วิรัตน์ แสงทองคำ : มองภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ผ่านกรณี “สยามกลการ-เอสซีจี”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า โปรดติดตาม

ภายใต้อุตสาหกรรมอิทธิพล

ว่าด้วยอุตสาหกรรมสำคัญหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมานาน และยังอยู่

ข้อเขียนชิ้นนี้ มีแรงกระตุ้นมาจากภาพย่อยๆ จากกระแสและเหตุการณ์ จนมาถึงบุคคลผู้น่าสนใจเกี่ยวข้องเพื่อจะนำไปสู่ความพยายามเปิดภาพเชื่อมโยงกับบริบทสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมซึ่งมีวงจรและห่วงโซ่อย่างกว้างขวางและซับซ้อน มีธุรกิจต่างชาติเป็นแกนสำคัญอย่างแท้จริง

ขณะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อยของสังคมไทย เกิดและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างมากมาย เป็นดาวบริวารมหึมา

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับตัวเข้าสู่สภาวะการแข่งขันของ Global supply chain ในระดับโลกที่เป็นการแข่งขันที่ไม่ใช่เป็นเพียงการเป็นฐานการผลิตที่สําคัญของโลกเท่านั้น หากแต่ต้องมุ่งพัฒนาในเรื่องการทําวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดรับกับแนวโน้มของทางเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต” แนวทางที่น่าสนใจจากผู้เกี่ยวข้อง (อ้างอิงจาก “กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” เปิดฉากให้เห็นบทบาทและความสำคัญยังคงอยู่และพัฒนาไป)

ภาพอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ราวๆ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จากบทบาทสำคัญโดยเครือข่ายธุรกิจยานยนต์แห่งญี่ปุ่น อาจมองภาพเคลื่อนไหวนั้น ผ่านกรณีตัวอย่างที่สำคัญในสังคมธุรกิจไทย

โดยเฉพาะกรณีสยามกลการ และเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)

 

กรณีสยามกลการ

ตํานานสยามกลการเชื่อมโยงกับถาวร พรประภา หนึ่งในผู้สถาปนาธุรกิจไทยยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

สยามกลการ ก่อตั้งขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าควบคุมประเทศไทย ในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ถาวร พรประภา เป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าเครื่องเหล็ก มีโอกาสได้รู้จักกับผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญชักนำให้ได้เป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN ในประเทศไทย

สยามกลการเป็นผู้แทนขายรถยนต์ NISSAN นอกประเทศญี่ปุ่นรายแรกของโลก

ประวัติการบุกเบิก ด้วยความยากลำบากของถาวร พรประภา เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร NISSAN แห่งญี่ปุ่นหลายเจเนอเรชั่น เกรงอกเกรงใจ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยมากขึ้น

การขายรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก สยามกลการประสบการขาดทุนเกือบๆ 10 ปี จน NISSAN แห่งญี่ปุ่นต้องเข้ามาช่วยเหลือ

โดยเฉพาะการร่วมทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ครั้งแรกในเมืองไทยในปี 2505

การรวมทุนครั้งนั้นดำเนินไปสักระยะก็ถอนตัวออกไป

“ข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ ท่านช่วยเราจริงๆ มิใช่หลอกใช้เรา แล้วยึดไปทำเองเหมือนกับญี่ปุ่นบางบริษัท ที่ตั้งเอเย่นต์แล้วตอนหลังยึดเอาไป ข้าพเจ้าโชคดีมากที่ได้พบคนดี” บันทึกความทรงจำของถาวร พรประภา เนื่องในโอกาสอายุครบ 60 ปี (16 พฤศจิกายน 2519)

เรื่องราวทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง อีก 20 กว่าปีต่อมา ปี 2529 นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการสยามกลการแทนถาวร พรประภา สร้างความประหลาดใจกับวงการธุรกิจ

สยามกลการจำต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ อ้างอิงยุทธศาสตร์ GLOBAL PLAN ของ NISSAN แห่งญี่ปุ่น

เหตุการณ์นั้นต่อเนื่องจากผลพวงการลดค่าเงินบาทในช่วงต้นปี 2527 สยามกลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนหลายร้อยล้านบาท

วิกฤตการณ์ครั้งสำคัญจบลง เมื่อ NISSAN แห่งญี่ปุ่น ได้เข้ามาถือหุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในบริษัทสยามนิสสันออโตโมบิล ซึ่งเป็นกิจการหลักที่สำคัญในฐานะโรงงานประกอบรถยนต์ NISSAN

ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นจุดตั้งต้น ก่อนที่ NISSAN จะมีบทบาทครอบงำอย่างแท้จริงในเวลาต่อมา แม้แต่ NISSAN แห่งญี่ปุ่น (https://www.nissan-global.com) ก็ได้บันทึกไว้ “Nov1990 Nissan acquires an equity interest in Siam Motors Co., Ltd., in Thailand.1”

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผชิญวิกฤตทั้งระบบครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 2540 โฉมหน้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อย่างรวดเร็ว โดยพุ่งเป้าไปยังกิจการร่วมทุน กับกลุ่มธุรกิจครอบครัวอิทธิพลของไทย เครือข่ายธุรกิจยานระดับโลกแห่งญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทครอบงำมากขึ้น เริ่มตั้งแต่กรณี MAZDA กับตระกูลสุโกศล MITSUBISHI กับตระกูลพรรณเชษฐ์ จนมาถึงสยามกลการ

 

กรณีเอสซีจี

แรงขับเคลื่อนเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กับความพยายามเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับบางบริบท และผู้คน

หนึ่ง-มุมมองทางธุรกิจอันคลาสสิค มองเห็นโอกาสทางธุรกิจอันเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2506

สอง-ด้วยความสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จากยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ผู้ถือว่าเป็น Japanese connection คนสำคัญ ผู้มีอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจีช่วงหนึ่ง

และสาม-แผนการใหญ่เอสซีจี เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดขึ้นอย่างจริงจังในยุคผู้บริหารคนสำคัญ (ชุมพล ณ ลำเลียง) ซึ่งมีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก ในช่วงสถานกาณ์เอื้ออำนวย

จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากการร่วมทุนกับ KUBOTA แห่งญี่ปุ่น ในการผลิตเครื่องยนต์การเกษตรในปี 2521 ต่อจากนั้น ในความพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจเหล็กของเอสซีจีซึ่งมีปัญหาตั้งแต่ก่อตั้ง ในยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ปรับตัวเข้าสู่การผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก รถปิกอัพ และรถจักรยายนต์ของญี่ปุ่นหลายราย

หลังปี 2530 ถือเป็นช่วงเอสซีจีเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อย่างเต็มตัว ด้วยการร่วมทุนผลิตเครื่องยนต์และประกอบรถยนต์กับ TOYOTA (รวมทั้งเข้าถือหุ้นข้างน้อยกับ ISUZU และ NISSAN ด้วย) จากนั้นเข้าร่วมทุนผลิตแบตเตอรี่กับ FURAKAWA รวมทั้งขยายโอกาสร่วมทุนกับธุรกิจที่มิใช่ญี่ปุ่นด้วย อาทิ LEMMERZE และ MICHELIN

กลุ่มธุรกิจยานยนต์ของเอสซีจีในช่วงก่อนปี 2540 ดูภาพยิ่งใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เอสซีจีในฐานะเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพลในสังคมไทย จำต้องปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่

นำมาซึ่งแผนการถอนตัวออกจากธุรกิจยานยนต์อย่างสิ้นเชิง ด้วยตกผลึกว่า เป็นธุรกิจที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองอย่างแท้จริง ต้องพึ่งพาทางยุทธศาสตร์กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

 

โครงสร้าง

จากบางภาพและบางกรณี สามารถเชื่อมสู่ระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ

หนึ่ง-อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย สถาปนาขึ้นภายใต้กระบวนการขยายเครือข่ายธุรกิจระดับโลกแห่งญี่ปุ่นเป็นสำคัญ จากนั้นตามมาด้วยเครือข่ายธุรกิจยานยนต์ระดับโลกซึ่งมิใช่ญี่ปุ่น

สอง-เริ่มต้นสร้างฐานการผลิตเพื่อป้อนตลาดใหญ่ในประเทศไทยซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน

สาม-สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน กลายเป็นสินค้าส่งออกสูงสุดซึ่งมีความสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย พิจารณาเฉพาะสถิติมูลค่า มีมากกว่าสินค้าคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ซึ่งในยุคก่อนหน้า มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และมากกว่าสินค้าเกษตรเศรษฐกิจพื้นฐาน ไม่ว่ายางพารา และข้าว

สี่-อุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญและอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก ในฐานะเป็นเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยง (Supply chain) อย่างกว้างขวางที่สุด มีผู้เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะแรงงาน และผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก

 

วิวัฒนาการ

ความสำคัญ ความสัมพันธ์ กับนโยบายรัฐเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกๆ มีความพยายามให้ธุรกิจไทยมีบทบาท มาจากฐานความเชื่อในเรื่องการถือหุ้นและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งแต่การกำหนดชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content Requirements : LCR) จนถึงขั้นสำคัญให้มีการผลิตเครื่องยนต์ดีเชลในประเทศเอง (2525-2530)

จากนั้นเข้าสู่ยุคผ่อนคลายกฎเกณฑ์ พยายามมองระดับภูมิภาคมากขึ้น (2533-2540) ทั้งสองช่วงถือเป็นยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก สุดท้ายจำเป็นต้องเปิดเสรี ในฐานะฐานการผลิตของธุรกิจระดับโลก (ตั้งแต่ปี 2543) ภายใต้กระแสและแรงบีบคั้นจากระบบธุรกิจโลก

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐไทยนับว่าได้ผล ผลพวงขยายวงมายังอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ห่วงโซ่อุปทานสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์

“ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย ทางการกำหนดสัดส่วนบังคับใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ ในการผลิตยานยนต์ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะได้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวไปแล้ว แต่การผลิตยานยนต์ในไทยมีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศค่อนข้างสูงกว่า 80% โดยปัจจุบันการผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยใช้ชิ้นส่วนในประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่การผลิตรถยนต์นั่งและรถปิกอัพในไทยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ 60-80% (สัดส่วน 90% เฉพาะในการผลิต Eco-car) และ 90% ของมูลค่าชิ้นส่วนทั้งหมดตามลำดับ”

อ้างจาก “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2560-2562 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์” กรกฎาคม 2561 โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา

“ตลาดภายในประเทศเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีสัดส่วนประมาณ 65-70% ของรายรับรวมในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน …ด้านการส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 30-35% ของรายรับรวมของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในไทย” (อีกตอนของรายงานข้างต้น)

ที่สำคัญอยู่ที่บทสรุป “อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นหนึ่งใน Global Sourcing ของโลก ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยมีสถานะเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนทุกประเภทเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนอันดับ 14 ของโลก”

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากๆ ภาพอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ขยายตัวต่อเนื่อง มีธุรกิจเกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมธุรกิจไทย มีทั้งเครือข่ายระดับโลก ธุรกิจในเครือข่ายยานยนต์แห่งญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยของไทยเกี่ยวข้องนับพันแห่ง

มีรายสำคัญที่พอจะอ้างถึงได้ คือ กลุ่มไทยซัมมิท