เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : มองจีนแล้วมองไทย

ธันวาคม 2538 สีจิ้นผิงร่วมลงแรงทำงานในพื้นที่จริงของงานเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่ง แก้เขื่อนกั้นน้ำทางตอนล่างของแม่น้ำหมิ่นเจียง ที่ อ.หมิ่นโฮ่ว ครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลฝูเจี้ยน และเลขาธิการพรรคประจำเมืองฝูโจว

ข้อเขียนของนายกรัฐมนตรี สี จิ้น ผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหนังสือ สี จิ้น ผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ที่จัดแปลและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนนั้นนำเราไปสู่ความเข้าใจจีนเป็นอย่างดียิ่ง

ท่านผู้ประพันธ์ ได้ทำให้เรารู้จักตัวตนของความเป็นจีนว่าเป็น “สังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์” ที่ประกอบไปด้วย “ประชาชนทั้งประเทศทุกชนชาติ” ที่กำลังเดินทางด้วย “แผนแม่บทอันยิ่งใหญ่สำหรับการสร้างสังคมพอกินพอใช้อย่างทั่วถึง” เพื่อ “สร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มั่งคั่งเข้มแข็ง”

จีนมองตนเองว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่

จีนเชื่อว่าตนเองมีหน้าที่สร้างอารยธรรมให้โลก

สี จิ้น ผิง ใช้คำว่า “สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมให้แก่มนุษยชาติ”

ชาวจีนมีภารกิจที่จะต้อง “ฟูมฟักวัฒนธรรมอันโดดเด่นซึ่งมีพลังชีวิตเหนือกาลเวลา”

ด้วยความเชื่อที่ว่า “ความสุขทั้งปวงในชีวิตมนุษย์ล้วนต้องสร้างขึ้นมาด้วยความพากเพียรทั่วถึง”

ด้วยคำกล่าวของผู้นำจีนเช่นนี้ก็เท่ากับว่าคนจีนไม่ได้มีหน้าที่ดูแลตนเองและประเทศชาติเท่านั้น

แต่ยังต้องมีบทบาทต่อมนุษย์โลกด้วย มันอาจหมายถึงการสร้างเทคโนโลยีเพื่ออนาคต การค้นพบด้านการแพทย์ การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ (แบบอาลีบาบา ของ แจ็ก หม่า)

img_0498

สีจิ้น ผิง ได้อธิบายว่า “สังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีน” หมายความว่าอย่างไร มันคือการบูรณาการทฤษฎี การปฏิบัติ และระบบ เข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด คือการนำวิธีปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จมากำหนดเป็นทฤษฎี แล้วจึงนำทฤษฎีนั้นมาชี้นำแนวการปฏิบัติครั้งใหม่ และยกแนวทางตลอดจนนโยบายที่ได้ผลจากการปฏิบัติจริงนั้นเข้าสู่ระบบของพรรคและประเทศอย่างทันท่วงที

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ท่านสี จิ้น ผิง จะมีความโดดเด่น แต่ท่านก็เป็นเพียงตัวแทนของระบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน และเป็นฐานรากของการพัฒนาประเทศจีน ท่านสี จิ้น ผิง จะไม่ยกตนเองขึ้นเหนือความสำคัญของพรรค และของชาติ ไม่นิยมการเชิดชูบุคคล

ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากสังคมไทยที่มักยึดถือบุคคล

เราจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดี ขอสงวนความคิดเห็นเรื่องนี้ไว้อภิปรายในวงแคบ

สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างการเมืองจีน และการเมืองไทย (ในเวลานี้) คือการที่จีนยืนหยัดในความคิดให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนกลาง โดยไม่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งมวล

จีนใช้ระบบการเลือกกันในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรียกได้ว่าชนชั้นปกครองเป็นผู้เลือก

เช่นเดียวกับเมืองไทยที่รัฐบาล คสช. ขึ้นมาบริหารด้วยการยอมรับของกลุ่มชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ประชาชน

การใช้ระบบแบบนี้ไม่ว่ารัฐบาลจีนหรือไทยก็ต้องพิสูจน์ตนเองเป็นอย่างมากว่าสามารถนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองหรือไม่ เพื่อก้าวข้ามข้อครหาว่าไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ

ซึ่งหมายถึงผลงานด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

 

ในด้านสังคม จีนกับไทยมีปัญหาคอร์รัปชั่นที่คล้ายคลึงกัน มีข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมตะวันออกคงมีอิทธิพลบางอย่างต่อ “นิสัยเสีย” ข้อนี้

สำหรับจีน วัฒนธรรมตะวันออกที่ว่านี้เป็นประการไหน ผู้เขียนไม่รู้แน่ชัด แต่สำหรับสังคมไทยมันมาจากการเกรงกลัวผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจจึงได้ใจ ยักยอกส่วนของแผ่นดินหรือส่วนของกลางมาเป็นของตัวเอง ผู้น้อยก็จำทน ไม่เปล่งเสียงออกมา เพราะประสบการณ์สอนว่า “เป็นภัยแก่ตัว”

จีนได้จัดการกับกรณีคอร์รัปชั่นค่อนข้างเด็ดขาด ขนาดดาวรุ่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง ป๋อ ซี ไหล และภรรยายังได้รับโทษหนัก

ไทยเองยังเรียกได้ว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง การใช้อำนาจเด็ดขาดของจีนนั้นในมิติของไทยก็คือการใช้ ม.44 จัดการกับปัญหานั่นเอง

ท่านสี จิ้น ผิง ใช้คำว่า “ประชาชนทั้งประเทศทุกชนชาติ” ทั้งหมดต้องสามัคคีกัน แต่กระนั้นก็ยังมีสองมาตรฐานอย่างกรณีของอุยกูร์ เช่นเดียวกับที่ไทยก็ยังไม่ได้ปฏิบัติต่อ “ทุกชนชาติ” ที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรไทย อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน

ชาติพันธุ์บนเขายังคงมีความเป็นอยู่แปลกแยก

ในการแถลงเรื่องหลักการพื้นฐานสี่ประการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีใจความสำคัญได้แก่ การยืนหยัดในแนวทางสังคมนิยม การยืนหยัดในการปกครองประชาชนแบบเผด็จการประชาธิปไตย การยืนหยัดในความเป็นผู้นำของพรรรคคอมมิวนิสต์จีน

จีนรู้จักตัวเองดี และท่านสี จิ้น ผิง ก็ตอกย้ำเตือนความจำถึงความเป็นตัวตนของจีนให้ได้ยินกันอย่างชัดเจน

คนเรานั้นถ้าประกาศดังๆ ให้คนอื่นรู้ว่า “ข้าเป็นเช่นนี้” ก็จะไม่มีใครกล้าตอแย

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโลกตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาถึงสังคมจีน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เงียบเสียงไป

เช่นเดียวกับที่โลกตะวันตกเงียบเสียงวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบเผด็จการทหารของไทยไปชั่วคราว

จีนกล้าประกาศว่าตนเองนั้นยืนหยัดในการปกครองประชาชนแบบเผด็จการประชาธิปไตย คำว่า “เผด็จการ” เป็นคำน่ารังเกียจแค่ไหน แต่จีนก็กล้าพูด

ในโลกนี้ ไม่มีขาวกับดำ มันอยู่ที่ว่าอะไรเหมาะสมในเวลาใด

จีนจะเป็นเผด็จการอยู่นานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ได้

ไทยก็จะเป็นเผด็จการต่อไปอีกระยะหนึ่ง และถึงแม้จะบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในไม่ช้า แต่ก็อาจจะเป็นประชาธิปไตยแฝงเผด็จการอยู่นั่นเอง

มันขึ้นกับชนชั้นปกครองว่าจะ “เลือก” อะไรให้ประชาชน

ตราบใดที่ประชาชนยังยินดีให้ “ชนชั้นปกครอง” เป็นผู้เลือก