แมลงวันในไร่ส้ม /ข่าวชิงตั้ง รบ.เดือด กกต.อ่วม-รับเละ ฮือเข้าชื่อ ‘ถอด’

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวชิงตั้ง รบ.เดือด

กกต.อ่วม-รับเละ

ฮือเข้าชื่อ ‘ถอด’

 

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ผลอย่างหนึ่งคือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตกเป็นจำเลยสังคม

กกต.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากปัญหาการรายงานผลเลือกตั้งที่ไม่ตอบสนองความต้องการรับรู้ของสังคม

ต่างไปจากการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา สามารถรู้ผลในคืนเลือกตั้ง แต่รอบนี้ข้อมูลต่างๆ ถูกเก็บเงียบ ให้รอผลเป็นทางการ

ขณะที่การรวมตัวเลขพรรคการเมือง 2 ขั้ว ระหว่างฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายคัดค้านการสืบทอดอำนาจ มีคะแนนก้ำกึ่งกัน

ผลการนับคะแนนจึงยิ่งเพิ่มความสำคัญ

ประชาชนและพรรคต่างๆ เรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยผลคะแนนและข้อมูลต่างๆ

สุดท้าย กกต.ยอมเผยข้อมูลผู้ได้คะแนนสูงสุด คือว่าที่ ส.ส.ในแต่ละเขตอย่างไม่เป็นทางการ และคะแนนรวมที่แต่ละพรรคได้ จากจำนวนคะแนนดิบ 100%

แต่ตัวเลขที่เปิดเผยออกมานำไปสู่ข้อสงสัยอีก อาทิ ทำไมตัวเลขผู้ใช้สิทธิเพิ่มมาอีก 4.4 ล้านคน จาก 65% เป็น 74%

ที่สำคัญมากคือ วิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ที่ กกต.ยังอุบไว้

ต่อมามีผู้เผยแพร่วิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ผลออกมาคือ 26 พรรคได้ ส.ส. ในจำนวนนี้ พรรคการเมืองเล็ก 13 พรรค ได้พรรคละ 1 เสียง ขณะที่หัวตาราง พรรคอนาคตใหม่ มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลดลงถึง 8 ที่นั่ง

ทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเสนอวิธีการนับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ซึ่งวิธีการนับในแบบของพรรคเพื่อไทยจะมีพรรคการเมือง 16 พรรคมี ส.ส.

พร้อมกับเรียกร้องให้ กกต.เร่งเปิดเผยวิธีการนับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้สังคมได้รับทราบ

 

การเคลื่อนไหวล่าชื่อถอดถอน กกต.เกิดขึ้น และมีประชาชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในนามแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เปิดการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 1 เมษายน

ทั้งการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ใน www.change.org. ตั้งเป้าให้ถึงล้านคน ซึ่งถึงวันที่ 2 เมษายน มีผู้ลงชื่อแล้ว 8.3 แสนคน

ในวันที่ 1 เมษายน มีการเคลื่อนไหวที่ส่วนกลาง ได้แก่ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอาคารเรียนรวม SC มธ.ศูนย์รังสิต

ในภูมิภาค มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อให้มีผลทางกฎหมาย ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เริ่มจากวันจันทร์ที่ 1 เมษายน โดยผู้ที่ต้องการร่วมลงชื่อถอดถอนจะต้องเตรียมสำเนาบัตรประชาชน 2 ชุด พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย

สถานที่รับลงชื่อในส่วนภูมิภาคประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

วันที่ 2 เมษายน กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม นำโดยนายสิรวิชญ์ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือบอล ได้ตั้งโต๊ะที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ล่ารายชื่อ โดยมีนักศึกษา ประชาชนร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง

แกนนำคนหนึ่งคือนายธนวัฒน์ เผยว่า การล่ารายชื่อเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ในมหาวิทยาลัย 14 แห่ง เจ้าหน้าที่รัฐสั่งมหาวิทยาลัยไม่ให้อนุญาตในการจัดกิจกรรม

สุดท้ายต้องจัดนอกมหาวิทยาลัย แต่ยังโดนคุกคาม ร้านถ่ายเอกสารต้องปิด เพราะผู้ร่วมลงชื่อต้องถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนประกอบการลงชื่อ

นายธนวัฒน์เผยว่า ผู้ลงรายชื่อล่าสุดอยู่ที่ 3,500-4,000 ราย ตั้งเป้าไว้ 20,000 ราย ส่วนยอดใน change.org ตกราว 850,000 คนแล้ว

โดยวันศุกร์ที่ 5 เมษายนนี้จะระดมล่ารายชื่อครั้งใหญ่ที่หอศิลป์ กทม.

 

ขณะที่กระแสโจมตี กกต.แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง วันที่  28 มีนาคม ที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว

หนึ่งในคำถามในการแถลงข่าว คือกองทัพเป็นห่วงเรื่องการทุจริตในการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.พรพิพัฒน์ตอบว่า ต้องให้เวลากับ กกต. เราต้องเชื่อมั่นกลไกของรัฐ แม้ว่าเราอาจมีความเห็นว่าการทำงานของ กกต.ไม่เรียบร้อยในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามต้องเชื่อใจว่า กกต.เขามีหลักในการปฏิบัติและพยายามที่จะทำออกมาให้ดีที่สุด เมื่อพบข้อบกพร่องก็ต้องแก้ไข และในข้อแก้ไขจะต้องใช้เวลาพอสมควร

ส่วนทางรัฐบาลเอง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าการถอดถอนจะต้องผ่านการสอบสวน และอื่นๆ อีกมาก หากจะให้ กกต.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถามว่าแล้วใครจะประกาศผลการเลือกตั้ง หรือมีความตั้งใจไม่อยากให้ประกาศผลการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.ควรออกมาชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กกต.ก็ได้ชี้แจงบ้างแล้ว และเห็นด้วยว่าควรจะต้องมีการชี้แจงอย่างเป็นระบบ กกต.ควรรวบรวมคำถามทั้งหลาย เพื่อตอบให้เกิดความกระจ่าง ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ต้องตอบให้ตรงกัน

“คนไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่า การเลือกบัตรใบเดียวนั้น เมื่อเลือกเสร็จ คะแนนต้องเอามาหาร รอบ 1 รอบ 2 รอบ 3 เมื่อมีหลายรอบเข้าก็ทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเพียง 30,000 คะแนน ได้ ส.ส.มา 1 คน จากทีแรกตั้งหลักว่าต้องได้ถึง 60,000-70,000 คะแนน จึงจะได้ ส.ส. 1 คน ถามว่า แค่ 30,000 คะแนนทำไมจึงได้ 1 คน ก็เพราะว่ามันมีวิธีคิด ซึ่ง กกต.ต้องอธิบายทั้งหมดอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นวิธีใหม่จริงๆ ทั้งวิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็เห็นใจทุกอย่างที่ทำให้ทุกอย่างเกิดความวุ่นวายขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปว่าได้ 30,000 คะแนนก็ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เห็นเขาว่าอย่างนั้น เพราะการนับคะแนนมีการเฉลี่ยหลายรอบ รอบ 1, 2, 3 นั้น พรรคอื่นได้ไปหมดแล้ว แต่เหลือเศษอยู่ จึงเฉลี่ยให้พรรคเล็กๆ

เมื่อถามว่าอย่างนี้จะเกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือ นายวิษณุกล่าวว่า พรรคใหญ่ได้ผ่านการได้เปรียบไปหมดแล้ว จึงได้เฉลี่ยไปถึงพรรคเล็ก เป็นไปตามกฎกติกาที่มีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครไปกลั่นแกล้งกัน

และนั่นคือสถานการณ์หลัง 24 มีนาคม ที่ตัวเลขผลการเลือกตั้ง วิธีคิดต่างๆ ยังอึมครึม และมีกระแสข่าว “งูเห่า” แพร่สะพัด

การเมืองไทยยังอยู่ในเกมของการชิงความได้เปรียบ เพื่อความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล