ต่างประเทศอินโดจีน : สตาร์ตอัพที่เวียดนาม

ในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน ต้องยกให้สิงคโปร์เป็น “ฮับ” สำหรับบริษัท “สตาร์ตอัพ” ของภูมิภาคนี้

แต่พอถึงปีใหม่นี้กลับมีบางคนเชื่อว่าอีกไม่นาน ตำแหน่ง “สตาร์ตอั ฮับ” ของอาเซียน น่าจะตกเป็นของเวียดนาม

จริงๆ เวียดนามเริ่มต้นจับตามองอุตสาหกรรมดิจิตอลมาตั้งแต่ตอนที่ต้อนรับบรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาลงหลักปักฐานใช้ประเทศเป็นฐานการผลิตกันขนานใหญ่เมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

แต่มาจริงจังกับกระบวนการดิจิตอลไลเซชั่น ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สูงมากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปี 2016 คือจุดเริ่มต้นของกิจการประเภทสตาร์ตอัพในเวียดนาม

แต่พอเริ่มได้เท่านั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ก็พากันลงทุน สร้างทั้งองค์กรบ่มเพาะหรือที่เรียกกันว่า “อินคิวเบเตอร์” และกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือ “เวนเจอร์ แคปปิตอล-วีซี” ขึ้นมากมาย

จำนวนสตาร์ตอัพในเวียดนามพุ่งพรวดขึ้นจากไม่กี่รายเป็นราวๆ 3,000 กิจการ

ในจำนวนนี้มีที่ปักหลักได้ สามารถได้รับทุนให้ดำเนินกิจการได้มากถึง 92 บริษัท

รวมเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพ เฉพาะปี 2560 เพียงปีเดียวสูงถึง 292 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 9,000 ล้านบาท

จาก 25 บริษัทที่ได้รับเงินทุนให้ทำธุรกิจต่อได้ในปี 2013 เวียดนามใช้เวลาเพียง 4 ปีขยายจำนวนสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จได้เกือบ 4 เท่าตัว

เป็นระดับการขยายตัวที่น่าทึ่ง แม้ว่าจะยังจำกัดอยู่แต่ใน 3 แวดวงธุรกิจ คือ อีคอมเมิร์ซ, ฟินเทค และออนไลน์ เซอร์วิส ก็ตามที

 

ความสำเร็จของเวียดนามในการสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับสตาร์ตอัพนั้น มีพื้นฐานมาจากองค์ประกอบที่เป็นจิ๊กซอว์ต่างๆ เกิดขึ้นและประกอบกันเข้าได้พอเหมาะพอดี ถูกทั้งจังหวะและเวลา

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีตลาดรองรับ ตลาดภายในประเทศของเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น เข้าถึงสมาร์ตโฟนได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

สัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเวียดนามสูงถึง 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับจำนวนคนมากถึง 64 ล้านคน มีประชากรใช้สมาร์ตโฟนอีก 70 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยถัดมาคือนโยบายของรัฐ ที่ทำให้สอนวิชาคอมพิวเตอร์กันตั้งแต่ชั้นประถม แล้วก็เรียนกันจริงๆ จังๆ สุดท้ายก็ยังมีศูนย์เรียนรู้ชั้นสูงในประเทศ อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโฮจิมินห์ซิตี้

มือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับ “ดีที่สุด” ของโลกจึงมีชื่อคนเวียดนามแทรกอยู่เป็นยาดำ ไม่ใช่เรื่องแปลก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความคิดริเริ่มจากภาคเอกชน และความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

 

บริษัทระดับโลกอย่างซัมซุงและแอลจีจากเกาหลีใต้ เรื่อยไปจนถึงอินเทลจากสหรัฐอเมริกา และซีเมนส์จากเวียดนาม ล้วนมีส่วนช่วยในการผลักดันสตาร์ตอัพเวียดนามให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นเนื้อเป็นหนัง

เหตุผลเพราะบริษัทเหล่านี้มีโครงการฝึกอบรมพนักงานภายในประเทศ ที่เข้มข้นและจริงจัง ไม่แพ้พนักงานที่เข้ารับการฝึกอบรม

นอกจากนั้นยังมีโครงการริเริ่มนำตัวผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เคยเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ อย่างที่คนเวียดนามเรียกว่า “เวียตเกียว” กลับมาพัฒนาและเริ่มกิจการใหม่ๆ ในบ้านเกิดอีกด้วย

สุดท้าย ตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยมา รัฐบาลยังพยายามส่งเสริมบริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับออกมาช่วยเหลือ

กฎหมายว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ชัดเจน ช่วยให้บริษัทสตาร์ตอัพในท้องถิ่นเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสตาร์ตอัพ และกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอ็มเอ็มอี) ที่บังคับใช้เมื่อปีที่ผ่านมานี่เอง

นอกจากนั้น เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบเอกอุเหนือกว่าสิงคโปร์อีกประการ นั่นคือประชากร

เวียดนามมีประชากร 95 ล้านคน ขณะที่สิงคโปร์ทั้งประเทศมีเพียง 5.6 ล้านคนเท่านั้นเอง