วิเคราะห์ : ส่องหมัดเด็ดโค้งสุดท้าย “พท.” สู้ที่นโยบาย-แต่อาจจบที่คดีความ ?

ผลประเมินล่าสุดช่วงโค้งสุดท้ายของฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นการประเมินที่ได้ชื่อว่าแม่นที่สุดสำหรับทุกการเลือกตั้งในประเทศไทย ระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งในระบบเขต หรือที่เรียกว่า ส.ส.เขต จำนวนกว่า 190 ที่นั่ง แถมยังมีหวังว่าได้ไปถึง 200 ที่นั่งจากเขตที่มีความสูสี ผลประเมินพบว่าห่างไม่มากตั้งแต่ 1-3% เท่านั้นอีกด้วย

ครั้งนี้ทางฝั่งเพื่อไทยลงทุนประเมินแบบเจาะลึก ละเอียดยิบแบบตำบล อำเภอ เขต แขวง กันเลยทีเดียว เพราะแม้ที่ผ่านมาการประเมินจากทางฝั่งพรรคเพื่อไทยจะแม่นยำมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ทางเพื่อไทยก็ยังอยากได้ตัวเลขที่แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือ และจับต้องได้มากที่สุด

ดังนั้น ตัวเลข 190-200 คือตัวเลขที่เพื่อไทยตั้งเป้าจะเอามาให้ได้

และการขายนโยบายที่ทำได้จริงคือจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย ที่จะทำให้ได้คะแนนมาอยู่ในมือ

หากพูดถึงเรื่องนโยบาย ต้องยอมรับจริงๆ ว่านโยบายส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ครั้งไทยรักไทย คือนโยบายที่ประกาศแล้วดันทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ช่วงนั้นคนออกมาตั้งข้อกังขากันเป็นล้นพ้นว่า จะรักษาคนเจ็บคนป่วยให้หายด้วยเงินเพียง 30 บาทได้อย่างไร แล้วจะเอางบฯ เอาเงินที่ไหนมาทำ ปรากฏว่าก็ทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย

ต่อมาคือนโยบายขึ้นเงินเดือนให้เด็กจบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตอนนั้นฝั่งที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการออกมาจวกยับว่าจะทำได้อย่างไร เงินจากไหนก็ไม่พอ

ผลปรากฏมาจนวันนี้เงินเดือนของเด็กๆ ที่จบปริญญาตรี และค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นไปตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้

เห็นจะมีแต่นโยบาย “จำนำข้าว” ที่ก็ทำได้จริง และทำได้จนได้รับเสียงตอบรับจากชาวนาดีเสียด้วย

แต่กลับกลายเป็นชนวนปัญหาใหญ่ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

จนถึงขนาดนายกฯ ของพรรคอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญต้องเทียวขึ้นศาลอยู่กว่า 2 ปี จนถูกตัดสินจำคุก “ยิ่งลักษณ์” ต้องหนีไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ และถูกยึดทรัพย์มาเป็นค่าความเสียหายจากคดีจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

“เพื่อไทย” เก่งเรื่องคิดทำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และปากท้องชาวบ้าน ล่าสุดไม่กี่วันมานี้สร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยปล่อยนโยบาย “หวยบำเหน็จ” มีการทำคลิป และโปรโมตนโยบายนี้ด้วยคลิปวิดีโอสั้นๆ มีทั้งภาษาเหนือ กลาง อีสาน และใต้ เรียกว่าเจาะทุกกลุ่ม ทุกภาค

เป็นการออกนโยบายที่เข้าใจวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยแบบสุดๆ

รายละเอียดของ “หวยบำเหน็จ” นี้ สรุปสั้นๆ คือ ขายหวยเดือนละ 1 ครั้ง ในรูปแบบสลากการออมแห่งชาติ ถ้าถูกรางวัลก็นำไปขึ้นเงิน แต่หากไม่ถูกรางวัล ก็นำเงินที่ซื้อหวยในแต่ละงวดไปรวมไว้ในกองทุน สะสมไว้ โดยเอาใบสลากไปฝากเข้าบัญชีฝากระยะยาว และจะได้เงินต้นค่าสลากกลับคืนครบทุกบาทพร้อมดอกเบี้ยเมื่ออายุครบ 60 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ถ้าซื้อแล้วจะได้เงินสะสมเป็นเงินช่วยฌาปนกิจศพ ได้เงินคืนทุกบาทเมื่อเสียชีวิต

โดยรัฐบาลจะแยกเงินนี้ไว้เป็นเงินออมของประชาชนนำใส่เข้าไปในกองทุนการออมแห่งชาติ

ราคาสลากสามารถซื้อได้ที่ใบละ 50 บาท ซึ่งรางวัลต่องวดใกล้เคียงกับสลากออมสิน

นโยบายออกมาได้รับการตอบรับเกินคาด ประชาชนแห่แชร์ บวกกับ 2 แคมเปญสุดท้ายที่ปล่อยหมัดเข้าเป้าจังๆ อย่าง “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” และ “พอแล้ว! นักการเมืองดัดจริต ต่อชีวิตเผด็จการ” ที่เพิ่งปล่อยออกมาสดๆ ร้อนๆ ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน คนกล่าวถึงเกินคาด

ทำให้ที่นั่งที่คาดหวังไว้ที่ 200 ที่นั่ง ดูน่าจะเป็นไปได้เข้ามาทุกที

แต่จุดอ่อนเดียวที่มีคือ “จำนำข้าว” เช่นเดิม

ดังนั้น ช่วงนี้เราจึงได้เห็นกระบวนการขุดคดีจำนำข้าวขึ้นมาเล่นอีกครั้ง โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสองของ ป.ป.ช. มีคำสั่งไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 71 ราย รวมไปถึงผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้านายสายตรงของ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ปัจจุบันถูกคุมขังตามคำพิพากษาให้จำคุก 42 ปีอยู่

ทั้งนี้ ระหว่างที่ “นายบุญทรง” ถูกพิพากษาจำคุกในคดีระบายข้าวแบบจีทูจีล็อตแรกนั้น มีกระแสข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช.เข้าไปสอบปากคำเพิ่มเติมถึงในเรือนจำ และหลังจากมีข่าวไม่นานประมาณปลายเดือนตุลาคม ปี 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติให้ไต่สวนนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนางเยาวภา ก่อนที่คณะอนุกรรมการไต่สวนจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้ง 3 คนเสียอีก

หลายเสียงจากพรรคเพื่อไทยพากันงงเป็นไก่ตาแตกว่า เหตุใดข่าวเรื่องการดำเนินการสอบสวนคดีจำนำข้าวล็อตสองถึงมาเปรี้ยงเอาช่วงใกล้วันเลือกตั้งอย่างนี้

และงงไปอีกเมื่อมีการโยงไปถึงชื่อ “นายทักษิณ” ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมาหลายสิบปีแล้ว

และหากจะสู้คดีกันจริงๆ ก็ต้องมาดูกันว่า โครงการจำนำข้าวดำเนินการโดยข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ แล้ว “ทักษิณ” จะเข้ามาเกี่ยวข้องตอนไหน อย่างไร

แต่แน่นอนว่าทำให้การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” ที่แม้จะยืนยันว่าตัวโครงการจำนำข้าวไม่ผิด แต่พยายามไม่แตะเรื่องจำนำข้าว หรือการให้ราคาข้าวเท่าใดนัก จะมีแตะบ้างก็แตะไว้หลวมๆ ไม่ลงรายละเอียด แล้วเลือกชูนโยบายด้านอื่นๆ ขึ้นมาแทน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน “พรรคเพื่อไทย” ได้ปล่อย 10 นโยบาย เพื่อ “คนรุ่นใหม่” ออกมาอีก ได้แก่

1. กองทุนคนเปลี่ยนงาน พัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่

2. บัตรทอง Start Up เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับสิทธิพิเศษในการสร้างธุรกิจ ยกเว้นภาษีนำเข้าปัจจัยการผลิต ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-5 ปี

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 ปี แก่ธุรกิจเกิดใหม่ และให้ SME เริ่มจดทะเบียนสามารถทําใบกํากับภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเหมาจ่าย 1%

4. จัดตั้งสถาบันพัฒนารายได้ทั่วประเทศ ให้คนรุ่นใหม่ ธุรกิจเกิดใหม่เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม

5. ยกเลิกใบอนุญาตที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ จาก 1,500 ชนิด ให้เหลือ 300 ชนิด

6. จัดตั้งศูนย์สร้างเถ้าแก่ใหม่ เชื่อมองค์ความรู้คำปรึกษาเพื่อสร้างธุรกิจแก่คนรุ่นใหม่

7. พัฒนาคนไทยเป็นพลเมืองโลก เรียนฟรีต้องฟรีจริง โครงการ 1 วันวิชาอนาคต โรงเรียนออนไลน์

8. ปรับโครงสร้างหนี้ นักเรียน นักศึกษา ที่กู้ผ่านหน่วยงานของรัฐ

9. จัดสรรพื้นที่การค้าให้ Street Food และร้านค้าแผงลอย

และ 10. ยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ

ที่ออกมาช่วงนี้ก็เพื่อหวังมัดใจคนรุ่นใหม่ และชาวเฟิร์สต์โหวตที่มีมากกว่า 8 ล้านคน หวังว่าครั้งนี้จะไม่เริ่มต้นแข่งกันที่นโยบาย แล้วจบลงที่คดีความแบบที่ผ่านๆ มาอีก