บทวิเคราะห์ : ไทยเตรียมรับมือแผ่นดินไหวทางการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า แผ่นดินไหวทางการเมืองซึ่งเกิดจากการเลือกตั้งมารวดเร็วและรุนแรงในหลายปีที่ผ่านมา

ไม่ว่า Brexit ในสหราชอาณาจักร

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา หรือพรรคแนวร่วมต่อต้าน establishment ในอิตาลี ด้วยการเลือกตั้งหลักที่จะเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคจะยังคงเป็นแนวโน้มต่อไปอีกหรือไม่

เราลองย้อนกลับมาที่การเมืองไทย น่าสนใจครับ

 

ไทย แลหลัง

แม้วันเลือกตั้งที่แน่นอนยังกำหนดไม่ได้ บางคนก็ชวนให้เราดูย้อนกลับไปในอดีตซึ่งอาจทำให้มองเห็นอนาคตได้ ทั้งนี้ บางคนบอกว่า

ประการแรก รัฐธรรมนูญคือ เรื่องของกรอบกติกาทางการเมืองที่จะเอื้ออำนวยหรือยิ่งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง

ประการที่สอง ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้และปัญหาการกระจายอำนาจคือ รูปธรรมของรัฐไทยที่ปรับตัวน้อยเกินไป

ประการที่สาม โศกนาฏกรรมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และอาชญากรรมของรัฐอีกหลายครั้งในอดีต รวมถึงการปราบปรามในชายแดนภาคใต้ด้วยคือ ปัญหาความยุติธรรมที่สุดของความสัมพันธ์ราบรื่นในสังคม

เมื่อแลหลังไทยในอดีตโดยหยิบยกประเด็นหลักเพียงสามประการที่กล่าวข้างต้น เราอาจมองว่า นี่เป็นทั้งมรดกของระบอบอำนาจนิยม และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งยังดำรงอยู่และย่อมมีผลต่ออนาคตของเศรษฐกิจการเมืองไทยด้วย

ผมขออนุญาตไม่อภิปรายอะไรต่อ ปล่อยให้เป็นคำถามแล้วจะชี้แนวโน้มให้ในส่วนต่อไป

 

ไทย เหลียวหน้า

เราอย่าเพิ่งถอดใจกับทั้งมรดกของอำนาจนิยมและปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจการเมืองไทย ผมเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ บอกเราบางอย่างที่มากกว่าปัญหาเทคนิคและกลไกการเลือกตั้งทั่วไป ผมคิดว่ามีสิ่งที่พึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยในปัจจุบันทั้ง ระบบการเลือกตั้งและพลวัตที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลา

ระบบการเลือกตั้งที่สำคัญอันหนึ่งคือ “องค์กรอิสระ” องค์กรอิสระแทบทั้งหมดไม่เป็นอิสระจากอำนาจและผลประโยชน์ กล่าวคือ

นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งสังคมไทยก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ องค์กรอิสระเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองเพื่อคานอำนาจและถ่วงดุลทั้งภาคการเมือง ภาคราชการและภาคเอกชน

แต่เมื่อมีอำนาจขึ้นมา องค์กรอิสระเหล่านี้ก็หลีกหนีไม่พ้นอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งดูได้ทั้งกระบวนการสรรหาและฝักฝ่ายทางการเมืองที่เผยตัวตนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

และดูเหมือนว่า องค์กรอิสระที่จะมีปัญหากับช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้มากที่สุดน่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ด้วยเหตุที่ไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี แต่ปัญหาไม่ใช่แค่แรงกดดันของการเลือกตั้งทั้งจากภายนอกและภายในเท่านั้น แต่กลับไปอยู่ที่บริบทสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมากและซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมคือ การย้อนแย้งระหว่างขั้วการเมืองที่ผสมกับความพยายามสืบทอดอำนาจด้วยวิธ๊การเดิมๆ และย้อนยุค การแบ่งค่ายทางการเมืองตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมายังคงดำรงอยู่และกำลังหวนคืนกลับมา

ความซับซ้อนคือ ขั้วทางการเมืองเพียงแค่สลับค่าย เปลี่ยนสีเสื้อ แต่ขั้วอำนาจความขัดแย้งในช่วงหนึ่งทศวรรษก็ยังดำรงสถานะของตนต่อไป ทั้งสองฝ่ายไม่มีพลังมากเพียงพอจะหักโค่นและล้างกระดานไปได้

ผู้มีอำนาจหรือก็คือ ผู้ทำการรัฐประหารสืบทอดอำนาจด้วยหลายหลากวิธี ส่วนหนึ่ง สร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การเมืองร่วมกันกับเจ้าสัว กลุ่มทุนใหญ่โดยมีกลุ่มสำนักคิดที่ชื่นชอบ MBA และการตลาดพยายามวาดฝันประเทศไทยด้วยคำขวัญต่างๆ นานา เช่น ไทยแลนด์ 4.0 ดิจิตอล อีโคโนมี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสริมด้วยประชารัฐ ทั้งนี้ เป็นความพยายามบูรณาการฐานการเมืองจากเจ้าสัว ชนชั้นกลางและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผู้มีอำนาจไม่เคยมีฐานความนิยมและปฏิสัมพันธ์ตรงนี้ ดังนั้น การอาศัยนักการเมืองและพรรคการเมืองเดิมที่ครองฐานเสียงเดิมในต่างจังหวัดอยู่แล้วจึงจำเป็น

พร้อมกับสร้างพันธมิตรกับแกนนำของสถาบันความมั่นคงโดยการแบ่งปันผลประโยชน์รูปแบบเดิมๆ ได้แก่ ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา กรรมการรัฐวิสาหกิจและการใช้งบประมาณรัฐ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองซึ่งจะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยก็ได้

 

ถ้ามองออกไปไกลสักหน่อย การเลือกตั้งในหลายประเทศก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวจะก่อผลเสียหาย ความวุ่นวาย และในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยม กลุ่มอำนาจเดิมและฝ่ายอนุรักษนิยมก็ตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงใน Brexit ในสหราชอาณาจักร

การปฏิวัติสีส้ม (Orange revolution) และการรณรงค์ให้ผู้นำของยูเครนมีพันธะ การถอนรากถอนโค่นระบอบอำนาจนิยมและคอร์รัปชั่นในประเทศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่สองของสหรัฐอเมริกา

ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่โค่นล้มการครองอำนาจยาวนานของพรรครัฐบาลในสหพันธรัฐมาเลเซียมายาวนาน 46 ปีลงได้

แต่ใช่ว่าการรวมตัวใหม่ของชนชั้นนำและพันธมิตรเก่าในกรอบของระบบพวกพ้อง (Croynism) ก็ก่อตัวขึ้นมาอีก อีกทั้งความแตกแยกในพรรคฝ่ายค้าน

และการแย่งชิงผลประโยชน์ก็เกิดขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย เราคงได้เห็นอะไรเกิดขึ้นหลายอย่างเมื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองเปิดอย่างเต็มที่เมื่อมีการเลือกตั้ง ที่สำคัญเมื่อความไม่วางใจซึ่งกันและกันแบบเดิมๆ ที่แผ่กว้างอยู่แล้วในสังคมไทยของกลุ่มกษัตริย์นิยมกับฝ่ายตรงกันข้าม ฝ่ายเมืองกับชนบท รัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือน จะปรากฏชัดและปะทะระหว่างกัน

เมื่อนั้นแหละ ผลของกติกาของรัฐธรรมนูญที่เอียงข้าง มรดกของระบอบอำนาจนิยม ความขัดแย้งในภาคใต้ อาชญากรรมของรัฐอื่นๆ ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างออกเรื่อยๆ ประกอบกับความไร้เสถียรภาพของระบบทุนนิยมโลกย่อมก่อผลกับสังคมไทยโดยรวม จนเราเลิกฝันกลางวันจากการโฆษณาชวนเชื่อที่กรองหูอยู่ทุกวัน

ผมเรียกว่า แผ่นดินไหวทางการเมือง