หลังเลนส์ในดงลึก : ว่าด้วยเรื่อง “สมเสร็จ” กับ “ทางเส้นเดิม”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2559

ผมกลับมาที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกด้วยความตั้งใจที่จะ “ซ่อมงาน” มีรูปที่ต้องการและเรายังไม่มี เพื่อใช้ในหนังสือที่จะแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมอุดมสมบูรณ์ในการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าและพืชพรรณในป่าแห่งนี้

หลังจากใช้เวลามาแล้วกว่า 3 ปี

ครั้งนี้ผมต้องการเพียงภาพเดียว ตั้งใจว่าจะใช้เวลาสัก 4 เดือนในการทำภาพภาพนี้

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีประชากรสัตว์ป่ามากแต่อยู่ในสภาพที่เราพูดเล่นบ่อยๆว่า ที่นี่มีแต่ “สัตว์ป่าหายาก”

บนเส้นทางไม่ว่าจะเป็นทางรถหรือทางด่าน

สิ่งที่พบเห็นตลอดคือร่องรอยสัตว์ป่า

เก้ง กวาง ส่งเสียงหรือเดินเข้ามาในหน่วยพิทักษ์ป่าเสมอ

บนทางด่านเสียงกระทิงวิ่งโครมๆ ไม่ก็เผชิญหน้ากันอย่างกะทันหัน สัตว์ผู้ล่าผู้อยู่บนสุดอย่างเสือโคร่งจะเห็นรอยตีนของมันอยู่บนเส้นทางเดียวกับที่เราใช้

บางค่ำคืนมีเสียงคำรามอยู่ใกล้ๆ หลักฐานอันแสดงให้เห็นว่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีประชากรสัตว์ป่าชุกชุมคือภาพจากกล้องดักถ่าย

ใกล้ทางรถไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าเพียงวันแรกที่ตั้งกล้องไว้เราก็พบว่าเสือโคร่งตัวผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอาณาเขตเดินผ่านหน้ากล้องแล้ว

มีสัตว์ป่าอยู่รอบๆ แต่เมื่อตั้งใจที่จะหาให้พบเพื่อกดชัตเตอร์บันทึกภาพดูเหมือนพวกมันจะกลายเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพ “สัตว์ป่าหายาก” เสมอๆ

สมเสร็จ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

คือภาพที่ผมกำลังตามหา

ว่าไปแล้วถึงวันนี้สัตว์ซึ่งมีวิถีค่อนข้างลึกลับอย่างสมเสร็จ ดูจะไม่ใช่ชีวิตแปลกหน้าแล้ว แม้ว่าเรายังไม่รู้จักวิถีของมันมากนัก แต่ก็มีรูปสมเสร็จมากมาย มีคนจำนวนไม่น้อยมีโอกาสพบเจอ

ในงานวางกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง

ภาพที่ได้มากพอๆ กับเสือคือภาพ สมเสร็จ

รู้ว่าพวกมันอยู่ที่ไหน

เฝ้ารอตามจุดที่คาดว่ามันจะมา

เดินไปตามเส้นทางเดิมทุกๆ วัน

รอตั้งแต้เช้ามืด ถึงพลบค่ำ

วันนี้มีเทคโนโลยีช่วยให้ได้ภาพโดยไม่ต้องเฝ้ารออีกแล้ว

แต่เพื่อให้ “เห็น” ได้รูปอย่างมีความหมายและ “คมชัด” อยู่ในหัวใจ

บางทีคงต้องใช้ “วิถี” แบบเดิมๆ

 

บนเส้นทางที่เดินผ่านทุกวัน

มีโป่งเล็กๆ แห่งหนึ่ง

“โป่งนี้สัตว์มากินฟรีก็ได้ ตายก็ได้” หลายวันก่อน ผมเดินตาม “พี่นพ” นพรัตน์ นาคสถิตย์ นักสื่อความหมาย รุ่นครู เขาพูดเมื่อเดินผ่านโป่งนี้ และอธิบายต่อ

“ต้นไม้สามารถขึ้นในพื้นที่ที่มีแร่ธาตุอาหารเข้มข้นมากน้อยไม่เท่ากัน ทำให้สัตว์กินพืชได้รับสารอาหารแร่ธาตุน้อยไม่พอกับความต้องการของร่างกาย หากจะกินพืชเพิ่มอีกต้องหากินเพิ่มจำนวนมากและอาจล้ำเข้าไปในถิ่นหากินของผู้อื่น ต้องต่อสู้ ได้รับบาดเจ็บ หรือตายได้ ในการดำเนินชีวิต บางครั้ง เจ็บป่วย ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือคลอดลูก ร่างกายจำเป็นต้องหาแร่ธาตุทดแทน บำรุงอย่างเร่งด่วน หนทางที่ดีคือหากินโดยตรงจากโป่ง”

เก้ง ซึ่งอยู่ในโป่ง เงยหน้าขึ้นสูดกลิ่น เมื่อเราเดินผ่านและกระโดดหายเข้าไปในดงหญ้าทึบ

“โป่ง ส่วนใหญ่สภาพทั่วไปค่อนข้างโล่ง” พี่นพ อธิบายต่อ

“สัตว์ผู้ล่าจะมาแอบซุ่ม คอยจังหวะ การออกมาที่โป่งจึงต้องระวังอย่างนี้แหละ”

สัตว์กินพืช ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับงานในหน้าที่ในฐานะของผู้ควบคุมปริมาณพืช ลวดลายหรือสี จะกลมกลืนกับสภาพที่อยู่ แต่การพรางตัวในที่โล่งใช้ไม่ได้ผล เหล่าสัตว์กินพืชจึงมากินแร่ธาตุในโป่งพร้อมๆ กัน ขณะกิน จะมีตัวหนึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์รอบๆ

เฝ้าดูอยู่แถวๆ โป่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่า จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

เราเดินผ่านต้นปรงขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง

“ปรง เป็นต้นไม้โบราณเกิดมา 360 ล้านปีแล้ว” พี่นพ มองที่ต้นปรง

“ปรง พัฒนาตัวเองให้อยู่รอดมาถึงวันนี้ด้วยการเติบโตแบบช้ามากๆ มันสร้างสารลิกนิน ให้ลำต้นแข็งแรง เปลือกหนา เป็นฉนวนกันไฟ แตกรากชุดหนึ่งให้ลงลึก สามารถสะสมอาหาร รากอีกชุดแผ่ออกด้านข้าง หาอาหารโดยเอื้อที่อยู่ให้กับแบคทีเรีย เพื่อช่วยย่อยแร่ธาตุอาหาร เพิ่มขีดความสามารถให้อยู่ในที่แห้งแล้งได้”

ผมมองต้นปรง ด้วยสายตาและหัวใจที่ยอมรับนับถือมากยิ่งขึ้น

“ดูใบมันสิ” พี่นพ พูดต่อ

“ใบต้นปรง อยู่รวมกันเฉพาะที่ปลายลำต้น เรียงตัวเป็นรัศมีวงกลมจึงรับแสงแดดได้เต็มที่ทั่วถึง ใบย่อยแต่ละใบแข็งแรง เหนียว ปลายใบแหลมคมช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์กินง่ายๆ”

คำอธิบายของนักสื่อความหมายทำให้เห็นภาพการออกแบบสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่บนโลกใบนี้ว่า ละเอียด ลึกซึ้ง สอดคล้องในการอาศัยอยู่ร่วมกันเพียงใด

“ส่วนใบอีกชุดพัฒนาเป็นเกร็ดเล็กๆ จำนวนมากจัดรูปร่างให้เป็นแท่งเรียกว่า โคนตัวผู้ ภายในมีสปอร์ ใบอีกชุดอยู่อีกต้นพัฒนาเป็นโคนตัวเมีย การผสมพันธุ์เกิดขึ้นได้โดยด้วงขนาดเล็ก บินไปกินสปอร์แล้วบินกลับมาที่โคนตัวเมีย สปอร์จึงเดินทางไปผสมกันได้ เมล็ดที่เกิดขึ้นจัดเป็นกลุ่มโบราณ ไม่มีเนื้อห่อหุ้ม แต่ภายในเมล็ดมีแป้งเป็นอาหารให้ต้นอ่อน

แป้งนี้มีสารพิษ อันตรายต่อระบบย่อยอาหาร แต่พอแก่ สัตว์ฟันแทะ อย่าง กระรอก หนู กินได้ นี่ทำให้การกระจายพันธุ์ให้ห่างจากต้นแม่เกิดขึ้น”

ต้นไม้ต้นหนึ่งเมื่อสังเกต ทำความรู้จักให้ถ่องแท้

ความจริงที่มีอยู่ย่อมปรากฏให้เห็น

ความเป็นจริงที่ว่า

ธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด

 

“ได้รูปสมเสร็จ อย่างที่ตั้งใจหรือยัง”?

ขณะนั่งพักอยู่บนโขดหินริมลำห้วยสายเล็กซึ่งมีน้ำไหลรินๆ นักสื่อความหมายถาม

“อย่างที่ตั้งใจยังไม่ได้ครับ” ผมตอบ

หลายเดือนก่อน ผมใช้เวลากว่าเดือนในป่าอีกแห่ง เพื่อรอสมเสร็จเพราะอยากรู้ข้อมูลเบื้องต้นว่า สมเสร็จมีระยะเวลาในการเดินรอบหนึ่งกี่วัน

ผมได้คำตอบว่า ราว 23 วัน มันวนกลับมาที่เดิม

รายละเอียดอย่างลึกซึ้งของสิ่งที่เฝ้ารอ บางอย่างไม่สามารถมองเห็นได้โดยผ่านเพียงภาพที่อาศัยเทคโนโลยี

ไม่แปลกอะไร ที่จะรู้สึกตัวเล็กลงเมื่อได้รู้จักสิ่งยิ่งใหญ่ที่อยู่รอบๆ ตัว

ไม่แปลกอะไรที่จะรู้ได้ว่า เราเรียนรู้ได้เพิ่มขึ้นเสมอ

แม้จะเดินไปบนทางเส้นเดิม

ที่เดินอยู่ทุกวัน