วิเคราะห์ : ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้าที่มาเลเซีย

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

9 มีนาคม 2562 ภาพข่าวสื่อไทยในโลกโซเซียลต่างรายงานข่าว บรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีประชาชนคนไทยในประเทศมาเลเซีย มายืนรอการเลือกตั้งล่วงหน้าที่สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จำนวนกว่า 3,000 คน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ได้จัดให้มีช่องทางลงคะแนนในการใช้สิทธิ จำนวน 3 คูหา จึงทำให้ประชาชนคนไทยที่เดินทางมารอใช้สิทธิต่างต้องรอกันเป็นเวลานาน

ขณะที่บางคนที่มารอใช้สิทธินานมากในขณะที่มีอากาศร้อน ทำให้คนที่ล้นอยู่ด้านนอกเป็นลมไปหลายราย

และบางคนได้เดินทางมารอใช้สิทธิกันตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งท้ายสุด กกต.ประกาศขยายเวลาการลงคะแนนใน 10 มีนาคม 2562

ไม่เพียงเท่านั้น สังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพการจัดการเลือกตั้งที่นี่ โดยคูหาหนึ่ง เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาเพิ่มคูหาลงคะแนน โดยใช้กระดาษลังมาทำเป็นคูหา

ทำให้ประชาชนมีคำถามมากมายต่อภาพนี้ถึงมาตรฐาน กกต.ประเทศไทย

อันส่งผลลัพธ์ต่อภาพพจน์ประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมถาม กกต.ว่าทำไมมีงบฯ มากมายหลายสิบล้านไปดูงานต่างปะเทศได้

แต่เลขาธิการ กกต.กลับชี้แจงว่า “การใช้กระดาษลังมาทำคูหาไม่ผิด แต่อาจไม่สวยงาม”

จาก Facebook Shakrit Chanrungsakul

หลานสาวผู้เขียน นางสาวฮุสนา ดินอะ นักศึกษาไทยซึ่งกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัย USIM ได้กล่าวเหตุผลว่าทำไมคนไทยจึงไปใช้สิทธิจำนวนมาก ยอมเข้าแถวนาน 4-5 ชั่วโมงว่า

“รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ เหมือนกับนักศึกษาไทยอื่นๆ ถึงแม้ต้องรอท่ามกลางอากาศร้อนก็มีความรู้สึกภูมิใจจะได้ช่วยชาติร่วมวาดภาพความฝันการเมืองการปกครองและอนาคตชาติ”

ความเป็นจริงการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงในมาเลเซียไม่ใช่ที่สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ อย่างเดียว เพราะคนไทยในมาเลเซียมีแสนกว่าคน อยู่ทั่วประเทศมาเลเซีย ดังนั้น จึงจัดไว้หลายที่ เช่น จัดที่วัดพุทธชยันตี เมือง Johor Bahru วัดสาไทย เมือง Kuching

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู

ร้านอาหาร Sara Thai Kitchen (ตรงข้ามโรงแรม Grand Continental) เมือง Kuantan

ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทยในหลายมหาวิทยาลัย เช่น USIM, IIUM, UM, UKM, USM, UUM และอีกหลายสถาบัน รวมทั้งคนที่มาทำงานที่นี่ ทำงานบริษัท ทำงานตามร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย ทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ แต่จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงทะเบียนมากที่สุด 1,012 คนจากที่ลงทะเบียนทั้งหมด 4,138 คนที่ลงทะเบียน กับสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

คนไทยที่ไปอยู่ในมาเลเซียประมาณ 1 แสนคนซึ่งส่วนใหญ่จะยอมกลับมาลงคะแนนในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งด่านต่างๆ ที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าด่านนอก, ปาดังเบซาร์ ประกอบ นาทวี ของจังหวัดสงขลา ด่านต่างๆ ที่สตูล ยะลา และนราธิวาส

ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี

นางสาวรุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ประจำสาขาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา ได้กล่าวต่อผู้เขียนว่า “วันนี้ ณ หน่วยเลือกตั้งเคแอล มีบางคนลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่นี่แล้ว แต่ปรากฏว่าตรวจสอบแล้วไม่มีชื่อ เลขที่พาสปอร์ตตามที่ได้ลงทะเบียนไป เธอก็บอกว่าไม่เป็นไรค่ะ ฉันไม่ยอมแพ้ ต่อให้ไม่มีชื่อที่นี่ ก็จะกลับไปเลือกที่บ้าน”

“นี่คือความพยายามของคนมาใช้สิทธิ”

“ในขณะที่ข้อสังเกตประการแรกคนไทยในมาเลเซียตื่นตัวมาก ลงทะเบียนทั้งหมดสี่พันกว่าคน คิดว่าคนไทยที่นี่ซึมซับหรือได้เห็นการเลือกตั้งในมาเลเซียที่ผ่านมา ที่เสียงของประชาชนสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

“ในจำนวนคนที่มาลงที่สถานทูต นอกจากคนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีคนจากภาคอื่นๆ ด้วยไม่ใช่คนมุสลิมอย่างเดียวนะ คนอีสาน เหนือก็เยอะ”

“สาเหตุที่ทำให้ช้าเพราะการเลือกตั้งแบบใหม่ ต่างเขตก็ต่างเบอร์แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน บัตรต้องแยกเป็นเขตๆ เขาต้องหาให้เจอเราอยู่เขตไหน ทีนี้พอคนเยอะๆ คิวยาว ทำไม่ทัน แต่สำหรับบัตรเลือกตั้งไม่มีปัญหา จะได้บัตรกันหมดทุกคน ได้ลงทุกคน”

“อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ล่าช้าคือ คูหา แค่สามคูหา กับจำนวนคนสี่พันกว่าคน ถึงแม้สถานทูตทำงานหนักแก้ปัญหาได้ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าคนลงทะเบียนจำนวนมาก ดังนั้นต้องเตรียมให้ดี (เขาเตรียมการมาไม่ค่อยดีมากๆๆ) ทำไม แต่หลายประเทศก็จัดการได้ดี เช่น ที่ออสเตรเลียคงได้งบฯ เยอะจัดเลือกตั้งที่ โรงแรม”

“สิ่งที่อยากเสนอแนะคือ การเตรียมการวางแผนรองรับค่ะ ในเมื่อรู้จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนแล้วต้องวางแผนได้ว่าจะต้องมีกี่คูหา เจ้าหน้าที่กี่คน และระยะเวลาที่ให้ลงด้วยค่ะ ลองมาดูงานการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของประเทศอินโดนีเซียดูว่าเขาจัดการอย่างไรกับคนอินโดนีเซียที่ลงคะแนนเสียงกว่าแสนคน”

สิ่งที่นักวิชาการและนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่สนใจคือ การจับตาการเลือกตั้งต่างประเทศของไทยที่มีข่าวหนาหูว่าอาจมีช่องว่างสามารถโกงการเลือกตั้งด้วยวิธีต่างๆ ได้

เช่น มีข่าวร้องเรียนแล้วที่ประเทศสหรัฐเกี่ยวกับใส่ข้อมูลคลุมเครือ ชื่อพรรคไม่ถูกต้อง อาจจงใจให้ผู้ลงคะแนนสับสน

ที่สำคัญ ในหลายประเทศมุสลิมที่มีนักศึกษาไทยเรียนจำนวนมาก เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ซูดาน นักศึกษาไทยที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าที่อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ประเทศเหล่านี้ สันติบาลไทยน่าจะประเมินออกว่าผลการลงคะเเนนล่วงหน้าต่างประเทศจะเทไปพรรคไหน? เป็นผลดีต่อรัฐที่ต้องการสืบทอดอำนาจหรือไม่

ท่ามกลางโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งความรุนแรงจากเดิมอยู่ในสามจังหวัด แต่ 9 มีนาคม 2562 เกิดเหตุระเบิดหลายจุดทั้งใน จ.สตูล และ จ.พัทลุง ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก มีบางจุดเป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์

ดังนั้น ก็ขอพรต่อพระเจ้าไม่ให้เหตุการณ์ครั้งนี้บานปลายนำไปสู่ความชอบธรรมให้ใครประกาศเลื่อนการเลือกตั้ง

และเรียกร้องทุกคนออกไปใช้สิทธิอย่างจิตอาสาอย่างท้วมท้นเพื่อแสดงเจตจำนงของการทวงอำนาจประชาชน