จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 ธ.ค. 2559

มองไทยใหม่

ผมอ่าน มติชนรายวัน และสุดสัปดาห์ ประจำ มานาน

เห็นข้อเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ (18-24 พฤศจิกายน 2559) หัวเรื่องตัวโตๆ ว่า “อันความกรุณาปราณี” จากเรื่อง เวนิสวานิช

ที่ต้องการอธิบาย คำว่า “อัน” ผมสะดุดคำว่า “ความกรุณาปราณี”

เพราะถ้าใช้ในความหมายที่ถูกต้อง ควรเป็น “ความกรุณาปรานี”

ปรานี เป็นคำกริยา มีความหมายว่า เมตตา กรุณา เผื่อแผ่

ถ้าทำให้เป็นคำนาม โดยใช้ความ (นำหน้ากริยาหรือคำวิเศษณ์) นั้นถูกต้องแล้ว

ส่วน ปราณี เป็น นาม มีความหมายว่า ผู้มีชีวิต หรือผู้มีลมหายใจ

ถ้าใช้ ความ นำหน้า นาม ก็เป็นคำซ้อน จึงผิดหลักภาษา

ผมทักท้วง เพราะเป็นห่วงผู้อ่าน (เยาวชน) จะจดจำ สับสน

คำ ความกรุณาปรานี กับ ความกรุณาปราณี ว่าคำใดถูกต้องแน่นอน

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาว่า ถ้าไม่ถูกต้องก็ควรแก้ไขต่อไป

“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่

(หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน)”

ส.วรเชษฐ์

ความจริง ฝ่ายพิสูจน์อักษร

นำกรณี “ปราณี-ปรานี” มาหารือ บ.ก. แล้ว

จึงเป็นความผิดของ บ.ก. เป็นสำคัญ

ที่ไปติดกับ “ความ”

ไม่ได้คำนึงถึง “หลักภาษา” แปลได้ความก็สั่งลุย

พร้อมกับเชื่อว่า “นิตยา กาญจนะวรรณ” อาจจะตั้งใจใช้ “ปราณี” จึงให้ยืนตามต้นฉบับ

แต่พอหนังสือขึ้นแท่น มีอี-เมลด่วนจาก “นิตยา กาญจนะวรรณ” ขอแก้ปราณีเป็นปรานี

แก้ไม่ทันจริงๆ

“นิตยา กาญจนะวรรณ” จึงขอให้ล้อมกรอบไว้ท้ายคอลัมน์ในสัปดาห์ต่อมา

ซึ่งก็คงเป็นจังหวะที่ ส.วรเชษฐ์ เขียนจดหมายมาท้วงติงพอดี–ซึ่งก็ขอขอบคุณ

และเห็นว่า จดหมายน่าจะมีประโยชน์ จึงลงให้อ่าน

แม้ว่า “อาจารย์นิตยา” จะพบและขอแก้ไขแล้ว

แต่ก็ไม่ทันกาลด้วยเหตุผลทางด้านเทคนิคและเป็นความผิดพลาดของ บ.ก. ล่วย…

มองพม่าใหม่

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในขณะนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่ามีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาถูกกักตัวและถูกบังคับส่งกลับไปยังพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต

ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งยังขาดแคลนน้ำ อาหาร และยารักษาโรค

โดยรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาขัดขวางไม่ให้ประชาชนหลายพันคนเข้าถึงความช่วยเหลือ

และยังพบข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวของการโจมตีหมู่บ้านต่างๆ โดยทหารเมียนมาอีกด้วย

ท่ามกลางความรุนแรงจากการปราบปรามชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยโดยทหารเมียนมา

ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหลายพันคนต้องหลบหนีข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ

และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

แต่พวกเขากำลังถูกผลักดันกลับไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวโรฮิงญาระหว่างอยู่ในบังกลาเทศ และสัมภาษณ์พวกเขาบางส่วนที่ยังคงอยู่ในเมียนมา

ได้รับฟังเรื่องราวการปฏิบัติของกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาที่นำโดยทหาร ซึ่งยิงทำร้ายชาวบ้านจากเฮลิคอปเตอร์ มีการจุดไฟเผาบ้านหลายร้อยหลัง ทั้งยังจับกุมบุคคลโดยพลการ รวมทั้งข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

ชายอายุ 38 ปี เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟัง หลังจากเดินทางมาถึงบังกลาเทศเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ว่า

“น้องสาวและน้องชายของผมต่างถูกทหารลักพาตัวไป ผมเห็นกับตาว่าทหารเผาหมู่บ้านของเรา และทหารยังได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกด้วย”

หญิงอายุ 44 ปี เล่าว่า เธอเห็นทหารจับกุมและใส่กุญแจมือชายหนุ่มหลายคนในหมู่บ้าน แล้วนำพวกเขาไปยิงทิ้ง และผลักให้ลงไปในหลุมศพขนาดใหญ่ เธอยังเล่าต่อว่าทหารยังใช้จรวดมือถือ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับประจักษ์พยานคนอื่นๆ ที่เห็นว่ามีการใช้อาวุธและปฏิบัติการดังกล่าว

รัฐบาลเมียนมาออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร

แต่ในเวลาเดียวกันก็ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

และห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวอิสระและหน่วยงานตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ได้เลย

ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ต้องได้รับการสอบสวนโดยทันที อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

ถ้ารัฐบาลเมียนมาไม่ต้องการปิดบังความจริงใดๆ ควรปล่อยให้นักสังเกตการณ์อิสระ หน่วยงานตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมและผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

พม่าใหม่ โดยเฉพาะในยุค ออง ซาน ซูจี

ถูกคาดหวังเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” มาก

เมื่อเกิดกรณีโรฮิงญาขึ้นอีก

คำถามจึงเกิดขึ้นกับ “ซูจี”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะรีบสรุปว่านี่คือความล้มเหลวของเธอ

ลองเปิดใจกว้างๆ พิจารณาก่อน

จะอ่าน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ในฉบับนี้ก่อน ก็น่าจะทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น