คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : การเลือกตั้งกับนโยบายทางศาสนา ของพรรคการเมือง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลายคนบอกกับผมว่า การเลือกตั้งรอบนี้มีฝ่ายที่เสียเปรียบตั้งแต่แรกและมีกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย ทว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเลือกตั้งที่แข่งกันในเรื่องนโยบายเป็นหลักเช่นการเลือกตั้งปกติที่ผ่านๆ มา แต่เป็นการต่อสู้กันในเชิงอุดมการณ์ด้วย

ดังนั้น การออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อบอกว่าเราสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยก็ควรส่งเสียงให้สังคมได้ยิน

ส่วนใครบางคนได้ยินแล้วจะเกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ ก็อาจเป็นผลพลอยได้ที่ดี (ฮา)

แม้ว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามสังเกตคือ มีพรรคไหนบ้างที่นำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับ “ศาสนา”

 

เนื่องจากประเทศเรายังไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ (หรือไม่มีเลย) รัฐบาลจึงมีอำนาจในการกำหนด ควบคุม ปราบปราม หรือส่งเสริมศาสนาใดศาสนาหนึ่งค่อนข้างมาก นโยบายทางศาสนาของพรรคการเมืองบางพรรคหากถูกนำไปใช้จริงก็น่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมอยู่ไม่น้อยและไม่เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตย

ดังนั้น การเอาหลักการหรือความเชื่อทางศาสนาไปใช้เป็นนโยบายทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการขัดแย้งในตัวเอง

ที่จริงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในโลกสมัยใหม่ ในประเทศที่มีประชาธิปไตยแล้ว การแยกศาสนาออกจากรัฐ หรือ “การทำให้เป็นฆราวาสวิสัย” (Secularization) เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

ที่ต้องเกิดขึ้น เพราะความเป็นประชาธิปไตยไม่ยอมให้ความเชื่อของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจหรืออภิสิทธิ์เหนือกลุ่มอื่น

การแยกศาสนาให้เป็นอิสระจากรัฐ และรัฐเองก็เป็นอิสระจากศาสนาจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

ผมอยากยกตัวอย่างสองประเทศที่มีการแยกศาสนาออกจากรัฐแล้ว

ประเทศแรกคือฝรั่งเศส ซึ่งมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์แบบไม่ค่อยจะดีนักกับศาสนา เพราะศาสนจักรในยุคก่อนปฏิวัติมีอำนาจมากและสัมพันธ์แนบชิดกับกษัตริย์ เมื่อปฏิวัติแล้วการแยกศาสนาออกจากรัฐในฝรั่งเศสทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐมีขอบเขตชัดเจนเด็ดขาด และก็เป็นไปในลักษณะที่แยกออกจากกันจริงๆ จนทุกวันนี้

ส่วนอีกประเทศคืออินเดีย การแยกศาสนาออกจากรัฐมีความแตกต่างจากฝรั่งเศสพอสมควร

เพราะเหตุว่าอินเดียไม่ได้มีบริบททางประวัติศาสตร์แบบเดียวกัน

กล่าวคือ ศาสนาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของการปกครองแบบใหม่ การทำให้เป็นประชาธิปไตยในอินเดียจึงไม่จำเป็นต้องไปลดอำนาจของศาสนาหรือองค์กรทางศาสนาลงจนหมดสิ้น เพราะมันคล้ายๆ มีระยะห่างต่อกันตั้งแต่แรก

ที่สำคัญเพราะ ศาสนาในอินเดียไม่ได้มีลักษณะที่เป็น “ศาสนจักร” เช่นเดียวกับคริสต์ศาสนาในโลกตะวันตก ไม่ได้มีลักษณะที่มีองค์กรศูนย์กลางครอบงำทางโลกทางธรรม

อันนี้กล่าวถึงโดยเฉพาะศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่มีประชากรนับถือมากที่สุดนะครับ

ดังนั้นแล้วการแยกศาสนาออกจากรัฐในอินเดีย จึงมีลักษณะเป็นแบบความสัมพันธ์หลวมๆ ไม่ได้ตัดขาดจากกันเด็ดขาด

กิจการทางศาสนาเป็นเรื่องเอกชน รัฐต้องไม่นำเอาคำสอน บทบัญญัติ หรือความเชื่อทางศาสนามาบังคับใช้เป็นกฎหมายหรือเป็นแนวนโยบายในการบริหาร

ซึ่งอันนี้ไม่ต่างกับตะวันตกสักเท่าไร เพียงแต่รัฐก็อาจให้การอุปถัมภ์บำรุงศาสนาภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องให้การอุปถัมภ์ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม

ในทางปฏิบัติก็อาจไม่ได้เป็นไปตามอุดมคตินี้หรอกครับ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลนายกฯ นเรนทร โมที ก็มีคนบอกว่าแอบส่งเสริมศาสนาฮินดูค่อนข้างมาก

แต่ข้อดีของการมีประชาธิปไตยเต็มใบคือ มีคนคอยทักท้วงหรือประท้วงได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับเข้าค่ายทหาร และถ้าจะไม่เอาพรรคนี้แล้วก็รอเลือกตั้งใหม่ แค่นั้น

 

กลับมาที่บ้านเรา เรายังไม่มีประสบการณ์ของการแยกศาสนาออกจากรัฐ เพราะเรายังไม่ได้เคยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบเสียทีไงครับ ยิ่งในสมัยที่ความเป็นประชาธิปไตยลดลง เสียงของศาสนาจะดังขึ้นเป็นพิเศษ เพราะศาสนาจะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง

“ความดี” ทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งรัฐบาลที่มาโดยวิธีพิเศษพยายามจะชูภาพนี้มาก ผมคิดว่ามันจึงได้กลายมาเป็นนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรค เพราะเทรนด์ “ความดี” ดูเหมือนจะยังขายในหมู่ชนชั้นกลางได้อยู่

พรรคการเมืองบ้านเราจึงมีนโยบายเกี่ยวกับศาสนาหลายพรรค เราอาจพอแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เชิดชูคำสอนในพุทธศาสนาเป็นพิเศษและพยายามจะนำเอาคำสอนเหล่านั้นมาแปรให้เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมหรือส่งเสริมให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เช่น พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคแผ่นดินธรรม และพรรคประชาชนปฏิรูปของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นต้น

พรรคประชาภิวัฒน์ มีแนวนโยบายที่จะสร้างธนาคารพุทธศาสนา และหนึ่งตำบลหนึ่งสำนักงานพุทธศาสนา

พรรคแผ่นดินธรรมพยายามส่งเสริมพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งพยายามที่จะให้มีการออก พ.ร.บ.อุปถัมภ์พุทธศาสนาเป็นพิเศษ

ส่วนพรรคของคุณไพบูลย์ที่มีสโลแกน “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า มาใช้แก้ปัญหาประชาชน” ผมยังไม่ค่อยเห็นคำอธิบายว่าจะเอามาใช้ยังไง แต่โดยรวมยังคงเน้นการ “ปฏิรูป” พุทธศาสนาอย่างจริงจังดังที่คุณไพบูลย์พยายามพูดถึงมาตลอด

 

ทุกพรรคข้างต้น ผมคิดว่าสิ่งที่มีร่วมกันคือความคิดว่าพุทธศาสนาในบ้านเรากำลังเสื่อมถอยหรือถูก “รุกราน” จากภัยภายนอก การพยายามขายนโยบายเช่นนี้อาจถูกอกถูกใจชาวพุทธบางกลุ่มที่มีแนวโน้มความกลัวภัยของพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ผมมิได้คิดว่าศาสนาจะขัดกับคุณค่าของประชาธิปไตยไปทั้งหมดหรอกครับ ผมคิดว่ามีบางแนวคิดหรือคุณค่าทางศาสนาที่สามารถสอดคล้องกับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ได้ กระนั้นปัญหามันอยู่ที่ความพยายามจะเอาหลักการของศาสนาใดศาสนาหนึ่งไปเป็นนโยบายหรือกฎหมายของรัฐต่างหาก ไม่ใช่ที่ตัวศาสนาเอง

เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยแล้ว ในโลกแห่งความแตกต่างหลากหลายในปัจจุบัน โจทย์ไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจะคิดหรือเชื่อเหมือนกันหมด (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) แต่อยู่ที่ทำอย่างไรที่คนที่คิดหรือเชื่อต่างกันจะอยู่กันได้โดยไม่ทำลายกัน หรือไม่ทำให้ความเชื่ออย่างหนึ่งมีอำนาจเหนือความเชื่ออื่นๆ

 

ส่วนพรรคการเมืองอีกกลุ่ม (ที่จริงอาจมีเพียงพรรคเดียวคืออนาคตใหม่) มี “ท่าที” ในลักษณะส่งเสริมการแยกศาสนาออกจากรัฐ จริงๆ แล้วจะบอกว่าเป็นนโยบายทางศาสนา (แบบหลายพรรคข้างต้น) ก็ไม่เชิง เพราะไม่ได้เอาหลักการทางศาสนามาเป็นตัวนำนโยบายทางการเมือง แต่พยายามที่จะจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองใหม่แค่นั้น

ที่บอกว่าเป็นท่าที เพราะผมไม่ได้เห็นพรรคเสนอเป็นนโยบายชัดๆ อาจด้วยเหตุว่าเคยได้รับการต่อต้านหรือมีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นมาแล้วอย่างกว้างขวาง

ปัญหานี้มาจากความไม่เข้าใจและความกลัวต่อการแยกศาสนาออกจากรัฐ ซึ่งหลายคนคิดว่า คือการต้องละทิ้งหรือทำลายศาสนาให้สิ้นไปเลย

ที่จริงการแยกศาสนาออกจากรัฐกลับเป็นคุณต่อศาสนาเสียด้วยซ้ำ ดังประสบการณ์ของหลายประเทศ เพราะการครอบงำของรัฐต่อศาสนาจะลดลง ในขณะเดียวกันก็เกิดความงอกงามของการตีความและการเติบโตของกลุ่มต่างๆ ในศาสนา ดังที่ผมและมิตรสหายได้พูดหลายครั้งหลายโอกาสแล้ว

แต่จะเลือกพรรคไหนก็เป็นสิทธิของท่านครับ และเรื่องนี้เราคงต้องติดตามดูกันไปยาวๆ

อีกย้าวยาว พี่บอกเลย