ในประเทศ : ส่องสเป๊กคัด “250 ส.ว.” มือที่มองเห็นร่วมชี้ขาดนายกฯ

แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีอาการลังเลอยู่บ้าง จากการ “คบซ้อน” โดยเฉพาะในสถานะที่มีหมวกใบที่สามเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ

เป็นอาการลังเลหลังแกนนำพลังประชารัฐวางคิวเตรียมให้ขึ้นปราศรัยหาเสียงกับพี่น้องประชาชนช่วงโค้งสุดท้ายใน 4 จุดใหญ่ๆ โดยเริ่มจากภาคอีสาน จ.นครราชสีมาบ้านเกิด ในวันที่ 10 มีนาคม จากนั้นขึ้นเหนือไป จ.เชียงราย ล่องใต้ที่ จ.นราธิวาส ก่อนกลับมาปิดท้ายกับชาวกรุงที่สวนลุมพินีในวันที่ 22 มีนาคมนี้

โดยเฉพาะความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการกระทำหรือคำปราศรัยที่อาจส่อผิดข้อกฎหมายที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะรองประธานศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ประกาศตั้งทีมติดตาม “ดักทาง” ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อหาเหตุแห่งการยื่นเอาผิดกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยเฉพาะสถานะที่เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” จากตำแหน่งนายกฯ หมวกอีกใบที่จะต้องวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด

กระทั่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องส่งสัญญาณถอย จากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุด จนแกนนำพรรคพลังประชารัฐต้องปรับแผน รื้อคิวขึ้น 4 เวทีปราศรัยทิ้งออกจากแผนเดิมที่วางไว้ทั้งหมด

“มันก็ก้ำกึ่ง ต้องระมัดระวังไว้ก่อน หลายคนก็จ้องตาเป็นมัน เอาแล้ว เตรียมขึ้นเขียงแล้ว ต่อไปนี้จะเตรียมฟ้อง คือตั้งแท่นรอฟ้องไว้เลย ผมก็ต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายให้ดีว่าจะทำอะไรได้บ้าง เห็นใจผมเถอะ อย่าเอาเป็นเอาตายกับผมนักเลย”

พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

 

แน่นอนว่า นอกจากหมวกอันเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและหมวกอันเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีหมวกอีกใบเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ 2560

โดยเฉพาะอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 269 ในการชี้ขาดเลือก 250 ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการเลือกตั้งทั่วไป และต้องเสร็จและประกาศชื่อภายใน 3 วันหลังจากที่มีประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว อย่างที่ทราบ ตามรัฐธรรมนูญได้แบ่งที่มา ส.ว. ไว้ 2 ช่องทาง

ทางแรก ให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ สู่การคัดเลือกในระดับชาติ จำนวน 200 คน แล้วจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเสนอต่อ คสช. โดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มอาชีพและตามวิธีการสมัครเพื่อให้ คสช.คัดเหลือ 50 คน

เป็น 50 คนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขอไว้ เพื่อเป็นการทดลองวิธีการใหม่ที่ กรธ.ได้คิดค้นขึ้นเพื่อรอบังคับใช้เป็นบทบัญญัติหลักที่จะต้องใช้จริงภายหลังจากพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกไปแล้ว

แน่นอนว่า วันนี้ 200 รายชื่อสุดท้ายตามที่ กกต.ได้ดำเนินการ โดยใช้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาทได้ถูกส่งถึง คสช.แล้ว โดยรายชื่อคนเด่นดังที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกจัดให้เป็น 1 ในบัญชีเพื่อรอให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คนตามที่ถูกแง้มออกมา

มีรายชื่อของบุคคลจำนวนหนึ่งที่ให้จับตาไว้ อาทิ นายศุภชัย สมเจริญ กับนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ 2 อดีต กกต.ที่ถูก คสช.เซ็ตซีโร่ พ.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (ผบช.ภาค 4) และอดีตที่ปรึกษานายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต.

และ “เสธ.อู้” พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นต้น

 

ทางที่สอง อีก 194 คน ให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้แต่งตั้งแล้ว โดยมอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวโต๊ะดำเนินการ หามา 400 รายชื่อ

จากนั้นเสนอให้หัวหน้า คสช.เลือกให้เหลือ 194 คน เพื่อนำไปรวมกับตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพอีก 6 ตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมเป็น 200 คน

ล่าสุด มีกำหนดส่ง 400 รายชื่อภายในวันที่ 9 มีนาคมนี้ สำหรับสเป๊กก็แน่นอน บิ๊ก คสช.ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ข้าราชการประจำ สามารถจิ้มๆ ได้เลย ไม่จำเป็นต้องถามความสมัครใจจากผู้ที่ถูกเสนอชื่อ เพราะพิจารณาจากชื่อที่เสนอเข้ามาเป็นส่วนใหญ่

“แนวทางการสรรหาคงไม่ยากลำบาก จะเอาจากคนที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำมาประกอบกัน” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ

แน่นอนว่าการประกาศจะเอาทั้ง สนช. สปช. และ สปท. มาเป็น ทำให้พอเห็นภาพได้ว่า ส.ว.ชุดต่อไปจะมีหน้าตาอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพจำที่เป็น “สภาฝักถั่ว” ลงมติกี่ครั้งกี่เกมเห็นชอบแบบเอกฉันท์เป็นส่วนใหญ่

ยิ่งตามบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ด้วย โดยที่ผู้แต่งตั้ง 250 ส.ว.เป็นคนคนเดียวกับที่เซ็นยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐใช้ชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย

ส.ว.โดย คสช.จึงเปรียบเสมือนทายาท เป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงเป็นเอกภาพรอไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องหาเสียงกับประชาชน

 

นี่จึงทำให้การคบคิดสืบทอดอำนาจหลังจากการเลือกตั้งของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นข้อครหาที่แก้เท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประเด็นดังขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ชี้แล้วชี้อีกว่า ส.ว.โดย คสช. เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างไม่ต้องสงสัย แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าแต่ละท่านมีสมอง สามารถตัดสินใจได้เอง

แต่ถ้าดูจากกระบวนการสรรหาแล้ว ก็ต้องถามว่า ทำไมไม่ทำอย่างโปร่งใส โดยเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งตัวผู้ที่ถูกเทียบเชิญเป็น ส.ว. หรือแม้แต่คณะกรรมการคัดสรร ที่วันนี้รู้แค่เพียงว่ามี พล.อ.ประวิตรเป็นประธานเท่านั้น

มิหนำซ้ำปม 250 ส.ว. ยังถูกพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อปลุกประชาชนเลือกให้ขาดว่า จะเอาหรือไม่เอาเผด็จการ คสช.ในการเมืองไทยด้วย

อย่างที่ “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษา และหัวหน้าทีมปฏิบัติการศูนย์ต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง (ศตท.) พรรคเพื่อไทย ชี้หนทางที่จะเอาชนะเสียง ส.ว.ที่ คสช.คุมได้ โดยพี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิจะต้องออกมาเลือกตั้งกันอย่างท่วมท้น ออกมาเพื่อร่วมกันพิพากษาโทษไม่เลือกผู้นำเผด็จการกลับมาอีก

เพราะหากพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงในสภารวมกันไม่ถึง 375 เสียงขึ้นไป ก็ยากที่จะเพียงพอสำหรับเอาชนะกลไกในการสืบทอดอำนาจที่ คสช.วางไว้ได้