ปัญหา ธรรมกาย จากศาสนา เป็นการเมือง ละเอียด ประณีต

ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับพระเทพญาณมหามุนีแห่งวัดพระธรรมกาย เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ในเบื้องต้น แต่ก็เพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

จากเรื่องของ “คดีความ” กลายเป็นเรื่องทาง “ศาสนา”

เพราะว่าเป็นคดีความอันเกี่ยวกับพระมหาเถระซึ่งมีฐานันดรชั้น “เทพ” และเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

“วัดพระธรรมกาย” เองก็มีสถานะในทาง “ความคิด” อย่างไม่ธรรมดา

เพียงอาณาบริเวณอันเป็นพื้นที่ตั้งวัดพระธรรมกายซึ่งมีปริมาณมากกว่า 2,000 ไร่ ก็ใหญ่โตอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่นี่ยังมีสาขาทั้งที่เป็นวัด เป็นสำนัก เป็นมูลนิธิ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกจำนวนมหาศาลกว้างไกล

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังมีพื้นฐานทางความเชื่อในแบบ “ธรรมกาย”

ความสัมพันธ์ของสำนัก “วัดพระธรรมกาย” กับพุทธศาสนิกจึงมีความหมาย มีอิทธิพล มีผลสะเทือนขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ของสำนัก “วัดพระธรรมกาย” กับสำนักอื่น จึงมีความหมาย มีอิทธิพล มีผลสะเทือน

ปัจจัยเหล่านี้เองกลายเป็น “มูลฐาน” ทำให้กรณีของวัดพระธรรมกายอันเป็นเรื่องในทาง “ศาสนา” พัฒนาและขยายกลายเป็นเรื่องในทาง “การเมือง”

เป็นการเมืองเนื่องแต่ “รัฐประหาร”

 

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2557

หากพิจารณาจากบุคคลที่เคลื่อนไหวและพยายามดำเนินการเกี่ยวกับกรณีของวัดพระธรรมกายอย่างเอาจริงเอาจังจะมองเห็นสายสัมพันธ์

สายสัมพันธ์จากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

สายสัมพันธ์จากก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะเป็น นายมโน เลาหวณิช ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็น พระสุวิทย์ ธีรธัมโม แห่งวัดอ้อน้อย นครปฐม

เหมือนกับ คสช. และรัฐบาลอยู่เฉยๆ ใน “เบื้องต้น”

แต่เมื่อนักกิจกรรมเหล่านี้เคลื่อนไหวจากกรณีคดีความในเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีข้อหาในเรื่องรับของโจร ในเรื่องฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งกระทรวงยุติธรรมจึงมิอาจนิ่งเฉย เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเคลื่อนไหวก็จำเป็นต้องใช้กำลังพลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เหมือนกับทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจำกัดวงอยู่เพียง “คดีความ” อันพัวพันกับพระภิกษุอันเป็นส่วนหนึ่งของ “ศาสนา”

แต่แล้ว “สถานการณ์” ก็ค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ บานปลาย

ความอ่อนไหวอย่างยิ่งก็เมื่อมีการขยายจากเรื่องของ “วัดพระธรรมกาย” กลายเป็นเรื่องอันโยงไปยังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่

ละเอียดอ่อนเพราะมีสีสันทางการเมืองเข้ามาปรากฏอย่างเด่นชัด

 

โยงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เข้ากับสำนัก ธรรมกาย

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้ไม่สามารถสถาปนา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ได้

ทั้งๆ ที่มหาเถรสมาคมลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์มาแล้ว

เป็นการลงมติด้วยคะแนนเสียงอันเป็นเอกภาพภายในกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นการลงมติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535

แต่เรื่องมารออยู่ในแฟ้มของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ ครม.

คำตอบก็คือ เพราะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) ถูกกล่าวหาในเรื่องความไม่เหมาะสมที่มีสิ่งที่เรียกว่า “รถหรู” ในครอบครอง

เรื่องนี้มีจุดเริ่มมาแบบเดียวกับกรณีของ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น”

เป็นความพยายามขยายเรื่องโดยคณะบุคคลชุดเดียวกัน ทำให้ “รถหรู” กลายเป็นประเด็นและไม่สามารถเดินหน้าในเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ได้

มูลเชื้อก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กับ วัดพระธรรมกาย

ที่เด่นชัดก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย)

จึงมีการเสกปั้น “รถโบราณ” ให้กลายเป็น “รถหรู”

ผลก็คือ จากเดือนมกราคมที่มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าแม้จะเข้าสู่เดือนธันวาคมแล้วก็ตาม

นี่คือการขยายเรื่องในทาง “ศาสนา” ให้กลายเป็นเรื่องในทาง “การเมือง”

 

ปฏิบัติการ ดีเอสไอ

ปฏิบัติการ การเมือง

แทนที่ปฏิบัติการของกรมสอบสวนคดีพิเศษอันดำเนินภายใต้คดีความในเรื่องรับของโจร ในเรื่องฟอกเงินจะสามารถดำเนินไปด้วยความราบรื่น

กลับมากด้วย “อุปสรรค” กลับมากด้วย “ปัญหา”

เห็นได้จากความพยายามเมื่อเดือนมิถุนายนตามหมายจับที่ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไม่เพียงแต่ไม่สามารถบังคับให้ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) ออกมามอบตัวได้ หากแม้กระทั่งเมื่อส่งกำลังรุกเข้าไปตามหมายค้นในวัดพระธรรมกายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

จำเป็นต้อง “ปฏิบัติการ” อีกหากว่า พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) ไม่ยอมออกมามอบตัวภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน

มีความเด่นชัดยิ่งว่าสถานการณ์จะซ้ำรอยกับเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เพียงแต่คราวใหม่นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด จะประสานและร่วมมือกันอย่างละมุนละม่อมได้อย่างไร

เพราะปัญหานี้มิได้เป็นเรื่องในทาง “คดีความ” มิได้เป็นเรื่องในทาง “ศาสนา” แต่ได้พัฒนาและบานปลายกระทั่งกลายเป็นเรื่องในทาง “การเมือง”

เป็นการเมืองอันเนื่องแต่ “รัฐประหาร”