด การใช้เครื่องมือที่ว่านี้จำเป็นต้องมีบุคลากรที่เพียงพอสำหรับการไต่สวนทางศาสนา

ในช่วงแรกนั้นเป็นบิชอปผู้ใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการในแต่ละดินแดน

แต่ในภายหลังการขาดแคลนพระผู้ใหญ่ทำให้บาทหลวงที่เผยแผ่ศาสนาโดยทั่วไปได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ด้วย

คดีความว่าด้วยการหมิ่นศาสนาเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว เฉพาะในเม็กซิโกที่เดียวในช่วงเวลาสองร้อยปีจาก 1522 ถึง 1700 มีคดีความเกี่ยวกับศาสนาถึงกว่าเจ็ดร้อยคดี 489 คดีนั้นเป็นในเรื่องของการหมิ่นศาสนา

ส่วนอีก 246 เป็นคดีความเกี่ยวกับการปฏิเสธพระเจ้า

ซึ่งถ้ารวมทั่วทั้งเขตโลกใหม่ คดีความนั้นมีจำนวนนับหลักพันเลยทีเดียว

 

คดีที่สำคัญว่าด้วยการใส่ร้ายพระเจ้า ดูหมิ่นศาสนา ในดินแดนโลกใหม่นั้นมีอยู่หลายคดีด้วยกัน (ดังคดีของ หลุยส์ เดอ คาร์วายัล ที่เราจะพิจารณาต่อไป)

คดีหนึ่งที่สำคัญมากคือคดีของ ดอน คาร์ลอส โอเมโตชิน-Don Carlos Ometochzin นั่นเป็นเพราะเขาเป็นชนพื้นเมืองชั้นนำที่แม้จะสมาทานความเชื่อเรื่องของพระเจ้าแล้ว เขายังแอบบูชาในพระเจ้าจากศาสนาดั้งเดิมของเขาด้วย

คดีนี้เป็นดังการสำทับให้บรรดาชนพื้นเมืองเหล่านั้นต้องละทิ้งความดั้งเดิมโดยเด็ดขาด หรือไม่ก็ต้องยอมถูกเผาทั้งเป็น

คาร์ลอส โอเมโตชิน เป็นชาวอินเดียนแดงเผ่าอะโคลอัว เขาสืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าเผ่านั้น หลังจากที่ เฮอร์นัน คอร์เตซ พิชิตอาณาจักรเเอซเตคและดินแดนเม็กซิโก เขาถูกผนวกรวมเป็นพลเมืองในดินแดนใหม่นั้นโดยปริยาย

คาร์ลอส โอเมโตชิน ได้รับศีลเข้ารีตในปี 1524 และกลายเป็นศาสนิกชนคริสเตียนโดยสมบูรณ์นับแต่นั้น

หลังจากนั้นเขาเข้าศึกษาศาสนากับพระนิกายฟรานซิสกันที่วิทยาลัยซางตาครูซในตาเต้โลโก้ เมื่อพี่ชายของเขาเสียชีวิตลงในปี 1531 คาร์ลอส โอเมโตชิน ได้รับตำแหน่งประมุขของชนพื้นเมืองในแถบนั้น

เส้นทางการนับถือศาสนาของเขาหมดจด เป็นระเบียบ ตามขั้นตอนและไม่มีอะไรชวนให้เคลือบแคลงว่าเขาจะไม่เป็นศาสนิกชนที่ดี

 

ทว่า ในปี 1539 มีการบุกเข้าไปในที่พักของ คาร์ลอส โอเมโตชิน ที่นั่นนอกจากไม้กางเขนและรูปเคารพของพระเจ้าแล้วยังได้พบเทวรูปของเทพเจ้าดั้งเดิมของชนเผ่าอะโคลอัวอีกด้วย

โดยเฉพาะเทพเจ้า ซิเป โตเตค-Xipe Totec อันเป็นเทพเจ้าที่ควบคุมการเกิด การตาย ดินฟ้าอากาศ และการเพาะปลูกของชนเผ่านั้น

ข้อหาการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกศาสนาเป็นความผิดบาปอย่างรุนแรง มีการไต่สวนทางศาสนาและลงท้ายด้วยการลงโทษให้เผา ดอน คาร์ลอส โอเมโตชิน ทั้งเป็น

การลงโทษที่ว่านี้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านแม้จากชาวสเปนเองที่มีความเห็นว่าผู้ที่เพิ่งเข้าสู่ศาสนาโดยเฉพาะชนพื้นเมืองที่ยังไม่คุ้นเคยกับความเชื่อดีนักไม่ควรถูกลงโทษ

กระนั้น เสียงต้านทานถูกทำให้เงียบลงด้วยข้ออ้างที่ว่าการละเลยต่อการลงโทษที่ว่าจะทำให้การเผยแผ่ศาสนายากเย็นขึ้นอีกหากผู้เข้าสู่ศาสนายังไม่แสดงศรัทธาที่คงมั่นต่อคำสอนใหม่ให้เข้มแข็งขึ้นด้วยตัวของเขาเอง

เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 1539 คาร์ลอส โอเมโตชิน ถูกนำตัวออกจากคุกศาสนาในเม็กซิโกภายใต้เสื้อคลุมและหมวกทรงกรวยที่แสดงให้เห็นถึงสภาพของนักโทษ

เขาถูกแห่ไปรอบเมืองก่อนจะถูกนำตัวไปยังลานประหาร มีฝูงชนเฝ้ารอการถูกเผาทั้งเป็นของเขาอย่างเนืองแน่น

บิชอป ฮวน เดอ ซูมาร์ราก้า-Juan de Zum?rraga พระผู้ใหญ่ของดินแดนเกิดใหม่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในคดีนี้ พยานกล่าวว่า แม้คาร์ลอสจะได้รับการศึกษาในศาสนาใหม่ หากแต่เขามักพูดกับพี่น้องร่วมเผ่าเสมอว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอบอกกับท่านอย่างจริงใจว่าสิ่งที่สอนในอารามเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งสิ้น”

หลักฐานข้อนี้ถูกสำทับด้วยคำกล่าวของเขาเองในขณะไต่สวนว่า “จงฟังให้ดี พี่น้องทั้งหลาย บรรพบุรุษของเรากล่าวก่อนจะจากโลกนี้ไปว่าพระเจ้าที่เราศรัทธานั้นสถิตอยู่ในผืนฟ้าและผืนพิภพ ดังนั้น เราจึงควรศรัทธาในพระเจ้าที่บรรพบุรุษของเราฝากฝังไว้ ไม่ใช่พระเจ้าใดอื่นนอกจากนี้”

ความเคลือบแคลงต่อพระเจ้าของคาร์ลอสนั้นแสดงให้เห็นผ่านทางการตั้งคำถามของเขาต่อระบบการเผยแผ่ศาสนาในโลกใหม่ขณะนั้น ที่มีการแข่งขันกันระหว่างนิกายโดมิงนิกันกับนิกายฟรานซิสกัน แม้ว่าโดยหลักการพื้นฐานจะเป็นสิ่งเดียวกันหากแต่วิธีการที่แตกต่างระหว่างสองนิกายนั้นทำให้ คาร์ลอส โอเมโตชิน ผู้มีการศึกษาในศาสนาเกิดคำถาม เขาตั้งคำถามสำคัญว่า

“หากมีวิธีการเข้าถึงพระเจ้าได้หลากหลายวิธี ไฉนเล่าจึงไม่อาจผนวกรวมวิธีการเข้าถึงพระเจ้าตามแบบฉบับของชนพื้นเมืองเช่นพวกเขาด้วย”

คำถามที่ท้าทายเช่นนี้ทำให้การจัดระเบียบทางศาสนาของโลกใหม่มีปัญหา

และนั่นน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาถูกเผาทั้งเป็น

 

ผลสืบเนื่องจากความตายของ คาร์ลอส โอเมโตชิน มีอยู่สองประการใหญ่ด้วยกัน

ประการแรก คือการที่บรรดาชนพื้นเมืองพากันทำลายรูปเคารพและคำสอนเก่าแก่ของตนเองทิ้งเสียด้วยการกลัวภัยจากการกล่าวหาว่านอกรีต และทำให้เอกสารสำคัญจำนวนมากสูญหายไป

ยิ่งไปกว่านั้นความตายของ คาร์ลอส โอเมโตชิน ได้กลายเป็นดังวีรบุรุษของชนเผ่าที่ลุกขึ้นต้านทานอำนาจจากผู้มาใหม่

มีบทเพลงจำนวนมากถูกแต่งขึ้นและร้องเล่นอย่างลับๆ ถึงความตายของเขาเผยแพร่ในชนเผ่าแถวเม็กซิโก

ประการที่สอง คือการจัดระเบียบการเผยแผ่ศาสนาที่ไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันระหว่างบาทหลวงต่างนิกายขึ้น

และทำสำเร็จในเวลาต่อมาเมื่อบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันได้รับการอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้เพียงนิกายเดียว

และบรรดาบาทหลวงนิกายโดมิงนิกันซึ่งมีลักษณะการเผยแผ่ศาสนาแบบโอนอ่อนผ่อนตามกับชนพื้นเมืองถูกขับออกจากดินแดนโลกใหม่ในที่สุด