เหรียญหลวงปู่จันทร์ 2478 มงคลวัดนางหนู จ.ลพบุรี รุ่นแรก-รุ่นเดียวที่กล่าวขาน

“หลวงปู่จันทร์ จันทโชติ” หรือ “หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู จ.ลพบุรี” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสมัยสงครามอินโดจีนต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่กล่าวขานและเลื่อมใสศรัทธาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลพบุรีและแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง

บรรดาวัตถุมงคลหลวงปู่จันทร์ ซึ่งล้วนเป็นที่ปรารถนาของสาธุชน คือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ ปี 2478” แจกเป็นที่ระลึกในการจัดสร้างศาลาวัดนางหนู นับเป็นเหรียญยอดนิยมที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญประจำจังหวัดลพบุรี ที่มีความต้องการและเสาะแสวงหาอย่างสูง ด้วยเป็น “เหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียว” ของท่าน

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ ปี 2478 เท่าที่พบเป็นเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่กลม หูในตัว

ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบเป็นลวดแบน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรไทยโดยรอบว่า “หลวงพ่อจัน อายุครบ ๘๓ ปี พระจันทะโชติ์”

ด้านหลังเหรียญ เป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม “นะเฉลียวเพชร” ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม แล้วล้อมด้วยอักขระขอม 3 ตัว ว่า “อิสวาสุ” โดยรอบเหรียญจารึกอักษรไทยว่า “ให้เป็นที่รฤกในงานฉลองศาลา พ.ศ.๒๔๗๘”

ปัจจุบัน หาดูหาเช่ายากยิ่ง สนนราคา ถ้าสภาพสวยสมบูรณ์ แตะหลักแสน รุ่นนี้มีบล็อกหน้าพิมพ์เดียว บล็อกหลังมีถึง 3 พิมพ์ ต้องศึกษาและพิจารณาจุดตำหนิให้ดี

 

มีนามเดิมชื่อ จัน หรือ จันทร์ สุดสาย เป็นชาวลพบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2395 ที่บ้านบางพุทโธ ต.ตลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี

ในวัยหนุ่มเป็นคนพูดจริงทำจริงและเจ้าชู้ จนได้สาวงามแห่งบางพุทโธ 2 ศรีพี่น้องเป็นภรรยา ชื่อ นางสินและนางทรัพย์ มีบุตรด้วยกันรวม 4 คน

กล่าวกันว่า ท่านร่ำเรียนวิทยาคมต่างๆ จากปู่ซึ่งเป็นจอมขมังเวทย์ ทั้งยังชอบกินว่านและอาบว่าน เพื่อให้ผิวกายคงทนต่อศาสตราวุธต่างๆ และด้วยความมีใจนักเลง เป็นเหตุให้เกิดมีเรื่องราวกับคู่อริถึงขนาดทำร้ายกันจนถึงชีวิต ต้องหลบหนีอาญาจากบ้านเมืองไป

ในระหว่างนั้นเอง ท่านมีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์และฆราวาสผู้ทรงพุทธาคมมากมาย เมื่อพ้นอายุความในช่วงวัยกลางคน จึงหวนสู่ภูมิลำเนา ณ บางพุทโธ และตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบท ณ วัดบัว โดยมีพระสังฆภารวาหมุนี (หลวงพ่อเนียม) วัดเสาธงทอง พระเกจิชื่อดังยุคนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “จันทโชติ”

ดำรงสมณเพศเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดอายุขัย

 

ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดบัว ท่านสังเกตว่า “วัดนางหนู” วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามนั้น มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จนเกือบจะเป็นวัดร้างและไม่มีพระภิกษุ-สามเณรจำพรรษา ท่านจึงขอย้ายไปจำพรรษาที่วัดนางหนู บูรณปฏิสังขรณ์ ตลอดจนสร้างเสนาสนะต่างๆ

ครั้นเมื่อชาวบ้านได้เห็นถึงความมุ่งมั่นก็เริ่มศรัทธามาร่วมแรงร่วมใจกัน จนวัดนางหนูมีความถาวรเป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรือง ต่อมาได้มีการสังคายนาชื่อวัดให้ถูกต้องตามทำเนียมสงฆ์ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดมุสิกาวาส”

เพื่อตอบแทนน้ำใจญาติโยมที่สละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ในการร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดครั้งนั้น หลวงปู่จันทร์ จึงสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังมากมาย อาทิ ตะกรุดไม้ไผ่ ตะกรุดไม้ลวก ตะกรุดสังวาล เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ สีผึ้ง รูปถ่ายอัดกระจก สายคาดเอว พระเครื่องเนื้อผงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น

เล่ากันว่า เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ประมาณปี พ.ศ.2484 ทหารหน่วยต่างๆ ต่างมุ่งสู่วัดนางหนู เพื่อขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่จันทร์ เป็นจำนวนมาก พร้อมสละทรัพย์หรือปัจจัยให้ท่านนำไปสร้างถาวรวัตถุต่างๆ

เงินทำบุญนั้นมากขนาดสร้างโบสถ์หลังใหม่ได้ทีเดียว

 

หลังจากนั้นไม่นาน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสดูแลปกครองวัดนางหนูสืบมา และชื่อเสียงของท่านก็โด่งดังไปทั่วภาคกลางในฐานะพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิทยาอาคมเข้มขลัง เป็นอีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้รับนิมนต์เข้านั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกสำคัญ อาทิ พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อปี พ.ศ.2481 และพิธีปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ณ วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ.2485

ในบั้นปลายชีวิต สร้างวัดบางพุทโธ หรือ วัดชนะสงคราม จนสำเร็จลุล่วง นัยว่าเป็นการล้างบาปที่ท่านได้เคยก่อไว้ในอดีต

หลวงปู่จันทร์ มรณภาพในปี พ.ศ.2490 สิริอายุ 97 ปี ก่อนละสังขารได้เรียกพระครูพิพัฒนบุญญาธร ศิษย์เอกมาสั่งเสีย และท่านได้ครองจีวรพาดผ้าสังฆาฏิอย่างรัดกุม เข้านิโรธสมาบัติจากไปอย่างสงบ

แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ยังอยู่ในศรัทธาของสาธุชนชาวเมืองลพบุรีตราบจนปัจจุบัน