สุจิตต์ วงษ์เทศ/ วรรณกรรม ‘ขั้นเทพ’ มีไว้เสพ แต่ไม่ติด

วรรณกรรม "ขั้นเทพ" อ่านอร่อย ย่อยง่าย สบายมาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

วรรณกรรม ‘ขั้นเทพ’

มีไว้เสพ แต่ไม่ติด

 

“การอ่านซ้ำ เป็นความบันเทิงอันยิ่งใหญ่ที่วรรณกรรมมอบให้กับเรา

วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นแหล่งความบันเทิงที่ไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้วรรณกรรมยิ่งใหญ่ ไม่ว่าเราจะหวนกลับไปอ่านบ่อยแค่ไหน วรรณกรรมมักมีสิ่งใหม่ๆ มานำเสนออยู่ทุกครั้งทุกครา”

คัดจากหนังสือ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ โดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ [แปลจาก A Little History of Literature โดย John Sutherland] พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Bookscape มีนาคม 2561

ผมซื้ออ่านนานมากตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้ชอบ แต่อ่านช้ามาก เพราะพื้นฐานมีน้อยจึงไม่เอื้อให้เข้าใจได้เร็วเมื่ออ่านหนังสือแปลจากฝรั่ง ทำให้เพิ่งเก็บสิ่งดีๆ มาเล่าสู่กันอ่าน

“วรรณกรรมที่ดีเลิศไม่ได้ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น แต่มันช่วยขยายขอบเขตจิตใจและความรู้สึกอันละเอียดอ่อน จนมาถึงจุดที่เราสามารถจัดการกับความซับซ้อนต่างๆ ได้ดีขึ้น แม้ว่าบ่อยครั้งเราอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราอ่านเสียทีเดียว”

ถ้าอย่างนี้แล้วอ่านวรรณกรรมทำไม? คำอธิบายในหนังสือเล่มนี้มีว่า

“ก็เพราะว่าวรรณกรรมทำให้ชีวิตรุ่มรวยขึ้นในแบบที่ยากจะหาสิ่งใดเทียบเทียม

วรรณกรรมทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น และยิ่งเราเรียนรู้ที่จะอ่านวรรณกรรมให้ดีมากขึ้นเท่าไร วรรณกรรมก็ยิ่งทำหน้าที่ของมันได้ดีขึ้นเท่านั้น”

คือทำให้ต้องอ่านซ้ำ เป็นไปตามที่หนังสือเล่มนี้บอกต่อไปว่า วรรณกรรมมีไว้เสพ เมื่อเสพเสร็จแล้ววรรณกรรมยังคงอยู่ ซึ่งต่างจากอาหารในจานที่กินแล้วหมดไป เมื่อต้องกินจานใหม่รสชาติอาจเปลี่ยน แต่วรรณกรรมส่วนใหญ่แล้วยังคงมีรสชาติชวนลิ้มลองเหมือนครั้งแรกที่เสพ

เวลาเหลือไม่มากเมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์กว้างขึ้น วรรณกรรมยิ่งมีรสชาติหลากหลายให้เลือกเสพและเลือก “จินตนาการใหม่” ยิ่งกว่าตอนเรามีอายุไม่มากและประสบการณ์ไม่กว้าง

 

ตำนานนิทาน

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยถูกถามว่าจะทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้อย่างไร?

คำตอบของไอน์สไตน์ คือ “อ่านนิทานให้ฟัง และถ้าอยากให้เด็กฉลาดกว่านั้น อ่านนิทานมากขึ้น”

และบอกอีกว่าพ่อแม่ต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่เด็กๆ ชอบ และไม่หยุดอ่าน แม้เด็กจะอ่านเองได้แล้ว

[สรุปจากข้อเขียนเรื่อง หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได (จบ) ของ ประชา สุวีรานนท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 40]

หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญการอ่านตำนานนิทานตั้งแต่เริ่มบทแรกๆ ในขณะที่การศึกษาไทยไม่ให้ค่าของบรรดาตำนานนิทาน ซึ่งมีไม่น้อยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรบนสมุดข่อย, ปั๊บสา, ใบลาน ฯลฯ และอีกไม่น้อยอยู่ในความทรงจำเท่านั้น

 

อีดิปัสกับพญาพาน

 

ตํานานกรีกเรื่องอีดิปัส ผู้ฆ่าพ่อแล้วเอาแม่ทำเมีย [ซึ่งเป็นต้นตอของนิทานพญาพาน พญากง ตำนานพระปฐมเจดีย์] ผมตามล่าหามาอ่านหลายสำนวนที่แปลเป็นภาษาไทย

แต่ทุกสำนวนแปล ไม่ทำให้เข้าใจสาระสำคัญ จึงเฝ้าแต่ลงโทษตนเองที่งี่เง่าและโง่งมจึงอ่านอีดิปัสหลายสำนวนเหล่านั้นไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่อง

เพิ่งคิดว่าอ่านรู้เรื่องบ้างอย่างเต็มใจ เมื่อได้อ่านสำนวนแปลของ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ ในเล่มนี้ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ ใครมีปัญหาเหมือนที่ผมเคยมี ขอแนะนำอ่านในเล่มนี้เรื่องอีดิปัส

ตำนานนิทาน เป็นหลักฐานเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้า

เหตุจากน้ำเต้ารูปร่างเหมือนมดลูกของแม่ จึงบอกความรู้สึกว่าคนทั้งหลายในภาคพื้นทวีปเป็นเครือญาติพี่น้องท้องแม่เดียวกัน

 

ขุนช้างขุนแผน

 

ขุนช้างขุนแผน มีต้นตอจากตำนานวีรบุรุษ (พบหลักฐานในคำให้การชาวกรุงเก่า) ผมเคยเชื่อแล้วเคยเขียนหลายครั้ง

ยิ่งอ่านเมื่อเวลาเหลือไม่มาก ก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น แล้วเชื่อเพิ่มกว่าแต่ก่อนว่าขุนช้างขุนแผนเป็นมหากาพย์พัฒนามาจากตำนานวีรบุรุษ โดยพัฒนาขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากคนนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ พูดไต-ไท เป็นภาษากลาง กำลังกลายตนเป็นไทย บรรพชนคนไทยทุกวันนี้

สังคายนาวรรณกรรมไทย

วรรณกรรมไทยถูกจับผูกไว้กับประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นผลผลิตของการเมืองชาตินิยมเมื่อไม่นานมานี้ โดยเชื่อว่า “เชื้อชาติไทย” มีจริง จึงเชื่ออีกว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก และพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย ดังนั้นจารึกพ่อขุนฯ เป็นวรรณกรรมชิ้นแรกสุดของไทย

แต่หลักฐานมานุษยวิทยาโบราณคดี กลับตรงข้ามดังนี้

เชื้อชาติไทยไม่มีจริง แต่เป็นนวัตกรรมของเจ้าอาณานิคมยุโรป เพิ่งแพร่เข้าถึงคนชั้นนำสยามราวหลัง ร.5

กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก เพราะราชธานีแห่งแรกไม่มี นักปราชญ์ไทยร่วมสมัยบอกว่าแนวคิดราชธานีมาจากโลกตะวันตกล้วนๆ

จารึกพ่อขุนฯ ไม่เป็นวรรณกรรมชิ้นแรก เพราะอักษรไทยดัดแปลงจากอักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่ายเพื่อใช้แทนเสียงตระกูลภาษาไต-ไท ก่อนหน้านี้ใช้อักษรเขมรเขียนวรรณกรรมภาษาไทย เรียกขอมไทย

ควรสังคายนากันใหม่เรื่องวรรณกรรมไทย [สิงห์ สนามหลวง ชวนไว้เมื่อไม่นานนี้] ทั้งในแง่ประวัติความเป็นมาของภาษา และพัฒนาการของวรรณกรรม