สาย สีมา รัชนี แรงดาลใจ อย่างสำคัญ ของ “ชาญวิทย์”

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เริ่มต้นบทความใน “ประชาชาติ” รายวันฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2507 ด้วยการโคว้ตถ้อยคำจาก “ปีศาจ”

สาย สีมา

“ความเห็นอกเห็นใจ และเจตนาดีอย่างเดียว ไม่สามารถจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด”

รัชนี “แต่ความเห็นอกเห็นใจทุกวันนี้ก็เป็นสิ่งหายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ถ้าเราทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจแต่เพียงอย่างเดียว โลกเรานี้ก็จะน่าอยู่และเป็นสุขยิ่งกว่าที่มันเป็นอยู่ในเวลานี้”

เป็นหนังสือ “ปีศาจ” อันแนวร่วมนักเขียนภาคเหนือจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2517

เนื้อความในบทความที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนใน “ประชาชาติ” ตรงกับที่ตั้งไว้ครบถ้วนทุกประการ “จุดเริ่มต้นของความเป็นธรรมในสังคม”

อาศัยบทสนทนาระหว่าง สาย สีมา กับ รัชนี มาเป็นแรงบันดาลใจสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงแห่งความเหลื่อมล้ำอันดำรงอยู่ในสังคมไทย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนออกมาว่า

 

คงจะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากในระยะไม่กี่ 10 ปีนี้ และกำลังถึงช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

การเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจการลงทุนกันอย่างจริงจังมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้มข้นขึ้นด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม การวางแผนเศรษฐกิจในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถ้าจะมองในด้านหนึ่งก็จะเห็นว่าการเศรษฐกิจการทำมาหากินแบบที่ว่ามีความสำเร็จตามที่มุ่งหายไปหลายประการ

สำเร็จในแง่ของการมีโรงงานอุตสาหกรรม สำเร็จในแง่ของการลงทุนใหญ่ๆ สำเร็จในแง่ของการมีนายทุน เจ้าของโรงงานที่ดินรายใหญ่ๆ ทั้งยังสำเร็จในแง่ของการมีรายได้ประชาชาติที่สูงมาก

สามารถใช้เป็นตัวเลขดรรชนีชี้ไว้ในรายงานหรือหนังสือตำราทางเศรษฐศาสตร์ได้

ถ้าจะพูดไป ในช่วงของความเปลี่ยนแปลงอันนี้เราก็ต้องมองเห็นภาพของชนบทที่กำลังกลายเป็นนครใหญ่ ภาพของถนนหนทางและโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มไร่ที่ทันสมัย และที่สำคัญที่สุดคือ ภาพของคนไทยจำนวนมากที่เปลี่ยนสภาพจากชาวไร่ชาวนามาเป็นคนเมือง

ไม่ว่าจะตามเมืองเล็กๆ หรือเมืองใหญ่ๆ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมากับความสำเร็จดังกล่าวก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ต้องดูควบคู่กันไป อีกด้านหนึ่งของความสำเร็จก็คือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม (หรือบางคนเรียกว่า ช่องว่างในสังคม) ซึ่งหมายถึง มีคนรวยอย่างมหาศาลและคนจนอย่างหนัก แตกต่างกันอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย

มีกรรมกรที่ยากจนจำนวนมากที่รายได้ไม่คุ้มกับแรงงานที่เขาลงไป มีชาวนาที่นับวันจะไร้ที่ดินทำกิน (ประเทศไทยเคยมีเกียรติประวัติของการมีชาวนามีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนสูงกว่าหลายประเทศมาก่อน) และผลกำไรที่เขาผลิตได้จากข้าวก็มิได้ตกเป็นของเขาโดยส่วนใหญ่ (ค่าพรีเมียมข้าว)

หรือแม้กระทั่งการใช้แรงงานเด็กอย่างไร้ความยุติธรรม ไม่ว่าจะตามโรงงาน สถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งขายพวงมาลัยตามท้องถนน

สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสำเร็จเหล่านี้ได้แสดงอาการไม่ปกติของสังคมให้เห็นทุกวัน การประท้วง การเรียกร้องที่มีมาก่อน 14 ตุลาคม 2516 เป็นพยานได้อย่างดี

จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไข และการแก้ไขนั้นก็เพื่อให้มีความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่ว่าจะเรียกวิธีการเหล่านั้นว่าสังคมนิยมหรืออะไรก็ตาม

การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสังคมนั้นมีจุดเริ่มต้นสำคัญอันหนึ่งคือ ความเห็นอกเห็นใจและเจตนาดี

ความเห็นอกเห็นใจมีเมตตากรุณาเป็นจุดสำคัญของการยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ในสังคม การยอมรับก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นคิดว่าควรจะมีการแก้ไขอย่างไร

มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นการปัดภาระ หรือปัญหาออกจากตัว

 

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนที่ศัพท์ทางศิลปะและวรรณกรรมเรียกว่า “แรงบันดาลใจ” นั่นก็คือ นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” นำไปสู่การเขียนบทความ

จาก “นวนิยาย” แปรออกมาเป็น “บทความ”

จากความคิดและการดำรงอยู่ในทางความคิด แปรออกมาเป็นบทวิเคราะห์ สังเคราะห์และมีรูปธรรมเด่นชัด

เมื่อปี 2495 เป็นเช่นนี้ เมื่อปี 2517 เป็นเช่นนี้ ในปี 2557 ก็เป็นเช่นนี้