วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได (1)

 

นีล ไกแมน (Neil Gaiman) เป็นนักเขียนที่โด่งดังเหมือนร็อกสตาร์ของวงการ งานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากคือนิยายภาพเรื่อง The Sandman และนิยายเรื่อง Stardust, American Gods, Coraline และ The Grave-yard Book รวมทั้งที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง

เมื่อปี พ.ศ.2556 เขาไปพูดให้ the Reading Agency ที่บาบิคาน ลอนดอน เพื่อต่อต้านการปิดห้องสมุดหลายแห่งในอังกฤษ เขาเสนอว่าเด็กควรอ่านนิยาย และผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กเลือกอ่านหนังสือด้วยตัวเอง

เนื้อหากลายเป็นบทความในเดอะการ์เดี้ยนดอตคอม ชื่อ Why our future depends on libraries, reading and daydreaming >https://www.theguardian.com/books/2013/oct/15/neil-gaiman-future-libraries-reading-daydreaming<

และอีกสองสามปีต่อมาร่วมมือกับนักวาดการ์ตูนชื่อคริส ริดเดลล์ ทำหนังสือชื่อเดียวกันออกมา >https://www.theguardian.com/books/gallery/2018/sep/06/neil-gaiman-and-chris-riddell-on-why-we-need-libraries-an-essay-in-pictures<

อนาคตของห้องสมุดเป็นอย่างไร? ไกแมนไม่ได้พูดแค่ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การปิดห้องสมุดหรือทำลายหนังสือ แต่พูดถึงห้องสมุด ในแง่ที่รวมของหนังสือและการอ่านของเด็กทั้งในอดีตและอนาคต

ไกแมนบอกว่าเขาโชคดี คือหนึ่ง มีพ่อ-แม่ที่ยอมทิ้งเขาไว้ที่ห้องสมุดในตอนปิดเทอม และสอง มีบรรณารักษ์ใจดีที่ชอบหนังสือและการอ่าน

เขาได้พบกับบรรณารักษ์ที่ไม่รำคาญเด็กเล็กๆ ที่ชอบเข้ามาค้นหนังสือแต่เช้าและสนใจแต่เล่มที่มีผีเวทมนตร์ จรวด ผีดิบ นักสืบ แม่มด และสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ

ที่สำคัญ ไม่เชิดใส่หนังสือที่เขาอ่าน แถมยังช่วยค้นหาหนังสือเล่มอื่นในชุดนั้น และสอนให้เขาสั่งหนังสือจากห้องสมุดอื่นๆ

ห้องสมุดทำกับเขาเหมือนนักอ่านคนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าด้วยความเคารพ และในฐานะเป็นเด็กอายุแปดขวบ การถูกเคารพมีความหมายสำหรับเขามาก

ห้องสมุดคือเสรีภาพ เสรีภาพที่จะอ่าน คิด และสื่อสาร ห้องสมุดเป็นชุมชนที่ทำให้เราเข้าถึงหนังสือได้อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงเป็นสวรรค์ของเรา

เขาเปรียบห้องสมุดคล้ายการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งไม่ควรเลิก และการจะมีอำนาจหรือสร้างพลเมืองที่รับผิดชอบได้ ชาติจะต้องมีเยาวชนที่อ่านออกเขียนได้

ไกแมนอ้างรายงานขององค์กรเพื่อการพัฒนา ที่บอกว่าอังกฤษเป็นประเทศเดียวที่มีคนแก่รู้หนังสือมากกว่าเด็ก (เมื่อพิจารณาเพศวัยอาชีพและภูมิหลังด้านอื่นๆ ด้วยแล้ว) ซึ่งทำให้

“ลูกหลานของเราจะรู้หนังสือน้อยกว่าเรา เขาจะไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ และถูกนำพาไปทางใดก็ได้ อังกฤษจะล้าหลังประเทศอื่นๆ เพราะขาดแรงงานที่มีคุณภาพ”

 

ที่เด่นคือสนับสนุนการอ่านนิยาย เขาเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2560 ได้ร่วมการประชุมด้านนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีที่จีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เขาจึงถามผู้จัดคนหนึ่งว่า รู้กันว่าจีนไม่เคยยอมรับนิยายวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่ทำไมถึงสนใจขึ้นมา? มีอะไรเปลี่ยนไปหรือ?

ผู้จัดตอบว่า งานนี้เริ่มจากมีการค้นพบว่าคนจีนจะสร้างได้ต่อเมื่อมีผู้นำเท่านั้น แต่สร้างสรรค์ไม่เป็นหรือไม่รู้จักใช้จินตนาการ จากนั้นจีนจึงส่งผู้แทนไปถามเรื่องนี้กับคนสำคัญๆ ที่แอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ และกูเกิล และพบว่าเมื่อเป็นเด็ก ทุกคนอ่านนิยายวิทยาศาสตร์

นักเขียนอังกฤษบอกว่าการอ่านนิยายมีประโยชน์หลายอย่าง

หนึ่ง นิยายทำให้อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป หรืออยากพลิกกระดาษเพื่ออ่านหน้าถัดไป ซึ่งเป็นแรงขับดันที่แท้จริง นอกจากนั้น จะบังคับให้เด็กเรียนรู้คำและความคิดใหม่ๆ ที่สำคัญ ทำให้เขารู้ว่าการอ่านนั้นสนุก เมื่อรู้แล้ว ก็เหมือนอยู่บนถนนที่นำไปสู่การอ่านเล่มอื่นๆ อีก

สอง นิยายสร้างความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีในหมู่คน และทำให้เราเป็นมากกว่าปัจเจกชนที่ลุ่มหลงอยู่กับตัวเอง

เปรียบเทียบกับการดูทีวีหรือหนัง ซึ่งหมายถึงการมองคนอื่นและสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่น การอ่านนิยายจะให้ผลที่แตกต่าง เพราะอาศัยจากอักษรแค่ยี่สิบกว่าตัวและเครื่องหมายอีกนิดหน่อยก็ทำให้ผู้อ่านสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาได้

คนที่ไม่เข้าใจคนอื่น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนไอเดีย ไม่สามารถสื่อสาร แปล หรือตีความอะไรได้ เพราะคนอื่นก็เหมือนกับตัวเอง การอ่านนิยายทำให้เด็กกลายเป็นคนอื่น และเมื่อกลับคืนมาสู่โลกเดิม เขาก็จะเปลี่ยนไป

และสาม นิยายทำให้ผู้อ่านค้นพบและรู้สึกกับเหตุการณ์และโลกใหม่ๆ ซึ่งก็คล้ายในนิทาน มนุษย์จะเปลี่ยนไปถ้ากินผลไม้วิเศษ หลังจากอ่านแล้ว เราจะไม่พอใจกับโลกที่เป็นอยู่ (ซึ่งไกแมนบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี) จะพัฒนาโลกหรือปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้

เด็กที่อ่านนิยายจะค้นพบสิ่งสำคัญ : โลกไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ ทำให้มันต่างออกไปก็ได้

 

ที่น่าสนใจคือการเสนอว่าเด็กควรอ่านหนังสือที่เขาชอบ ในฐานะพ่อ-แม่ผู้ปกครอง สิ่งที่ต้องทำคือสอนให้เขาอ่าน และบอกว่าการอ่านนั้นสนุก รวมทั้งสอนให้รู้วิธีการเข้าถึงหนังสือนั้น จากนั้นปล่อยให้เขาอ่านเองและไม่ชี้แนะว่าควรอ่านอะไร

ตอนนี้เราชอบแนะนำกันว่าเล่มไหนเหมาะสำหรับเด็กหรือเล่มไหนที่เด็กไม่ควรอ่าน โดยยกชื่อหนังสือ, แนวหนังสือ หรือชื่อผู้เขียน ผมเห็นมาเยอะ เอนิด ไบรตัน, อาร์.แอล.สไตน์ และคนอื่นๆ (นักเขียนเรื่องสำหรับเด็กที่ป๊อปปูลาร์มากของอังกฤษ) ถูกหาว่าเป็นนักเขียนที่ไม่ดี และหนังสือการ์ตูนถูกหาว่าทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งเป็นความคิดที่เหลวไหลมาก

สำหรับเด็ก ไม่มีหนังสือเลว และมักจะอ่านแต่เรื่องที่ตัวเองชอบ แน่นอน สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขา อาจจะเป็นความคิดโง่ๆ แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างเป็นของใหม่ และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้พบกับมัน

การที่โลกนี้เต็มไปด้วยหนังสือเลว ไม่ควรทำให้เราต่อต้านมัน เราต้องเชื่อว่าการอ่านหนังสือเลวจะเป็นต้นทางที่นำไปสู่การอ่านเล่มอื่นๆ ที่ดีกว่า