วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ที่มา-ความเป็นไปของจีนศึกษา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความเป็นมา

นานนับสิบปีมาแล้วที่ถูกถามอยู่เสมอว่า ทำไมจึงมาเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษา ผู้ที่ถามมีทั้งกัลยาณมิตรที่อยู่ในและนอกวงวิชาการกับลูกศิษย์ลูกหาที่สนิทสนมกันในแต่ละรุ่น ซึ่งก็ได้ให้คำตอบไปตามสมควร สุดแท้แต่การสนทนานั้นจะยาวนานเพียงใด

แต่ก็มีบ่อยครั้งเช่นกันที่คำตอบมิได้เกิดขึ้นจากการถูกถาม แต่เกิดจากการได้รับเชิญไปบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านจีนศึกษา ในประการหลังนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเริ่มจากประเด็นคำถามข้างต้น

ตลอดเวลาที่ตอบประเด็นคำถามข้างต้น ไม่เคยคิดที่จะนำคำตอบที่ตอบไปมาเขียนอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งราวกลางปี ค.ศ.2018 ก็ได้รับเชิญจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้เขียนบทความเนื่องในโอกาสเกษียณของท่าน และด้วยเหตุที่ท่านเป็นอาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพรัก การได้รับเชิญครั้งนี้จึงทำให้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

จึงได้ตอบรับท่านไปโดยไม่ลังเล

ส่วนเรื่องที่จะเขียนก็คือ การนำเอาคำถามข้างต้นที่ถูกถามมานานมาเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยมีแนวทางในการเขียนว่าจะหลีกเลี่ยงประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัวให้มากที่สุด และให้เป็นการบอกเล่าเชิงประสบการณ์เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการให้มากที่สุด

ด้วยคิดอยู่เสมอว่าเรื่องส่วนตัวของตนเองไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจ ซ้ำบางทีอาจสร้างความรำคาญแก่ผู้ที่จะมาอ่านบทความชิ้นนี้อีกด้วย

ดังนั้น หากจะมีประเด็นใดที่เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องส่วนตัว ประเด็นนั้นย่อมเกี่ยวเนื่องด้วยงานที่ตนเองได้ประกอบสร้างขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะตอบคำถามข้างต้นแล้วก็ยังหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในทางวิชาการบ้าง แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี

แต่กระนั้น ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องบอกกล่าวก่อนว่า แม้จะตั้งแนวทางและความหวังเล็กๆ เอาไว้เช่นนั้น ก็มิได้หมายความว่างานเขียนชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเอาไว้ หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงต้องขออภัยทั้งต่อท่านอาจารย์ที่เชิญให้เขียนบทความชิ้นนี้แด่ท่าน และต่อท่านผู้อ่านบทความชิ้นนี้

 

ภูมิหลัง

กล่าวในทางอาชีพนักวิชาการแล้ว สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยก็คือ ภูมิหลังทางครอบครัวจะสำคัญต่ออาชีพนี้ ภูมิหลังที่ว่านี้ก็คือ การมีครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน

ส่วนที่ว่าสำคัญนั้นก็อยู่ตรงที่ว่า ในความที่เป็นจีนย่อมทำให้มีพื้นฐานความรู้เรื่องจีน อันเป็นความรู้เบื้องต้นที่ค่อนข้างเฉพาะด้าน เช่น รู้เรื่องกิริยามารยาทแบบจีน อาหารจีน จารีตประเพณีจีน นิทานจีน วรรณกรรมจีน พิธีกรรมจีน หลักคิดของจีน และภาษาจีน เป็นต้น

ความรู้เหล่านี้เกิดผ่านวิถีชีวิตประจำวัน และเป็นความรู้ที่กระจัดกระจายไม่เป็นระบบเลย อีกทั้งยังรู้โดยไม่ทราบที่มาที่ไปว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ กว่าที่จะเข้าใจได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อได้นำตนเองเข้ามาอยู่แวดวงจีนศึกษาแล้ว

ที่น่าสังเกตคือ ความรู้ที่ยกมานั้นเป็นความรู้ทางวัฒนธรรม (จีน) เสียโดยมาก

ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นความรู้ที่ค่อนข้างเฉพาะก็คือ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่บนฐานของครอบครัวที่เป็นจีนฮากกา (เค่อเจีย) หรือที่ไทยเราเรียกกันว่า จีนแคะ

และด้วยเหตุที่เป็นความรู้ด้านวัฒนธรรมเสียโดยมาก รายละเอียดต่างๆ จึงย่อมแตกต่างไปจากจีนถิ่นอื่น ไม่ว่าจะจีนแต้จิ๋ว (เฉาโจว) ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (กว่างตง) หรือไหหลำ (ไห่หนัน) อันเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยมานานรับร้อยปี

ความแตกต่างเช่นนี้ทำให้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมในถิ่นหนึ่งของจีนย่อมมิใช่ตัวแทนวัฒนธรรมจีนทั้งหมด ในขณะเดียวกันเมื่อรวมวัฒนธรรมในแต่ละถิ่นของจีนเข้าด้วยกันแล้ว วัฒนธรรมที่รวมกันเข้านั้นย่อมเป็นวัฒนธรรมจีน

 

ที่สำคัญ ภายใต้วัฒนธรรมที่มีรายละเอียดมากมายและซับซ้อนนี้ สิ่งที่เข้ามาร้อยเรียงให้รายละเอียดเหล่านั้นเชื่อมโยงกันได้ก็คือ ภาษาจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ภาษาจีนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาษาจีนที่เรียนตั้งแต่เด็กนั้นคือ ภาษาจีนกลาง

เวลานั้นอยู่ในราวกลางทศวรรษ 1960 ซึ่งยังมีข้อห้ามมิให้โรงเรียนใดเปิดการเรียนการสอนภาษาจีนเกินชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือชั้นประถม 4 แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ แม้จะมีข้อห้ามที่ว่า แต่กับตำราที่ใช้เรียนแล้วกลับน่าสนใจไม่น้อย เพราะตำราทุกเล่มของทุกชั้นตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้ายล้วนเป็นเรื่องเป็นราว

มิได้เป็นคำจีนที่มีคำอ่านภาษาไทยประกอบหรือมีระบบการอ่านแบบจีน

ส่วนที่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวอาจยกตัวอย่างจากง่ายไปยากได้ เช่น ลูกคนโตวิ่งไปบอกคุณแม่ว่าลูกคนเล็กร้องไห้ คุณแม่รีบมาดูไวๆ

หรือเด็กชายถามหญิงชราว่าอายุเท่าไรแล้ว หญิงชราตอบว่าไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าเมื่อแรกเกิดนั้นบุพการีได้ปลูกต้นไม้ไว้ต้นหนึ่ง แล้วหญิงชราก็ชี้ไปยังต้นไม้ต้นที่ว่าที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของหญิงชรามากนัก ที่บัดนี้กลายเป็นต้นไม้ที่เติบใหญ่สูงตระหง่าน อายุของหญิงชราเทียบได้กับไม้ใหญ่ต้นนั้น

หรือนักเรียนคนหนึ่งผลการเรียนไม่ดีและเวลาเรียนก็ง่วงเหงาหาวนอน จนครูต้องว่ากล่าวตักเตือนแล้วถามว่าทำไมจึงประพฤติตนเช่นนี้ นักเรียนตอบว่า ทางบ้านยากจนและต้องอยู่ช่วยงานบ้านจนดึกดื่น ซ้ำยังต้องตื่นแต่เช้ามาส่งหนังสือพิมพ์เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาในบทต่างๆ ไม่เพียงสะท้อนชีวิตประจำวันเท่านั้น หากบางบทยังมีคติสอนใจแฝงอยู่ด้วย แต่ที่จะเล่าเป็นพิเศษคือตัวอย่างเรื่องอายุของหญิงชรา

ในบทนี้มีภาพลายเส้นประกอบเป็นภาพของหญิงชรานั่งอยู่บนท่อนไม้แห้ง และแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองแบบมลายู ส่วนเด็กที่ถามจะแต่งกายสุภาพ ในภาพหญิงชราจะชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่เทียบกับอายุของตน โดยใกล้ๆ กันนั้นคือบ้านยกพื้นมีใต้ถุน อันเป็นบ้านทรงพื้นเมืองของชาวมลายู

จากภาพนี้ทำให้เห็นว่า ตำราที่เรียนนั้นตีพิมพ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากจำไม่ผิดน่าจะเป็นเมืองปีนังของมาเลเซีย

ที่สำคัญ ตำราก็ดี หรือวิธีการสอนของครูก็ดี ยังทำให้เห็นอีกด้วยว่า ทั้งหมดนี้เหมาะแก่ผู้เรียนที่มีเชื้อสายจีนเป็นหลัก และเป็นเชื้อสายจีนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวของผู้เรียน หากมิเป็นไปตามนี้แล้วก็จะเป็นการยากแก่ผู้เรียนอยู่ไม่น้อย

ซึ่งในสมัยที่เรียนอยู่นั้นพบว่า นักเรียนเชื้อสายจีนที่มิได้ใช้ภาษาจีนในครอบครัวของตน (ซึ่งมีน้อยมาก) กับนักเรียนที่มีเชื้อสายไทยหรือมลายู (ซึ่งมีเพียงคนสองคน) จะมีผลการเรียนที่ไม่สู้ดีนัก

ข้อสำคัญในประการต่อมา ตำราเหล่านี้น่าจะผิดกฎหมายไทย เพราะมิใช่ตำราที่ผ่านการรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่ตำราของกระทรวงศึกษาฯ เองมีความแตกต่างอย่างมากกับตำราที่กล่าวถึง ซึ่งแม้แต่ตำราสำหรับชั้นประถม 4 แล้ว แต่ละบทยังคงมีคำศัพท์จีนเพียงไม่กี่ตัวอักษร

ยิ่งเทียบกับปัจจุบันด้วยแล้วก็ยิ่งต่างกันมาก

 

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ตำราในสมัยนั้นเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเชื้อสายจีน และใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวของตนมากกว่า การที่จะให้นักเรียนในปัจจุบันใช้เรียนก็ย่อมไม่เหมาะสมเช่นกัน เพราะนักเรียนในทุกวันนี้ต่อให้มีเชื้อสายจีนก็ตาม แต่ก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่งในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่

ที่จะใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งนั้นหาได้น้อยเต็มที

การที่เป็นตำราที่ไม่ผ่านการรับรองดังกล่าวย่อมแสดงว่า เวลานั้นทางโรงเรียนคงแอบนำตำราเหล่านี้มาใช้ ส่วนทางศึกษาธิการจังหวัดจะทราบหรือไม่นั้นคงตอบไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มาทราบในภายหลังที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยว่า แม้แต่โรงเรียนบางแห่งในกรุงเทพฯ ก็ทำเช่นนี้ และก็คงทำกันด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกับต่างจังหวัด

คือเห็นว่าตำราที่ผ่านการรับรองนั้นง่ายเกินไป ต่อให้เรียนจนจบชั้นประถมฯต้นไปแล้วก็คงได้ศัพท์จีนไปไม่กี่คำ

——————————————————————————————————————————-
(1) บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นบรรณาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุการเป็นอาจารย์ของศาสตราจารย์เออิจิ มูราซิมา แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น