ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /ON THE BASIS OF SEX

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

ON THE BASIS OF SEX

‘เสมอภาคทางเพศ’

 

กำกับการแสดง  Mimi Leder

นำแสดง Felicity Jones Armie Hammer Justin Theroux Sam Waterston Kathy Bates

 

รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อ พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993)

ตำแหน่งนี้นับเป็นเกียรติยศสูงสุดในวงการกฎหมายก็ว่าได้ และเป็นตำแหน่งตลอดชีพ เรียกว่าดำรงตำแหน่งไปจวบจนชีวิตจะหาไม่ ยกเว้นแต่ว่าจะลาออกเองด้วยปัญหาสุขภาพหรือปัญหาส่วนตัว

เช่นเดียวกับในวงการอาชีพต่างๆ นับแต่อดีตกาลอันยาวนาน มีผู้หญิงน้อยคนมากที่ได้รับการแต่งตั้ง รูธ กินสเบิร์ก เป็นผู้หญิงคนที่สองในตำแหน่งนี้ซึ่งนับถึงปัจจุบัน

เคยมีผู้หญิงเพียงสี่คนในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้

 

ปีนี้มีหนังสองเรื่องคู่ขนานกัน โดยเป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งฝ่าฟันความไม่เสมอภาคทางเพศและสร้างอาชีพในวงการกฎหมายด้วยความยากลำบาก

รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก คือหญิงตัวเล็กนิดเดียว แต่แสนแกร่งและเก่งคนนั้น

และหนังสารคดีในชื่อว่า RBG ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อเธอ ตามฉายาที่เธอถูกเรียกขานว่า “อาร์.บี.จี.ผู้อื้อฉาว” (the notorious RBG) เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดี และทำท่าว่าจะเป็นตัวเต็งเสียด้วย

ขณะเดียวกัน ไบโอพิกหรือภาพยนตร์ชีวประวัติของตัวเธอก็ออกฉายในช่วงนี้ด้วย ในชื่อว่า On the Basis of Sex ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องเซ็กซ์หรือการมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องของอคติทางเพศสภาพในเรื่องความแตกต่างระหว่างชาย-หญิง

นับเป็นการกรุยทางไปสู่การรับรู้และรับรองความเสมอภาคของ “เพศที่สาม” ในเวลาต่อมา

ก่อนหน้านั้น นักกฎหมายสหรัฐให้การรับรองความเสมอภาคทางผิวสี โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติและสีผิว

แม้ว่าตราบจนถึงกึ่งศตวรรษที่ยี่สิบ การเหยียดผิวหรือการแบ่งแยกกีดกันระหว่างคนผิวขาวผิวดำ (ดังเรื่องราวอันเสียดแทงที่ปรากฏใน Green Book) จะยังมีอยู่ในระดับประชาชน แต่รัฐธรรมนูญก็ให้การรับรองความเสมอภาคทางสีผิวแล้ว

ทว่าความเสมอภาคทางเพศยังเป็นประเด็นที่นักกฎหมายยังไม่ยอมรับรู้ โดยอ้างว่าบทบาทของชายและหญิงถูกกำหนดไว้ด้วยประวัติศาสตร์และขนบประเพณีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

 

หนังเริ่มเรื่องใน พ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (เฟลิซิตี้ โจนส์ จาก The Theory of Everything) เพิ่งสอบผ่านได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันทรงเกียรติ เป็นหนึ่งในนักศึกษาหญิงเก้าคนในบรรดานักศึกษาชายราวห้าร้อยคน เพียงหกปีหลังจากฮาร์วาร์ดเปิดรับนักศึกษาหญิงเข้าเรียนกฎหมาย

รูธเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล แต่งงานมีลูกแล้ว และสอบเข้าเรียนกฎหมายตามหลังสามี มาร์ติน กินสเบิร์ก (อาร์มี แฮมเมอร์ จาก Social Network, The Lone Ranger และ Call Me By Your Name) ซึ่งเป็นนักศึกษากฎหมายปีสองที่ฮาร์วาร์ดเหมือนกัน

ความแปลกแยกของผู้หญิงในท่ามกลางผู้ชายร่วมห้าร้อยคนในชุดสูทดำทะมึน แสดงให้เห็นความกล้าหาญของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ยืนหยัดอยู่ในโลกที่ดูเหมือนไม่ต้อนรับเธอ

แม้ในคำปราศรัยของคณบดีนิติศาสตร์ก็พูดถึงแต่ “บุรุษฮาร์วาร์ด” และเมื่อนักศึกษาหญิงเก้าคนได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่จัดพิเศษสำหรับพวกเธอ รูธก็ตั้งคำถามกับสามีว่าจะแต่งตัวอย่างไรให้มีมาดเหมือน “บุรุษฮาร์วาร์ด”

เห็นๆ อยู่ว่าคณบดีกริสโวลด์ (แซม วอเตอร์สตัน) มีอคติต่อนักศึกษาหญิง โดยตั้งคำถามให้ตอบกลางโต๊ะอาหารถึงเหตุผลของแต่ละคนที่เข้ามาแย่งที่ซึ่งเป็นของผู้ชายในสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้

รูธตอบว่า เธอสมัครเข้าเรียนกฎหมายที่นี่ตามสามี เพราะเธออยากจะเข้าใจและอดทนต่อการงานอาชีพที่สามีทำ

ซึ่งดูเหมือนไม่ใช่คำตอบของผู้หญิงแกร่งที่จะกลายเป็นนักกฎหมายคนสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่ความเสมอภาคทางเพศในสายตาของกฎหมายเลย ยังฟังดูเป็นเหตุผลของ “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องการเดินเคียงคู่ไปกับช้างเท้าหน้า

แต่ก็แสดงให้เห็นการให้ความสำคัญลำดับแรกแก่สถาบันครอบครัว

 

และรูธกับมาร์ติน กินสเบิร์ก ก็เป็นคู่แต่งงานที่ดูเป็นกิ่งทองใบหยกและสนับสนุนกันและกัน เป็นที่น่าชื่นชมยิ่งในสายตาของคนทั่วไป

โดยเฉพาะเมื่อระหว่างเรียนฮาร์วาร์ด มาร์ตินได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่อัณฑะ และต้องรักษาตัวด้วยคีโมอยู่ระยะหนึ่ง ระหว่างนั้น รูธเข้าเรียนแทนเขา พิมพ์งานส่งอาจารย์ให้ทั้งสำหรับสามีและตนเอง รวมทั้งดูแลลูกที่ยังเล็กอยู่มาก

รูธรู้สึกตัวว่าโดนอคติด้านเพศอีกครั้ง เมื่อเธอขอติดตามสามีที่เรียนจบและได้งานในนิวยอร์ก โดยการโอนหน่วยกิตไปและขอรับปริญญาจากฮาร์วาร์ด เธออ้างว่าฮาร์วาร์ดเคยอนุญาตกรณีเดียวกันนี้มาแล้วก่อนหน้าหลายรายที่เป็นผู้ชาย แต่เมื่อคณบดีไม่ยอมอนุโลมให้ รูธจึงย้ายไปมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและได้รับปริญญาจากที่นั่น

และอีกครั้ง เมื่อเธอสมัครงานในสำนักกฎหมายหลายสิบแห่งในนิวยอร์ก ทั้งๆ ที่เธอเรียนจบด้วยคะแนนสูงสุดของชั้น (ข้อมูลในชีวิตจริงของรูธบอกว่าเธอได้คะแนนเท่ากันกับอีกคน ซึ่งร่วมครองตำแหน่งที่หนึ่งด้วยกัน) และมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารกฎหมาย แต่เธอก็โดนปฏิเสธจากสำนักกฎหมายแห่งแล้วแห่งเล่า

จนเธอถอดใจกับการเป็นทนายความในสำนักกฎหมาย หันไปรับงานสอนในมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีตำแหน่งที่เป็นโควต้าของอาจารย์ผิวดำว่าง และมหาวิทยาลัยพิจารณาว่าผู้หญิงน่าจะอยู่ในโควต้านี้ได้

มิไยสามีจะคัดค้าน เพราะรู้ว่าความฝันของรูธไม่ได้อยู่ที่การสอนกฎหมาย แต่อยู่ที่การเป็นตัวแทนเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ลูกความ แต่รูธก็ไม่อยากดึงดันต่อสู้ในสังเวียนที่ยังไม่พร้อมจะเปิดรับผู้หญิง

 

มาร์ติน กินสเบิร์ก เป็นทนายความด้านภาษีที่มีชื่อเสียง และวันหนึ่งเขาเสนอให้ภรรยาทำคดีโดยเป็นตัวแทนของผู้ชายที่ถูกสรรพากรฟ้องร้องว่าโกงภาษี ซึ่งแรกทีเดียวรูธไม่สนใจเลย แต่เมื่อมองเห็นประเด็นว่านี่เป็นเรื่องของการแบ่งแยกทางเพศสำหรับผู้ชาย

นั่นคือ คดีของชาร์ลส์ มอริตส์ ผู้ยื่นภาษีขอยกเว้นค่าดูแลมารดาผู้ชรา ซึ่งกฎหมายยอมยกเว้นภาษีให้แก่ผู้หญิง แต่ไม่ยอมให้ผู้ชายที่ไม่ได้แต่งงานได้รับยกเว้นในกรณีเดียวกัน

และนี่คือคดีต้นแบบสำหรับความไม่เสมอภาคทางเพศ ซึ่งรูธต้องขอความร่วมมือจากสหภาพสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งให้การรับรองแต่ไม่เชื่อว่ารูธ กินสเบิร์ก จะโน้มน้าวผู้พิพากษาได้สำเร็จ

และขอให้มาร์ติน กินสเบิร์ก เป็นทนายร่วมว่าความในคดีนี้ด้วย

คดีเรื่องการโกงภาษี จึงกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฎหมายที่ว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศสภาพในเวลาต่อมา

และรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก โน้มน้าวศาลด้วยถ้อยคำที่เธอเคยได้ยินในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นความว่า

“ศาลไม่ควรจะถูกกระทบด้วยสภาพอากาศของวัน แต่จะถูกกระทบด้วยภูมิอากาศของยุคสมัย”

หมายความว่ากฎหมายควรปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัย แต่ไม่ใช่วูบวาบไปตามความนิยมอันแปรปรวนในระยะสั้น

 

ผู้กำกับฯ มิมี เลเดอร์ (Pay It Forward, Deep Impact) กำกับฯ เรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรหวือหวา

แต่ก็ให้น้ำหนักแก่ชีวประวัติและการต่อสู้ของหญิงแกร่งที่มีสิริอายุรวม 85 ปีแล้วในปัจจุบัน

นอกจากจะเป็นเรื่องของความเสมอภาคทางเพศแล้ว เนื้อหายังให้น้ำหนักแก่สถาบันครอบครัวอย่างยิ่ง

จึงไม่ได้เน้นที่ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีเพียงอย่างเดียว