ต่างประเทศอินโดจีน : “เลนินปาร์ก” เจตจำนงปฏิวัติเจือจาง กับเส้นทางปฏิรูปเวียตนาม

ใจกลางเมืองหลวงของเวียดนาม มี “เลนินปาร์ก” ปรากฏอยู่

ขนาบข้างด้านหนึ่งด้วยพิพิธภัณฑ์เครื่องบินเจ๊ตสมัยสงคราม เขรอะด้วยสนิม กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีตะวันออกแต่เดิม อันเป็นประเทศที่ไม่มีปรากฏแล้วในเวลานี้

ตระหง่านอยู่ด้านหน้าสวนสาธารณะแห่งนี้คือ อนุสาวรีย์ วี. ไอ. เลนิน ผู้นำปฏิวัติรัสเซีย

พื้นที่ทั้งหมดดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ถึงแรงบันดาลใจที่เวียดนามได้รับจากการปฏิวัติสังคมนิยมโซเวียตในอดีต

อนุสาวรีย์เลนินประดิษฐานอยู่ที่นั่นได้ 1 ปี เวียดนามก็ประกาศการ “ปฏิรูป” เศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ ใช้ชื่อว่า “โด๋ยเม้ย” (doi moi) ในปี 1986

การปฏิรูปที่เปลี่ยนเวียดนามจากประเทศเกษตรกรรมให้กลายเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของเวียดนามนับตั้งแต่ปีนั้นจนถึงปีนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าตัว พร้อมๆ กับการประสบความสำเร็จใหญ่หลวงในแง่ที่ว่า ยังคงรักษาอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามแบบเบ็ดเสร็จเอาไว้ได้

ว่ากันว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการคงอำนาจเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเอาไว้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเลือกเวียดนามเป็นที่พบปะกับโดนัลด์ ทรัมป์ รอบ 2

เกาหลีเหนืออยากรู้อยากเห็นกับตาว่า เวียดนามทำอย่างนี้ได้อย่างไร

 

เกา ซี เคียม อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติของเวียดนามในยุคนั้น ตั้งข้อสังเกตว่า เวียดนามจำเป็นต้องยอมรับสถานการณ์ใหม่ๆ คือการผ่อนคลายความเป็นเผด็จการปัจเจกลง

“เมื่อใดก็ตามที่อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว การตัดสินใจใดๆ ย่อมผิดพลาดบกพร่องได้ง่ายมากๆ”

จนถึงปี 1986 นั้น ทายาททางการเมืองที่สืบทอดอำนาจเพียงลำพังจากตำนานยิ่งใหญ่ของเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ คือ “เล หยวน” (หรือ เลอ ดวน) มือขวาของ “ลุงโฮ” ในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

เมื่อสิ้นเลอ ดวนในปีนั้น ยุคที่ฝรั่งเรียกกันว่า “สตรองแมน” ก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย

“เล หยวน เป็นคอมมิวนิสต์ระดับ “ฮาร์ดคอร์” เป็น “โอลด์การ์ด” ในสายเลนินนิสต์ ทั้งทางระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ” เล ฮง เฮียบ นักวิชาการจากสถาบันไอเซียส ยูโซฟ อิสฮัค ในสิงคโปร์ระบุ

หลังจากนั้นไม่เคยมีนักการเมืองรายใดมีความสามารถและบารมีมากพอที่จะควบคุมองคาพยพของประเทศทั้งหมดได้อีกต่อไป เวียดนามจำเป็นต้องรับความเป็นจริง อาศัยคณะโปลิตบูโรเป็นเครื่องมือสำคัญสูงสุดในการตัดสินใจทุกประเด็นทางการเมือง การปกครองของประเทศ

ภายใต้กรอบของ “ฉันทามติ” ของโปลิตบูโรพรรค

เกาหลีเหนือแตกต่างกันออกไป ใช้วิธีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับทฤษฎีสังคมนิยมในการปกครองประเทศ

ผู้นำตระกูล “คิม” ล้วนถูก “ชวนเชื่อ” ว่า สืบเชื้อสายมาจาก “สายเลือดแห่งภูแปคตู” ภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ในตำนานบริเวณชายแดนติดต่อกับจีน มีสถานะคล้ายคลึงกับ “พระเจ้า” ในเกาหลีเหนือ

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับเวียดนามก็คือ อิทธิพลของมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์เจือจางลงมากมายแล้ว

 

เกาหลีเหนือทดแทนมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ด้วย “จูเช” ลัทธิเชิงอุดมการณ์แบบพึ่งพาตัวเอง ในปี 1972

คิม จอง อึน เองริเริ่มปล่อยให้ “ตลาด” บางประเภทพัฒนาขึ้นในเกาหลีเหนือ เพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขยายผลผลิตจากโรงงาน ไม่ใช่ในเชิงปริมาณ แต่ในแง่ของความหลากหลาย เพื่อสนองตอบผู้บริโภค

ถึงปี 2016 เศรษฐกิจเกาหลีเหนือโตถึงระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ก่อนกลับมาติดลบเพราะถูกแซงก์ชั่นในปีถัดมา

เกาหลีเหนือยังคงไม่มีการเก็บภาษี ยังคงมีการปันส่วนอาหาร แม้คนส่วนใหญ่จะพึ่งพาอาหารปันส่วนน้อยลงมากแล้วก็ตาม

ในเวียดนาม สิ่งเหล่านี้เป็นอดีต หลงเหลืออยู่ให้ระลึกถึงเพียงแค่ในการแสดง การละคร ในบางสถานที่เท่านั้น

แม้แต่ “เลนินปาร์ก” ยังกลายเป็นสถานที่โปรดของบรรดานักเลงสเก๊ตบอร์ดชาวฮานอยไปแล้ว

เล่นกีฬาข้างถนนยอดฮิตจากโลกตะวันตกเบื้องหน้าเลนิน ย้อนแย้งเสียดแทงดีพิลึก!