วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์            

เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน

เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชนมิได้ราบเรียบดังปูด้วยกลีบดอกกุหลาบ หากแต่ต้องเผชิญกับเหตุหลายประการ แม้ขณะนั้นประเทศอยู่ในยุคประชาธิปไตยจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประการหนึ่งคือ เนื่องจากเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่เพิ่งออกจำหน่าย ผู้อ่านยังไม่รู้จักมากนัก ทั้งยังเป็นหนังสือที่เสนอข่าวประเภทคุณภาพ หรือ Hard News ไม่ใช่ประชานิยม หรือ Popular News ซึ่งมีหลายฉบับบนแผงหนังสือ

ประชาชาติรายวัน เป็นหนังสือพิมพ์เสนอข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ และปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน

แต่คณะผู้จัดทำยังเห็นว่าการเสนอข่าวลักษณะนี้น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากผู้อ่านที่ได้รับการศึกษากว้างขวางกว่าเมื่อก่อน

ช่วงปีแรก ประชาชาติได้รับการกล่าวถึงและต้อนรับจากผู้อ่านทุกระดับ จนพวกเราตั้งความหวังว่า การทำหนังสือในแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว

กระทั่งเดือนมิถุนายน 2518 คณะบริหารบริษัท เดอะ เนชั่น จำกัด ได้ประกาศหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

ด้วยเหตุผล “ขาดทุน”

 

คณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ประกอบด้วย ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สุทธิชัย หยุ่น และเพื่อนร่วมงาน จึงย้ายจากที่เดิม ซอยสายลม ถนนสุขุมวิท มาที่อาคารพญาไท ถนนศรีอยุธยา เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “รวมประชาชาติ” ดำเนินงานโดยบริษัท ประชาชาติ จำกัด

ผู้ร่วมก่อตั้งชุดแรก เป็นการระดมทุนจากขรรค์ชัย บุนปาน อากร ฮุนตระกูล พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สุจิตต์ วงษ์เทศ และสุทธิชัย หยุ่น ทั้งได้พยายามสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์รายวัน ให้ความสำคัญแก่บุคคลผู้เป็นข่าวอย่างเที่ยงธรรม เน้นให้การศึกษาประชาชนทั่วไป เข้าร่วมสร้างสรรค์สังคมก้าวไปสู่สภาพที่ดีกว่า ยึดหลักความเท่าเทียมกันในสิทธิเสรีภาพและการอยู่ดีกินดีของประชาชน

ที่สำคัญคือเน้นเอกราชและอธิปไตยของชาติ เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวขึ้นเทียมบ่าเทียมไหล่อารยประเทศ สนับสนุนการเลือกตั้งทุกวิถีทาง เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ระหว่างกิจการหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติดำเนินไปด้วยดี ผู้อ่านส่วนใหญ่เป็น “ปัญญาชน” นักการเมือง นักประชาธิปไตย นักธุรกิจ และนิสิตนักศึกษา ด้วยรวมประชาชาติไม่เพียงเน้นเสนอข่าวการเมืองอย่างรวดเร็ว เจาะลึก และความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รวดเร็ว ยังเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ ควบคู่ไปด้วย

ภายในฉบับมีความคิดเห็นและข้อเขียนจากนักวิชาการทั้งคณาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนซึ่งเป็นนักคิดนักเขียน นำเสนอความคิดเห็นก้าวหน้าและคมคิด จึงเป็นที่นิยมจากผู้อ่านดังกล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มปั่นป่วน นับแต่หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 รัฐบาลเสียงข้างน้อยนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องพ่ายเสียงไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเพียง 18 เสียงรวมกับพรรคร่วมเป็นจตุรพรรค กลุ่มและขบวนการทั้งหลายที่เข้ามารักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม มีการเดินขบวนก่อหวอดทางการมือง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น

ก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติถูกข่มขู่และก่อกวนเป็นประจำ เนื่องจากเป็นยุคของ “ขวาพิฆาตซ้าย” มีพรรคชาติไทยเป็นฝ่ายขวา พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายซ้าย คืนหนึ่งหลังจากกองบรรณาธิการรวมประชาชาติปิดข่าวแล้ว ช่างเรียงเพิ่งเสร็จงาน จะออกไปทำความสะอาดร่างกายหลังตึก ปรากฏเสียงระเบิดดังกึกก้อง แม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ด้วยยังไม่มีใครออกไป ณ ที่นั้น แต่ระเบิดทำให้รถมูลนิธิอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ซึ่งมีสำนักงานอยู่บนตึกเดียวกันถูกระเบิดเสียหายไปหลายคัน

หลังเกิดเหตุทำให้นักข่าวและกองบรรณาธิการรวมประชาชาติต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก แม้ขณะออกไปทำข่าวต้องพยายามไม่เปิดเผยว่าเป็นนักข่าวช่างภาพจากรวมประชาชาติ

 

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับพิเศษ เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน บันทึกไว้ว่า เมื่อฟ้าผ่า แพแตก คนในแพกระจัดกระจายคนละทิศละทาง รอวันเวลาที่จะกลับมาร่วมงานในอาชีพที่ปฏิญาณนี้กันใหม่

กลุ่มผู้ดำเนินงานหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติบางส่วนได้แยกย้ายกันไปทำงานตามที่ต่างๆ บ้างไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น บ้างไปออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แนวเดียวกับประชาชาติรายสัปดาห์ คือปริทัศน์ และอาทิตย์ หลังสุดคือ เศรษฐกิจการเมือง บางคนยังไปทำหน้าที่บรรณาธิกรในกองบรรณาธิการเจ้าพระยาของรัฐบาลด้วยซ้ำ

ส่วนกลุ่มใหญ่ที่ยังเหลือจำนวนหนึ่งได้มาออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “เข็มทิศธุรกิจ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 โดยเน้นหนักเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจธุรกิจทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ตลอดจนความเคลื่อนไหวในวงการนี้และตลาดหลักทรัพย์

ในส่วนสาระเราได้สรรหาบทความข้อคิดเห็นจากบุคคลภายนอกทางด้านเศรษฐศาสตร์มาเสนอเป็นแนวทางให้ผู้อ่านทราบทุกสัปดาห์ โดยมีจำนวน 12 หน้า ด้วยกระดาษปอนด์ขาวอย่างดี

ขายในราคา 5 บาท

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2520 เราเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองโดยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินนโยบายไร้เหตุผล คับแคบ และไม่มีสมรรถภาพ ฯลฯ เราจึงเร่งออกหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจเป็นราย 3 วัน เพื่อเปิดหน้าการนำเสนอข่าวการเมืองให้ผู้อ่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลระดับบริหาร พ่อค้า นักธุรกิจได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ทั้งยังพยายามท้วงติงการกระทำบางอย่างอันไม่ถูกไม่ควรของรัฐบาลนายธานินทร์ในบางส่วน ซึ่งขณะนั้นหนังสือพิมพ์ทั้งหมดจะถูกคุกคามปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็น ฉบับไหนพยายามทักท้วงรัฐบาลจะถูกคำสั่งปิดจากคณะที่ปรึกษาเจ้าพนักงานทันที

ความอึดอัดใจมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่หนังสือพิมพ์ หรือประชาชนส่วนใหญ่ แม้แต่กับกลุ่มนายทหารสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ยังอึดอัดและไม่สบายใจกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนายธานินทร์ไปด้วย

ดังนั้น เมื่อวันทื่ 20 ตุลาคม 2520 คณะปฏิวัติ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ด้วยการเข้ายึดอำนาจการปกครองเสียเอง สั่งยกเลิกคณะที่ปรึกษาเจ้าพนักงานการพิมพ์เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ได้ประกอบอาชีพด้วยอุดมการณ์ของตนอย่างเต็มที่

แม้ยังมีอุปสรรค แต่ด้วยสิ่งยึดมั่นในการทำงานของเรา ด้วยอุดมการณ์สร้างสรรค์หนังสือพิมพ์ดีสักฉบับยังไม่คลาดคลาไปจากวงความคิด ตราบเท่าที่เสรีภาพในประเทศยังมีร่องรอยหลงเหลือ และจะพยายามให้คนในชาติมองด้วยสายตาสองคู่บนเส้นทางเดียวกันว่า หนังสือพิมพ์คือตัวแทนเสรีภาพของประชาชน

“มติชน” จึงกำเนิดขึ้นโดยเหตุนี้