จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (10)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักเต้ากับเหลาจื่อ (ต่อ)

จากเหตุนี้ สำนักเต้าจึงไม่แนะนำหรือส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าไปข้องแวะกับเรื่องทางโลก เพราะข้องแวะไปก็ไร้ประโยชน์ ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสำนักหญูของขงจื่อที่เห็นว่า ยิ่งมีความรู้ความสามารถมากเพียงใดก็ยิ่งต้องอุทิศตนเข้าไปแก้ไขปัญหาทางโลก

สำนักหญูจึงไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ชอบเร้นตนไปจากเรื่องทางโลกอย่างสาวกของสำนักเต้า เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแต่กลับไม่ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม

หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วก็อาจเห็นได้ว่า หลักคำสอนของสำนักเต้ามีบางส่วนที่ดูคล้ายกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ โดยเฉพาะการปลีกวิเวกเพื่อละจากเรื่องทางโลกที่ดูคล้ายเรื่อง ปรมัตถธรรม อันว่าด้วยสภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ หรือสิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุดในหลักอภิธรรมสี่ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นั้น เสถียร โพธินันทะ เห็นว่า สำหรับสำนักเต้าเป็นได้เพียง สัสสตทิฏฐิ

คือเห็นว่า อัตตาและโลกเป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืนและคงอยู่ตลอดไป

เช่นเห็นว่าคนและสัตว์ตายไป ร่างกายเท่านั้นที่ทรุดโทรม ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสยังคงเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป

สัสสตทิฏฐิ จึงเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ที่ผู้ปรารถนาบรรลุนิพพานพึงละเสีย

หลักคำสอนหรือทัศนะของสำนักเต้าจึงแตกต่างห่างไกลจากหลักคำสอนของพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในหลังจากที่สำนักนี้ตั้งมั่นอยู่ในสังคมจีนได้แล้ว จนถึงประมาณกลางสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) หลักคำสอนของสำนักนี้ก็ถูกขยายไปในทางอภินิหารและฤทธิ์เดชเวทมนตร์ ประกอบพิธีขลังต่างๆ บำเพ็ญฌานเพื่อถอดดวงวิญญาณ และเล่นแร่แปรธาตุเพื่อสร้างยาอายุวัฒนะ ฯลฯ แล้วตั้งตนเป็น “เต้าเหญิน” อันหมายถึง ผู้บำเพ็ญเต้า

หลักคำสอนที่ผิดเค้าไปจากเดิมนี้เองที่ทำให้ปรัชญาเต้าเป็นได้เพียง สัสสตทิฏฐิ จนกลายเป็นลัทธิความเชื่อที่ดูกึ่งศาสนากึ่งปรัชญาไปในที่สุด

การเปลี่ยนผันเช่นนี้ของสำนักเต้าได้ส่งผลสะเทือนใน 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่ง สำหรับผู้ที่เชื่อในหลักคำสอนดั้งเดิม คนในกลุ่มนี้ย่อมยึดเอา เต้าเต๋อจิง เป็นปกรณ์หลัก และใช้ชีวิตที่ไม่มีประเด็นไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้อง เป็นกลุ่มที่ยังคงความเป็นปรัชญาให้กับสำนักเต้า

แต่อีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ที่เชื่อในหลักคำสอนที่ขยายบริบทไปสู่ทางไสยศาสตร์ คนกลุ่มนี้แม้ยังนับถือ เต้าเต๋อจิง ว่าเป็นปกรณ์สูงสุดของตน แต่ก็เชื่อและเคร่งในหลักคำสอนที่มีขึ้นในชั้นหลังซึ่งมีประเด็นไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยมาก ความเชื่อที่มีต่อสำนักเต้าของคนกลุ่มนี้จึงห่างจากความเป็นปรัชญาไปไกล

ผลสะเทือนนี้ย่อมทำให้หลักคำสอนของสำนักเต้ายิ่งแตกต่างไปจากสำนักหญูมากยิ่งขึ้น คือมากจนเทียบกันมิได้

สำนักม่อกับม่อจื่อ

ม่อจัดเป็นอีกสำนักหนึ่งที่มีชื่อเสียงในยุคที่จีนเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม ชื่อของสำนักนี้มาจากเจ้าสำนักนี้คือ ม่อจื่อ

ประวัติของม่อจื่อไม่สู้ชัดเจนนัก แต่ก็ไม่ชวนสับสนเมื่อเปรียบเทียบกับเหลาจื่อ

เริ่มจากปีชาตะและมรณะที่ได้แต่ประมาณการ โดยบางที่ว่ามีชีวิตอยู่ในระหว่าง 480-390 ปีก่อน ค.ศ. บางที่ว่าระหว่าง 480-376 ปีก่อน ค.ศ. บางที่ก็ว่าระหว่าง 479-381 ปีก่อน ค.ศ.

ส่วนถิ่นเกิดก็เช่นกันที่ถกเถียงกันว่าควรเป็นรัฐใดระหว่างซ่งกับหลู่ ในข้อนี้มติส่วนใหญ่เห็นว่าม่อจื่อมีถิ่นเกิดที่รัฐซ่ง แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐหลู่ โดยม่อจื่อมีชื่อสกุลว่า ม่อ มีชื่อตัวว่า ตี๋

กล่าวกันว่า ชื่อสกุลของเขาอาจบ่งบอกถึงภูมิหลังของบรรพชนรุ่นแรกที่เคยต้องโทษทางกาย การต้องโทษนี้ทำให้เกิดรอยแผลเป็น เพราะหนึ่งในความหมายของชื่อสกุลของเขาหมายถึง รอยแผลที่เกิดจากการถูกลงโทษทางอาญา หากกรณีนี้เป็นเรื่องจริงก็นับว่าม่อจื่อมีภูมิหลังที่พิสดารไม่น้อย

สำหรับปกรณ์อันเป็นที่มาของหลักคิดของสำนักนี้ก็คือ ม่อจื่อ ปกรณ์เล่มนี้เชื่อกันว่าแต่งโดยม่อจื่อกับศิษยานุศิษย์ของเขา ตัวบทของ ม่อจื่อ มี 53 บท กล่าวกันว่า ในยามที่มีชีวิตอยู่นั้นม่อจื่อมีชื่อเสียงเทียบเท่าขงจื่อ และหลักปรัชญาสำนักม่อที่เขาเป็นเจ้าสำนักก็มีอิทธิพลไม่แพ้สำนักหญูเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแสดงว่า หลักปรัชญาของสำนักม่อต้องมีความพิเศษบางประการดำรงอยู่ หาไม่แล้วก็คงไม่มีอิทธิพลเทียบเท่าสำนักหญูที่เป็นกระแสหลักในขณะนั้นไปได้

โดยสารัตถะแล้วปรัชญาสำนักม่อมีภาพรวมของหลักคิดที่ต่างไปจากสำนักหญู จะกล่าวว่าคัดค้านสำนักหญูก็คงไม่ผิดนัก แต่ในขณะเดียวกันสำนักม่อก็มีจุดเด่นเฉพาะเป็นของตนเองอยู่ด้วยเช่นกัน ภายใต้ภาพรวมที่ว่า ในที่นี้จะได้กล่าวถึงหลักปรัชญาของสำนักม่อทั้งในส่วนที่คัดค้านสำนักหญู และที่เป็นจุดเด่นเฉพาะของสำนักนี้โดยสังเขปไปพร้อมกัน

เริ่มจากพื้นฐานที่มาของสำนักม่อที่ต่างจากสำนักหญูก่อน กล่าวคือ หากหญูหมายถึงบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาสูงแล้ว สำนักม่อกลับมีความสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นนักสู้หรือนักรบ

โดยเมื่อราชวงศ์โจวล่มสลายลงนั้น นักรบจำนวนมากได้สูญเสียตำแหน่งงานของตนไปจากรัฐในสังกัดที่พ่ายแพ้ในการศึก ส่งผลให้นักรบเหล่านี้ต้องพเนจรจนกลายเป็น “นักสู้พเนจร” หรือ โหย่วเสีย

จุดเด่นของนักสู้พเนจรเหล่านี้อยู่ตรงเป็นกลุ่มชนที่พูดจริงทำจริง ถือคำมั่นสัญญา ไม่รักตัวกลัวตาย กล้าที่จะเสี่ยงภัยเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

แต่เนื่องจากการเป็นนักสู้พเนจรมีฐานะตกต่ำ ผิดกับพวกหญูที่ยังคงมีฐานะดี นักสู้พเนจรเหล่านี้ (ซึ่งเคยมีฐานะดีมาก่อน) จึงรับไม่ได้กับการใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ดีของพวกหญู และทัศนคติเช่นนี้ก็ส่งผลสะเทือนมาถึงม่อจื่อ ก่อนที่จะกลายมาเป็นปรัชญาของสำนักม่อในที่สุด

ภูมิหลังจากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ทำให้เห็นโดยปริยายในเบื้องต้นว่า ม่อย่อมเป็นสำนักที่มีหลักคิดคัดค้านหญูประการหนึ่ง และมีพื้นฐานที่ผูกพันกับการต่อสู้อีกประการหนึ่ง

จากเหตุที่ว่า สำนักม่อจึงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินชีวิตในแบบสำนักหญู โดยเฉพาะในเรื่องรีตและคีตะ ดังนั้น ม่อจื่อจึงคัดค้านธรรมเนียมปฏิบัติ พิธีกรรม ประเพณี หรือขนบจารีต ที่ในหลายด้านมักมีคีตะเป็นองค์ประกอบ ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น สำนักม่อไม่เห็นด้วยแม้กระทั่งการไว้ทุกข์ให้แก่บิดามารดาที่นานถึง 3 ปี ว่าทำให้ราษฎรต้องสูญเสียทั้งเงินทองและแรงกายไปโดยเปล่าประโยชน์

นอกจากประเด็นเรื่องรีตกับคีตะแล้ว สำนักม่อยังคิดต่างไปจากสำนักหญูในเรื่องที่เหนือจริงอีกด้วย กล่าวคือ แม้สำนักหญูจะเชื่อในเทพผู้สูงสุดและเจตจำนงแห่งสวรรค์ (The Will of Heaven)

แต่สำนักหญูกลับไม่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดา ในขณะที่สำนักม่อกลับเชื่อทั้งเรื่องเทพผู้สูงสุด เจตจำนงแห่งสวรรค์ และผีสางเทวดา

โดยผู้ที่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดานั้นมักจะเป็นราษฎรทั่วไปหรือผู้มีฐานะต่ำต้อยในสังคม

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า สำนักม่อเกิดขึ้นมาเพื่อคัดค้านสำนักหญูโดยแท้ ข้อคัดค้านของสำนักม่อส่วนหนึ่งมีที่มาจากภูมิหลังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือเป็นภูมิหลังของผู้คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะพวกนักรบที่ตกต่ำลง จากเหตุนี้ หลักคิดของสำนักม่อจึงมักผูกพันกับชนชั้นล่างของสังคม และมองว่าสำนักหญูมักผูกพันกับชนชั้นสูง

แม้สำนักม่อจะคัดค้านสำนักหญูก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าสำนักม่อจะไร้ซึ่งหลักคิดหรือแนวทางที่เป็นทางออกให้แก่สังคมไปด้วยไม่ ตรงกันข้าม หลักคิดหรือแนวทางที่สำนักม่อเสนอนั้นกลับลึกล้ำไม่แพ้สำนักหญูเช่นกัน

หลักคิดที่สำนักม่อเสนอมีสารัตถะอยู่ที่ “ความรัก” เป็นสำคัญ ความรักนี้มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ภราดรภาพที่เรียกว่า เจียนอ้าย (Impartial Caring) อันเป็นความรักที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมของบุคคล

เมื่อเท่าเทียมแล้วความยุติธรรมและความห่วงหาอาทรระหว่างบุคคลก็ย่อมตามมา