ครูแท้แพ้ไม่เป็น จาก “ครูเรฟ-ครูไทย” ครูผู้มีจิตวิญญาณ มุ่งที่ชีวิตเด็กเป็นตัวตั้ง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูแท้แพ้ไม่เป็น จาก “ครูเรฟ-ครูไทย” (1)

กิจกรรมเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และพัฒนาครูนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19- 20 กันยายน 2559 วันเวลาล่วงเลยมาพักใหญ่ ผมเพิ่งนำสาระสำคัญและบรรยากาศซึ่งทีมงานผู้จัดงานประมวลไว้มาเล่าสู่กันฟังต่อคงไม่ว่ากัน เพราะสำคัญที่เนื้อหา ยังทันสมัย ใช้ได้ตลอดไป

เป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่งของครูผู้มีจิตวิญญาณ มุ่งที่ชีวิตเด็กเป็นตัวตั้ง มาเล่าขานเรื่องราว ถ่ายทอดให้ครูไทย ครูทั่วโลก และผู้สนใจความเป็นไปทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลังจากเรียบเรียงความคิด กระบวนการทำงานของเขาออกมาในรูปหนังสือหลายเล่มติดต่อกัน

ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย มีผู้อ่านจำนวนมาก

 

ครูเรฟ เอสควิท แห่งโรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ต ในลอสแองเจลิส

นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อยู่ในสังคมที่เลวร้าย และไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก หลายคนมีปัญหาจนต้องออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร แต่ท่ามกลางปัญหาที่น่าปวดหัวเหล่านี้ นักเรียนในห้อง 56 ของครูเรฟกลับมีความประพฤติดีและประสบความสำเร็จในการเรียน

สะท้อนว่า สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งความเท่าเทียม” แต่ในความเป็นจริงยังมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

ครูเรฟจึงมุ่งที่จะเป็นผู้สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับลูกศิษย์ของตน จนได้รับการยกย่องจาก น.ส.พ.นิวยอร์กไทม์สว่าเป็นผู้จุดกระแสการปฏิรูปการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

สํานักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ โดยเชิญครูเรฟมาร่วมงานพร้อมกับเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา ได้มอบหมายให้ ผศ.อุบลรัตน์ เต็งไตรรัตน์ เป็นผู้แปล รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ และ คุณปรียารัตน์ โล่ห์วิสุทธิ์ มาอินทร์ บรรณาธิการเล่ม

ก่อนหน้านี้ สสค. เคยสนับสนุนการแปลเล่มที่ตั้งชื่อว่า “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ สรรพวิธีและสารพัดลู กบ้าในห้อง 56” เผยแพร่มาแล้วเป็นที่นิยมอ่านในหลายประเทศ ครูเรฟเดินทางมาร่วมงานสัมมนาวิชาการและเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554

5 ปีผ่านไป ครูรวบรวมประสบการณ์และเขียนหนังสือออกมาอีกเล่มหนึ่งชื่อ “Real Talk for Real Teachers” ครูแท้แพ้ไม่เป็น อนุญาตให้ สสค. แปล พิมพ์เผยแพร่

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวก่อนเปิดการสัมมนาว่า สสค. เห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้อันมีครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด จึงได้จัดแปลหนังสือซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นครูมานานกว่า 30 ปีของครูเรฟ เอสควิท ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะมีส่วนในการจุดประกายแนวความคิดและพัฒนาการเรียนการสอนของคุณครูและผู้ที่สนใจได้ใช้ประโยชน์จากเปลี่ยนประสบการณ์อุปสรรค ความล้มเหลว และเทคนิคการทำงานของครูที่ทำให้ก้าวผ่านปัญหาต่างๆ เพื่อลูกศิษย์

ก่อนเชิญครูเรฟเล่าประสบการณ์ของเขา

 

“การเป็นครูนับวันจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาครอบครัว ความยากจน หรือเทคโนโลยีที่ดึงความสนใจลูกศิษย์ไปจากการเรียน คุณมักพบว่า นักเรียนถูกส่งมาโรงเรียนโดยที่พวกเขาไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ และเมื่อมีเหตุผิดพลาดในห้องเรียน พวกเรามักถูกตำหนิกับทุกเรื่อง ครูดีๆ ที่ผมรู้จัก บางครั้งก็พร้อมที่จะลาออก แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังสู้ต่อ และนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นครูที่ดีได้ การอุทิศและทุ่มเทต่อศิษย์ยังเป็นรูปแบบที่ผมยึดถือปฏิบัติในห้องเรียนของผม”

ครูเรฟมีกฎ 3 ข้อสำคัญในการสอนนักเรียนให้ประพฤติดีและประสบความสำเร็จ

1. ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีตามที่ต้องการให้เด็กเป็น ต้องแสดงคุณสมบัติที่ดีเพื่อให้เด็กเอาเยี่ยงอย่าง ตัวอย่างเช่น หากครูต้องการให้เด็กเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้น ครูก็ต้องไม่แสดงอาการโกรธออกมาแม้ในเวลาที่โกรธมากก็ตาม หรือหากครูต้องการให้เด็กขยันเรียน ครูก็ต้องแสดงตัวอย่างให้เด็กเห็นว่าครูเป็นคนขยัน และต้องเป็นแบบอย่างตลอดเวลาแม้จะอยู่นอกห้องเรียน เพราะการทำตัวเป็นแบบอย่างคือการสอนที่ดีกว่าการสอนวิชาในห้องเรียนเสียอีก

2. อย่าให้ความสำคัญกับการสอบปลายภาคมากเกินไป การเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด เพราะข้อสอบไม่สามารถวัดผลการสร้างทักษะชีวิตที่เป็นประโยชน์กับเด็กอย่างแท้จริง การสอบเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการประเมินผลการศึกษาในภาพรวมเท่านั้น ครูต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าเป้าหมายของการสอบที่แท้จริงคืออะไร และเป้าหมายการเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไร

“มีคนถามผมว่า ทำไมลูกศิษย์ของผมถึงดูตั้งใจเรียน ผมใช้คุณธรรม 6 ระดับในห้องเรียนและผลักดันให้นักเรียนพัฒนาไปให้สูงที่สุด ระดับที่ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามโมเดลการพัฒนาจริยธรรมของ ลอเรนซ์ โคห์ลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg”s 6 Levels of Moral Development) โดยครูเรฟแบ่งระดับการทำความดีไว้ 6 ระดับ

“เด็กๆ ทำความดีด้วยเหตุใดกันบ้าง ระดับ 1 คุณภาพต่ำสุด ระดับ 6 เป็นการทำความดีโดยประเสริฐที่สุด”

ระดับ 1 เด็กตั้งใจเรียนเพราะไม่อยากมีปัญหา ทำดีเพราะกลัวตัวเองเดือดร้อน เช่น ทำการบ้านเพราะกลัวครูดุ อ่านหนังสือเพราะพ่อแม่ไล่ไปอ่าน

ระดับ 2 ทำดี เรียนเพราะอยากได้รางวัล เพราะเป็นการติดสินบน

ระดับที่ 3 ทำดีเพื่อคนที่ตนรัก เรียนเพื่ออยากเอาใจครู พ่อแม่ เช่น ครูที่ตนชื่นชอบ ทำกิจกรรมดีตามเพื่อน

ระดับที่ 4 ทำดีเพราะปฏิบัติตามกฎ หรือแบบแผนสังคม เช่น ข้ามถนนตรงทางข้ามแม้จะต้องเดินไปอีกระยะหนึ่ง ไม่ส่งเสียงในโรงพยาบาล ไม่ฝ่าไฟแดงไฟเหลือง

ระดับที่ 5 ทำดีเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เรียนเพราะเกรงใจคนอื่น สงสารเขา เห็นใจเขา เอาใจเขามาใส่ใจเรา

และระดับที่ 6 ทำดีจากมโนสำนึก เรียนเพราะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองยึดถือ ไม่ต้องการคำชม ไม่ต้องการรางวัลใดๆ เพราะจิตสำนึกบอกว่าควรจะทำสิ่งนั้น

“นอกจากนี้ คุณต้องประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีของลูกศิษย์ตลอดเวลา ฉะนั้น การเป็นครูที่ดี คุณไม่สามารถถอดใจในการช่วยเหลือลูกศิษย์ได้ตลอดชีวิต”

เรื่องเล่าบนเส้นทางชีวิตจริงการเป็นครูด้วยจิตวิญญานยังไม่จบ เรื่องราวของนักเรียนคนที่ดีที่สุดในความคิดของครู เป็นใคร เป็นอย่างไร ฟังครูเล่าต่อตอนหน้า