อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : มองใหม่ ว่าด้วย ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค (1)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผมและทีมวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวม 12 ท่านได้ร่วมกันทำวิจัยภาคสนาม สัมภาษณ์และประชุมกับผู้กำหนดนโยบายใน สปป.ลาว สาธาณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา เมียนมา ตั้งแต่วันที่ 2-23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พวกเราได้ความรู้เชิงนโยบายและพื้นที่มากมายทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเป็นประชาธิปไตย และแนวนโยบายแห่งรัฐเหล่านี้และการตอบสนองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ของประเทศเหล่านี้

ผมจึงขออนุญาตนำเสนอและฉายภาพในเห็นเป็นตอนๆ

อย่างเริ่มต้นที่ภาพรวมก่อนดังนี้


พลวัตของภูมิภาค

ความมั่นคงทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนทั้งในทะเลจีนใต้และแม่น้ำโขงภาคพื้นไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ระหว่างที่จีนมีข้อพิพาทกับหลายประเทศในอาเซียน มีการสร้างหมู่เกาะเทียมและพัฒนาอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Multiple Independently-Targeted Reentey Vehicle Technology : MIRV

จีนได้ประกาศการปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People”s Liberation Army-PLA) และเพิ่มงบประมาณกลาโหมของปี 2015 ร้อยละ 12.2 (808,230 ล้านหยวน) ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี

อันเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จีนไม่ลดบทบาททางการทหารและยังคงเพิ่มบทบาทความมั่นคงทางทะเล ในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกับหลายประเทศในภูมิภาคมากขึ้น

จากข้อเขียนของ James Stravridis ได้อ้างข้อมูลจาก The Military Balance ว่าการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 คือ $ 340 billion ในช่วงระหว่างปี 2013-2015 ซึ่งมากกว่างบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมในช่วงเวลาเดียวกันของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงร้อยละ 6 คือ $ 597 billion และของประเทศในยุโรปที่ลดลงร้อยละ 12 คือ $ 246 billion

ประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการใช้งบประมาณรายจ่ายกลาโหมมากที่สุดคือ จีน

จีนเพิ่มงบประมาณทางทหารประมาณร้อยละ 26 อยู่ที่เกือบ $ 147 billion ตั้งแต่ปี 2013 และตัวเลขการใช้จ่ายที่แท้จริงอาจจะมากกว่านี้มาก (1)

 

ท่ามกลางการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของจีน เราควรยอมรับความเป็นจริงว่า จีนมีข้อพิพาทกับหลายประเทศในอาเซียน จีนขัดแย้งกับเวียดนามอยู่ก่อนแล้ว

ฟิลิปปินส์รื้อฟื้นความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐอเมริกา อีกทั้งฟิลิปปินส์เป็นชาติแรกที่นำคดีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เข้าสู่กระบวนการของศาลโลก

อินโดนีเซียซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกับจีนโดยตรงมานานหลังจากเหตุการณ์สังหารคนจีนในข้อหาคอมมิวนิสต์ในปี 1965

ตอนนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียไม่พอใจที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้และมาพาดพิงหมู่เกาะลาทูน่าบางส่วน

อินโดนีเซียมีกองทัพเรือใหญ่โต แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทกับจีน รัฐบาลอินโดนีเซียจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงทางทะเลเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังหยิบยก ปัญหาความมั่นคงทางทะเลเข้าสู่การประชุมระหว่างประเทศหลายครั้งหลายหน

ถึงแม้จีนจะยังยืนกรานในปัญหาทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพทางทหารในทะเล แต่จีนก็ไม่ลืมความสำคัญของภาคพื้นอาเซียน ซึ่งจีนอาศัยแม่น้ำโขงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจีนตอนใต้ เมียนมา สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจีนในภาคพื้นอาเซียนจะราบรื่น

 

จีนเคยประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยขยับแนวเส้นทางทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมาที่เมียนมาได้สำเร็จในช่วงรัฐบาลทหารเมียนมาโดยเฉพาะนับตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไป กำจัดฝ่ายค้าน กักตัวผู้นำพรรคฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี และอดทนต่อการบอยคอตทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

ช่วงเวลานั้น จีนเป็นที่มาของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การให้เปล่าและเงินกู้ซื้ออาวุธ เป็นผู้ค้าและนักลงทุนรายสำคัญในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ขุดเจาะน้ำมันและวางท่อก๊าซธรรมชาติ และเหมืองทองแดงของเมียนมา ซึ่งเกือบทั้งหมดขายให้กับจีน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ข้าว ถั่ว ข้าวโพดขายให้กับจีน

ส่วนเมียนมาเป็นประตูหลังสำคัญของจีนในแง่การออกสู่มหาสมุทรอินเดีย เป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติสำคัญและเป็นการป้องกันการปิดล้อมจีนหากเกิดปัญหาในทะเลจีนใต้

 

อย่างไรก็ตาม เมียนมากลับไม่ได้เป็นประตูหลังบ้านและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของจีนเสียแล้ว

ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก ในปี 2011 เขาเป็นคนสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนมิตโซน ที่จีนเป็นผู้ลงทุน และคาดว่า 90% ของพลังงานที่ผลิตได้จากเขื่อนพลังน้ำนี้ถูกส่งไปให้จีน

ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง สั่งปิดโครงการเหมืองทองแดง เลตปะต่อง มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ เพราะอ้างว่าชาวบ้านเดือดร้อนเพราะเป็นโครงการที่สร้างมลพิษต่อประชาชนและชุมชน

แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่และเมียนมาได้รัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ทศวรรษ แต่เมียนมาไม่ได้เป็นประตูหลังบ้านที่รับประกันอะไรให้กับจีนอีกต่อไปแล้ว

วันที่ 5 เมษายน 2016 นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเดินทางเข้าพบหารือกับ นางออง ซาน ซูจี เป็นครั้งแรก หลังจากที่นางซูจีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา (2)


เวียดนาม-ไทย

จะร่วมมือท่ามกลางโลกและภูมิภาค

ที่คาดการณ์ได้ยากอย่างไร

ไม่มีใครคาดมาก่อนว่า นักธุรกิจพันล้านชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันซึ่งไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ชัยชนะของเขาเป็นมากกว่าชัยชนะต่อนักการเมืองผู้คร่ำหวอดและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้แทนพรรคเดโมแครตอย่าง นางฮิลลารี คลินตัน

ชัยชนะของเขาอาจะคว่ำระเบียบโลกที่สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนเอาไว้มานานกว่าเจ็ดทศวรรษ

วลี American First ที่มีรายละเอียดว่ารัฐบาลของเขาจะขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้า ลดการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา อันกระทบต่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต่อพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศได้ใช้บริการการป้องกันทางทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้มานาน (3)

แต่ด้วยความชื่นชอบการบริหารงานของนายปูตินผู้นำรัสเซีย นายทรัมป์จึงไม่รู้สึกอะไรต่อดินแดนของรัฐเซียในประเทศยูเครน

และด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน สาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นโอกาสความไม่สนใจเอเชียของรัฐบาลทรัมป์ จีนมีความพอใจที่สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้จีนแสดงบทบาทครอบงำ (hegemon) ของจีนในภูมิภาคนี้ได้

 

ดูเหมือนว่า ผู้นำที่เป็น hard liner ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง เช่น Abdel Fattah al-Sisi แห่งอียิปต์ Bashar al-Assad แห่งซีเรีย ต่างเชียร์นายทรัมป์เพราะเขาไม่สนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน (4)

แม้แต่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาก็อยากให้นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะเชื่อว่าทรัมป์จะช่วยให้โลกสงบมากขึ้น (5)

โลกและภูมิภาคนี้ก้าวเข้าสู่ยุคสหรัฐอเมริกายุคใหม่ที่สนใจอเมริกันเป็นอันดับแรก ระเบียบโลกจะมีสหรัฐอเมริกามีบทบาทน้อยนิด โลกและภูมิภาคจะอลหม่านและไร้ระเบียบ

แต่การผงาดขึ้นของจีนจะมีพลังมากขึ้นไปทั่วภูมิภาค

 

เวียดนามและไทยกลายเป็นประเทศที่เป็นประเทศพันธมิตรยุทธศาสตร์ (strategic partner) ในหลายด้าน

ด้านแรกคือ ยุทธศาสตร์ทางการทหาร (military strategy) ยุทธศาสตร์ที่สองคือ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (economic strategy) และยุทธศาสตร์ที่สามคือ เป็นแนวหน้าของอาเซียนภาคพื้นทวีป (mainland ASEAN) ที่จะต้องสร้างสมดุล (balance) ระหว่างอาเซียนและชาติมหาอำนาจคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร เวียดนามเป็นทั้งพื้นที่ (space) ทางยุทธศาสตร์ในแง่ของประเทศที่มีศักยภาพทางทหาร อีกทั้งได้รับความร่วมมือทางทหารทั้งจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยการให้ความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ การฝึกอบรม รวมทั้งการเยือนทางทหารโดยเฉพาะเรือธงที่เยือนฐานทัพเวียดนาม

ส่วนไทยกำลังสร้างสมดุลระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน

จุดนี้กลับเป็นโอกาสที่ไทยจะร่วมมือทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศกับเวียดนามเพื่อสร้างสมดุลในภูมิภาค

ถึงแม้ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ได้คุ้นเคยและสนใจเวียดนามและไทยรวมทั้งอาเซียนก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าสภาคองเกรสสหรัฐให้ความสำคัญกับทั้งเวียดนามและไทยมาก

ส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เวียดนามมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เวียดนามอาจต้องทบทวนการยกเลิก Trans-Pacific Partnership-TPP ที่นำโดยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งมีผลต่อการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าเวียดนามมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของไทยในเวียดนามโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งด้านการผลิตปิโตรเคมี การผลิตวัสดุก่อสร้าง การลงทุนด้านค้าปลีกและการค้าสมัยใหม่ (modern trade) รวมทั้งโรงแรม ย่อมทำให้เวียดนามและไทยเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีพลังและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น (inter dependence)

 

คําว่า Mainland ASEAN กลับมามีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังรุกหนักทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคอาเซียน

การร่วมมือกันในฐานะสามาชิกอาเซียนซึ่งอาเซียนเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่มหาอำนาจทั้งหมดให้ความสำคัญ

ยิ่งเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาคกำลังสั่นคลอนทั้งภายในคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความผันผวนในแง่การเปลี่ยนแปลงผู้นำและการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งการต่อต้านของพรรคฝ่ายค้านและมวลชนสนับสนุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา อีกทั้งเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่มั่นคงด้วยปัญหาข้ามพรมแดน (transboundary)

ทั้งการเคลื่อนย้ายของผู้ลี้ภัยสงครามในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเมียนมาฝั่งรัฐยะไข่และการเคลื่อนไหวของพระหัวรุ่นแรงในเมียนมา รวมทั้งปัญหาในทะเลจีนใต้ด้วย ดังนั้น เวียดนามและไทยจึงกลับมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาตร์ที่สำคัญของภูมิภาคและอาเซียนด้วยในเวลาเดียวกัน

พลวัตในภูมิภาคเป็นไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น

 

1 James Stravridis, ” Military cooperation can help and increasingly armed Asia avoid conflict” NIKKEI Asian Review March 31 2016 http://asia.nikkei.com/magazine/20160331-asia-s-a (เข้าถึง 4/6/2016)

2 “จีนมั่นใจแก้ไขปัญหาธุรกิจกับพม่าได้” MRG Online 6 เมษายน 2016

3 J.F. “What does Donald Trump”s victory mean for the world?” The Economist 9th November 2016

4 Ibid.,

5 ผู้จัดการ MGO 9 พฤศจิกายน 2016