กรองกระแส / เลือกตั้ง 2562 พลังเก่า ปะทะ พลังใหม่ ทำลายล้าง การเมือง

กรองกระแส

เลือกตั้ง 2562

พลังเก่า ปะทะ พลังใหม่

ทำลายล้าง การเมือง

 

ไม่ว่าการเสนอแนวคิดในเรื่องการต่อยอดการพัฒนาเป็นคนละอย่างกับการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าการเสนอแนวคิดในเรื่องการพูดถึงปากท้องของประชาชนคือนโยบาย ขณะที่การเสนอในเรื่องประชาธิปไตยและเผด็จการมิใช่นโยบาย ไม่ว่าการเสนอในเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้งคือความจำเป็นในการปรองดอง

ล้วนเป็นเรื่องของกระบวนทาง “ความคิด” อันจะนำไปสู่การต่อสู้ในทาง “การเมือง” โดยมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการชี้ขาด

เราจึงได้เห็นบางพรรคเสนอบทสรุปว่า “รัฐประหาร” เป็นคนละส่วนกับ “เผด็จการ”

เราจึงได้เห็นบางพรรคการเมืองประเมินว่า จากการเลือกตั้งคือก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยไทยจนถึงขั้นเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

เราจึงเห็นบางพรรคมอง “เศรษฐกิจ” สำคัญเหนือ “การเมือง”

มองเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องราวของความขัดแย้งไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชน ตรงกันข้ามเศรษฐกิจต่างหากคือความสนใจอย่างแท้จริงของประชาชน มิใช่เป็นเรื่องรัฐประหาร เรื่องเผด็จการหรือประชาธิปไตย

ไม่ว่าในเรื่องของ “ความคิด” ไม่ว่าในเรื่องของ “การเมือง” ในที่สุดก็จะนำไปสู่การ “การจัดตั้ง” อันจะมีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกตั้ง

หากความคิดไม่ถูกต้อง การเมืองก็จะเป๋ การจัดตั้งก็จะไม่เป็นผล

 

การสืบทอดอำนาจ

การต่อยอดการพัฒนา

 

พรรคการเมืองที่ต้องการรักษาอำนาจให้กับ คสช. ต้องการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เน้นเรื่องการต่อยอด อธิบายว่าเป็นคนละส่วนกับการสืบทอดอำนาจ เพราะผ่านกระบวนการของการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตย

ถามว่าการมองเช่นนี้สะท้อนวิธีวิทยาในทาง “ความคิด” อย่างไร

ตอบได้เลยว่า เป็นกระบวนการในทางความคิดที่แยกส่วนและตัดตอน มิได้มองถึงรากเหง้าและต้นตอตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่

มองข้ามความเป็นมาของ คสช.อันสัมพันธ์กับรัฐประหาร

มองข้ามความเป็นจริงที่ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารบ้านเมืองมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงเดือนมีนาคม 2558 และจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เพื่อจะบริหารบ้านเมืองต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

เมื่อมองอย่างตัดตอนเสียแล้วก็จะข้ามประเด็นของการรัฐประหารไป ก็จะข้ามประเด็นของการจัดตั้งแม่น้ำ 5 สายเพื่อวางรากฐานผ่านประกาศ คำสั่ง ผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่าน พ.ร.ป.อันเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่าน พ.ร.บ.อันเป็นองค์ประกอบขับเคลื่อนของการบริหาร

หากมองเห็นแต่ละส่วน แต่ละกระบวนการเหล่านี้ก็จะเข้าใจรากฐานในทางความคิดอันเป็นผลสะเทือนอย่างสำคัญในทางการเมือง

ความคิดสืบทอดอำนาจ การเมืองเพื่อการสืบทอดอำนาจ

 

การเมือง เศรษฐกิจ

องค์เอกภาพเดียวกัน

 

ภายในกระบวนการทางการเมือง ภายในกระบวนการทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มิอาจแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง มิอาจแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ

ถามว่าเหตุใดการปฏิรูปเกือบ 5 ปีที่ผ่านมาจึงกลายเป็นปัญหา

คำตอบอยู่ที่เครื่องมือที่ผลักดันเข้าสู่อำนาจ เป็นเครื่องมือทางการทหาร มิได้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ความต่อเนื่องจากเครื่องมือนี้มีลักษณะทางการทหาร มีความโน้มเอียงไปในทางอำนาจพิเศษเป็นเผด็จการมากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตย

เครื่องมือเช่นนี้เป็นความแปลกแยกอย่างยิ่งหากมองจากความคิดหลักในทางสากล จึงไม่ได้รับความร่วมมือ ไม่ได้รับความเชื่อถือในทางสากล

ขณะที่มีความเชื่อว่าใช้การเลือกตั้งมาเป็นเครื่องฟอกให้กับการสืบทอดอำนาจโดยเรียกว่าเป็นการต่อยอดการพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน แต่ในเมื่อกลไกของการเลือกตั้งมิได้เป็นกลไกประชาธิปไตย มีลักษณะเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ความเชื่อถือจึงมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง

ทุกอย่างจึงเริ่มจากปัญหาในทางความคิด ส่งผลสะเทือนไปในทางการเมือง และจะมีผลต่อเนื่องทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง

 

เลือกตั้ง มีนาคม

เก่า ปะทะ ใหม่

 

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม เป็นการเลือกตั้งในสภาพการณ์อันสำคัญยิ่งทั้งในทางความคิดในทางการเมืองที่สะสมอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นการปะทะระหว่างปัจจัยเก่าในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม กับปัจจัยใหม่ในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม

เป็นการปะทะบนฐานความคิดแบบเก่าและปฏิเสธความคิดแบบใหม่

  การปะทะนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งและจะก่อผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง สร้างผลตระหนกอย่างใหญ่หลวงสำหรับคนที่จมอยู่กับซากเดนเก่าและไม่ตระหนักรู้ต่อการเข้ามาของความคิดใหม่อย่างเพียงพอ