ล้วงลึก “ช่างแต่งหน้านวลนางตู้กระจก” อีกหนึ่งอาชีพใน “อาบอบนวด” ที่หลายคนไม่คุ้นเคย!

“ไม่มีอาชีพไหนต่ำ ถ้าทำด้วยใจสูง”

นี่คือข้อคิดที่ “ธนานนท์ แก้วทองหลาง” หรือ “เสือ” ผู้ประกอบอาชีพเมกอัพ ฟรีแลนซ์ ใช้เตือนใจตัวเองเสมอ ก่อนที่จะเข้าไปทำงานในร้านอาบอบนวด

หลัง เขาต้องเผชิญกับคำดูถูกสารพัดเมื่อเลือกก้าวเข้ามาอยู่ใน “โลกกลางคืน” แห่งนี้

ธนานนท์เล่าเส้นทางชีวิตของตัวเองก่อนจะก้าวเข้ามาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความงามของเหล่านวลนางตู้กระจกว่า ตั้งแต่วัยเด็ก ทางบ้านไม่สนับสนุนให้มาเป็นช่างแต่งหน้า และคิดมาโดยตลอดว่าหากเรียนจบก็คงไปสอบเข้ารับราชการครู หรือทำอาชีพค้าขายเหมือนกับครอบครัว

แต่ระหว่างเรียนหนังสือ เขาพยายามหารายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัวด้วยการค้าขาย โดยเลือกขายเครื่องประดับในตลาดนัด

มีอยู่วันหนึ่ง ร้านขายเครื่องสำอางข้างๆ ทำตลับแป้งที่ข้างในมีอายแชโดว์ บลัชออน และลิปสติกรวมอยู่ด้วยตกแตก เจ้าของร้านจึงนำมายื่นให้ธนานนท์ และนี่คือเครื่องสำอางติดตัวชิ้นเดียวที่เขามีอยู่ในขณะนั้น แต่ก็ไม่เคยใช้แต่งหน้าให้ใครอื่น

“เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อมีลูกค้าคนหนึ่งที่เข้ามาซื้อเครื่องประดับในร้าน เขาชมเราว่าแต่งหน้าสวย และขอให้ช่วยแต่งหน้าให้หน่อย เราจึงเอาเครื่องสำอางที่มีอยู่มาแต่งให้ และลูกค้าก็ให้ค่าจ้างแต่งหน้า 100 บาท”

ช่างแต่งหน้าผู้มีชื่อเล่นว่าเสือย้อนเล่า

เงิน 100 บาท กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนานนท์หันมาสนใจการแต่งหน้าอย่างจริงจัง และเลือกก้าวเข้ามาในวงการเมกอัพโดยใช้เวลาศึกษาเรียนรู้กว่า 9 ปี ถึงเริ่มมีคนยอมรับในฝีมือ จนได้รับโอกาสเป็นช่างแต่งหน้าประจำสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง กินเงินเดือน 15,000 บาท

“ทำงานเงินเดือน 15,000 บาท จะแต่งหน้ากี่คนก็ได้เงินเท่านี้ เมื่อหักค่าประกันสังคมและค่าอื่นๆ ก็เหลือเงิน 13,500 บาท หักค่าใช้ชีวิตในเมืองกรุง เช่น ค่ารถเมล์ ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ก็ถือว่าอยู่ได้ แต่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย” ธนานนท์บรรยาย

มีอยู่วันหนึ่งโอกาสใหม่ก็เข้ามาหา เมื่อรุ่นพี่มาชักชวนเขาไปแต่งหน้าในสถานบริการอาบอบนวดเพื่อหารายได้เสริม เมื่อเริ่มทำไปได้สักพักก็มีรายได้เข้ามามากขึ้น แต่เม็ดเงินที่พอกพูนก็มาพร้อมๆ กับคำดูถูกที่ถาโถมโหมซัดอย่างต่อเนื่อง

ธนานนท์เปิดเผยว่า ช่วงแรกที่ไปรับงานแต่งหน้าในอาบอบนวด คนรอบตัวต่างดูถูกตนว่า “ไม่น่าไปทำงานในสถานที่แบบนี้ แต่งหน้าให้ศพยังมีเกียรติมากกว่า”

และมีอยู่วันหนึ่ง ขณะแต่งหน้าอยู่ในออฟฟิศ เขาเผลอทำฟองน้ำที่ใช้แต่งหน้าตกพื้น ก่อนที่ช่างแต่งหน้าอีกคนจะเดินมาเหยียบแผ่นฟองน้ำและพูดว่า “เอาไปแต่งหน้ากะ**ไหม?”

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจุดผลักดันให้ธนานนท์ตัดสินใจลาออกจากงานประจำอย่างเด็ดขาด และหันมาทำงานเป็นช่างแต่งหน้าในสถานอาบอบนวดเต็มตัว

แต่ใครจะรู้ว่าอาชีพช่างแต่งหน้าในร้านอาบอบนวดเป็นอาชีพที่ “คนในไม่ยอมออก แต่คนนอกอยากจะเข้า”

หากขยันขันแข็ง วิชาชีพนี้นับเป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาล แถมสถานอาบอบนวดบางแห่งจะมีเงินเดือนเพิ่มให้อีก

รายได้เฉลี่ยต่อวันของช่างแต่งหน้าประจำอาบอบนวด จะมาจากค่าจ้างแต่งหน้าต่อหัว หัวละ 150 ถึง 200 บาท

หลายคนอาจประเมินว่าเป็นเงินก้อนนิดเดียว แต่เมื่อพิจารณาจำนวนของสาวๆ ที่มาใช้บริการประมาณ 10 คนต่อวันเป็นอย่างน้อย ก็เท่ากับว่าใน 1 วัน ช่างแต่งหน้าเช่นธนานนท์จะมีรายได้อย่างต่ำ 2,000 บาทต่อวัน หรือ 60,000 บาทต่อเดือน

การแต่งหน้าในร้านอาบอบนวดและสถานบันเทิงยามค่ำคืน มีความแตกต่างจากการรับแต่งหน้าบุคคลทั่วไปอย่างมาก เพราะจะต้องแต่งให้หนาและคมชัด

โดยในห้องแต่งหน้าเล็กๆ ที่อยู่หลังร้าน จะมีช่างแต่งหน้าหลายรายรอให้บริการสาวๆ อยู่ การแข่งขันจึงดุเดือดมาก

ธนานนท์บอกว่า ช่วงทำงานตอนแรกๆ สาวๆ ในร้านมักไม่ยอมมาแต่งหน้าด้วย เพราะเห็นว่าตนเองแต่งหน้าไม่ “ดอก” พอ

คำว่า “ดอก” ถือเป็นคำสำคัญของสถานเริงราตรีเหล่านี้ ซึ่งใช้แทนคำว่า “สวย” เนื่องจากคำว่า “สวย” ถือเป็นคำอันตรายและต้องห้าม

ช่วงต้นๆ ที่ธนานนท์เพิ่งเริ่มมาทำงาน เมื่อแต่งหน้าเสร็จ เขาจะเอ่ยชมสาวๆ ว่า “สวย” ทว่ากลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตจนแทบหางานไม่ได้ เพราะสาวๆ อาบอบนวดถือเคล็ดว่า หากพูดคำว่า “สวย” แล้วจะไม่ได้งานหรือไม่มีลูกค้านั่นเอง ทั้งหมดจึงหันไปใช้คำว่า “ดอกท*ง” แทน

“เมื่อแต่งหน้าเสร็จ ช่างแต่งหน้าจะต้องพูดว่า “เฮงๆ ดอกท*งๆ” ทำงานนี้มาตั้งนาน ทุกวันนี้ยังรู้สึกเขินว่าทำไมต้องพูดคำนี้ มันรู้สึกแปลกๆ”

ธนานนท์เผยความลับ พร้อมกล่าวเสริมว่า หากแต่งหน้าเสร็จ และขึ้นไปทำงานแล้วไม่มีลูกค้า สาวๆ อาบอบนวดก็จะลงมาเปลี่ยนทรงผมหรือเปลี่ยนสีปากเอาเคล็ดด้วย

เคล็ดที่สาวๆ เชื่อกันยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น การไหว้ศาลก่อนเข้าทำงาน โดยมีสิ่งต้องห้ามอีกหนึ่งอย่างคือมาลัยที่ใช้ไหว้ศาล ห้ามมีชายมาลัยเป็นดอกกุหลาบหรือดอกจำปีเด็ดขาด

ธนานนท์ตีความข้อห้ามนี้ว่าน่าจะเป็นเรื่องการป้องกันความรักหรือความสัมพันธ์ ที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่แบบนี้

นอกจากนี้ยังมีเคล็ดเรื่องชุดที่ใส่ทำงาน จากประสบการณ์ทำงานของธนานนท์ เขาพบว่าสาวๆ อาบอบนวดมักมีชุดเก่งที่ใส่แล้วมีลูกค้าตลอด หากชุดไหนใส่แล้วไม่มีลูกค้า แม้ว่าจะซื้อมาแพงแค่ไหนก็ต้องโยนทิ้ง

แต่ถ้าชุดไหนใส่แล้วได้ลูกค้า ต่อให้เก่าหรือขาดก็จะนำมาเย็บซ่อมใหม่ บางคนใส่ชุดเดิมๆ มาตลอดเวลา 5 ปี ก็ยังมีให้เห็น

ช่างแต่งหน้าคนนี้ยังระบุถึงข้อเท็จจริงของกิจการอาบอบนวดที่หลายคนอาจเข้าใจผิด นั่นคือสถานบริการประเภทดังกล่าวเปิดให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไม่ได้เปิดเฉพาะช่วงเย็นหรือช่วงค่ำดังที่ถูกเข้าใจกันในวงกว้าง

ที่สำคัญ วันและเวลาที่มีลูกค้าเข้าใช้บริการมากที่สุดคือวันจันทร์ถึงพฤหัส ในช่วงพักเที่ยงและกลางวัน เพราะเป็นช่วงที่คุณผู้ชายออกมาทำงานและแอบเข้ามาพักผ่อน บางทีสาวๆ ที่คอยให้บริการถึงกับมีจำนวนไม่พอ จนแขกต้องลงมาเลือกกันในห้องแต่งหน้าเลยก็มี

สำหรับช่วงที่ร้านอาบอบนวดเงียบเหงาก็คือวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ที่คุณผู้ชายและสาวๆ ล้วนต้องการจะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากกว่า

ส่วนที่หลายคนมองว่าอาชีพอาบอบนวดและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็น “สีดำ” หรือ “สีเทา” ธนานนท์เห็นว่า “ไม่มีอาชีพไหนต่ำ ถ้าเราทำด้วยใจสูง”

ที่ผ่านมา แม้ตนโดนดูถูกเหยียดหยามอย่างไร ก็จะใช้ข้อคิดนี้เป็นคำเตือนใจในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

ถึงแม้หลายคนจะมองแวดวงคนกลางคืนว่าอันตรายและน่ากลัว แต่เท่าที่ธนานนท์สัมผัสได้จากประสบการณ์ส่วนตัว เขามองว่าอาชีพอาบอบนวดก็เป็นงานบริการอย่างหนึ่ง ซึ่งสาวๆ ต้องแบกรับอารมณ์ที่หลากหลายของลูกค้า และพยายามทำให้พวกเขามีความสุขที่สุด

บางคนเครียดมากถึงขั้นมานั่งร้องไห้ทุกครั้งหลังเลิกงานก็มี

ธนานนท์คิดว่า ไม่ว่าจะเป็นงานที่ต้องทำในเวลากลางวันหรือกลางคืน ทุกสังคมต่างก็มีทั้งคนดีและไม่ดีแฝงตัวอยู่ ใครจะเป็นเช่นไรจึงขึ้นอยู่กับการเลือกคบคนและการระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากกว่า

ช่างแต่งหน้าผู้นี้บอกอีกว่า ถึงแม้ใครจะพิพากษาตัดสินอาชีพของตนเองอย่างไร แต่เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพช่างแต่งหน้าประจำสถานอาบอบนวด เพราะนี่เป็นงานที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

จากเด็กที่ต้องวิ่งโหนรถเมล์ทุกเช้า-เย็น ในวันนี้เขามีรถยนต์ส่วนบุคคล จากเด็กคนหนึ่งที่เงินแทบไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ไม่กล้าแม้จะซื้อสิ่งของที่ตัวเองอยากได้เลยสักชิ้น ในวันนี้ก็สามารถดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้

“จุดเริ่มต้นทั้งหมดมันมาจากเงิน 100 บาท ที่ได้รับในวันนั้น ทำให้เราค้นพบตัวเองและมาถึงจุดนี้ได้ แม้จะไม่ใช่จุดที่ใครๆ ภาคภูมิใจ แต่มันทำให้เราลืมตาอ้าปากได้จนถึงทุกวันนี้”

ธนานนท์สรุปเส้นทางการทำมาหากินของตัวเขาเอง