เพ็ญสุภา สุขคตะ / รัศมีสุรีย์แสง : ลายทแยงมโหระทึก ถึงดินเผาหริภุญไชย ตอนจบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จากหม้อกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์
สู่โกศ คนโท หม้อดินของชาวมอญ

คําว่า “ภาชนะดินเผายุคหริภุญไชย” ผู้สนใจโบราณคดีสมัยทวารวดีภาคเหนือ สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึง “ภาชนะที่ทำจากดินเหนียวเผาด้วยไฟอ่อนๆ (เรียก terra cotta คล้ายการเผาอิฐธรรมดา) โดยไม่เคลือบน้ำยา”

ถือว่าเป็นกรรมวิธีขั้นพื้นฐานที่สุดแล้วในบรรดาสิ่งที่เรียกว่า Pottery พัฒนาสืบต่อจากหม้อใส่กระดูก (หม้อก้นกลมปากผาย) ที่พบตามหลุมศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเริ่มจากลักษณะเนื้อดินที่หยาบ เผาในอุณหภูมิที่ไม่สูงมาก

หม้อประเภทนี้เป็นต้นกำเนิดของ “หม้อดิน” ที่ชาวมอญใช้ใส่อาหารจวบจนปัจจุบัน เช่น ใช้หมักข้าวแช่ น้ำยาขนมจีน

จากหม้อก้นกลมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเร็ว พัฒนามาเป็น “คนโท” หรือหม้อใส่น้ำ (ทั้งแบบมีเชิงฐานและไม่มีเชิง) กับ “โกศ” ใส่ศพในวัฒนธรรมหริภุญไชย โกศดินเผามีรูปร่างคล้ายผอบทรงกระบอกฐานใหญ่ มีฝาปิดเป็นยอดแหลม

ภาชนะรุ่นเก่าสุดมีเนื้อดินละเอียดสีนวลขาวเหลืองคล้ายดอกพิกุลมากกว่าจะเป็นสีส้มฟักทองเหมือนยุคหลังๆ

 

“ขูด-ขุด-ขีด” + เทคนิคแบบโรมัน

การตกแต่งผิวภาชนะให้งดงาม ในฐานะที่เป็นดินเผาแบบไม่เคลือบเหมือนเครื่องถ้วยยุคสุโขทัยและล้านนาจึงไม่สามารถที่จะเขียนลวดลายดอกไม้ พันธุ์พฤกษา หรือรูปนก ปลาได้ ทำได้เพียงการทาน้ำดินสีครีม กับการตกแต่ง texture ด้วยกรรมวิธีต่างๆ ดังนี้

๏ ลายขูดและขุด (Excising) การขูดคือกรีดรอยบนพื้นผิวภาชนะให้เกิดร่องลึกเป็นเส้นๆ อาจขูดเป็นเส้นเดียวและหลายเส้นในแนวนอนตามขวาง คล้ายลายกลึงหม้อที่เกิดจากแป้นหมุน ส่วนลายขุดคือการล้วงคว้านพื้นผิวบางส่วนออกให้เกิดมิติ อาจเป็นลายเส้นคดโค้ง

๏ ลายขีด (Incising) ต่างจากลายขูดหรือขุด กล่าวคือ ลายขีดจะเป็นลายเส้นที่เล็กและบางลงกว่าการขูด เป็นการใช้เหล็กปลายแหลมทิ่มหรือจิ้มผิวภาชนะแทนพู่กัน ใช้ตกแต่งลวดลายประดับมากกว่าจะเป็นเส้นแกนหลัก เช่น ลายขีดเป็นรูปดอกไม้ รูปสามเหลี่ยมหัวกลับซ้อนกัน ฟันปลา และริ้วคลื่นคดโค้ง

๏ เทคนิคกดประทับด้วยซี่กงล้อหรือซี่ฟันเฟือง (Rouletted technique) ต้องกดลายในขณะที่ผิวภาชนะยังเปียกอยู่ ทำให้เกิดลายซี่หวี หรือทำเป็นลายขัดแตะคล้ายถักเปียไขว้ เป็นเทคนิคการตกแต่งภาชนะของกรีก-โรมันตอนปลายสมัยเฮเลนิสติก ในช่วงต้นคริสตกาลชาวโรมันได้เข้ามาค้าขายติดต่อกับชาวอินเดีย และตั้งถิ่นฐานที่เมืองท่าทางภาคใต้คือเมืองอริกเมฑุ และทางภาคตะวันตกแถบเมืองคันธารราษฎร์ โรมันได้นำเทคนิคนี้เข้ามาเผยแพร่ในอินเดีย จากนั้นกระจายไปสู่พม่าและลำพูน สำหรับในประเทศพม่าแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี บริเวณเมืองไบก์ถาโน (บางสำเนียงออกเสียงเป็นเบ็กทาโน่ Beikthano) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของชนชาติเผี่ยว (พยู่, ปยู Pyu) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-10 มีการขุดพบภาชนะดินเผาที่ตกแต่งด้วยเทคนิค Rouletted technique ซึ่งนิยมสืบต่อมาจนถึงสมัยพุกามช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากการใช้เทคนิค Rouletted แบบโรมันที่เหมือนกันแล้ว ยังพบว่ารูปทรงของคนโทและโกศที่หริภุญไชยมีความคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาที่พบในเมืองไบก์ถาโนอีกด้วย

พบว่าภาชนะดินเผายุคหริภุญไชยเกือบทุกใบล้วนใช้เทคนิค 3 ชนิดนี้ประกอบกันทั้งสิ้น

 

กลีบบัวด้านนอก-รัศมีพระอาทิตย์ด้านใน

ลวดลายที่พบตามไหล่ภาชนะด้านนอก มักเป็นรูปกลีบบัวยาว หรือใบไม้สามเหลี่ยมกลีบยาว มีทั้งคว่ำ-หงาย ถือว่าเป็นลายเอกลักษณ์ของภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมหริภุญไชยเลยก็ว่าได้ ไม่พบที่วัฒนธรรมทวารวดีภาคอื่นๆ

ซึ่งดิฉันเชื่อว่า เป็นพัฒนาการของลวดลายสามเหลี่ยมที่เคยมีความหมายถึง “รัศมีของดวงอาทิตย์” แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาสู่ลายกลีบดอกไม้หรือใบไม้ที่มีความยาวปลายแหลม คล้ายกลีบบัวหรือใบเตยที่ใช้ใส่แจกันบูชาพระ

พบว่าลายใบไม้สามเหลี่ยมกลีบยาวนี้มักเขียนกรอบด้วยลายเส้นตวัดอย่างอิสระ ภายในกรอบใบไม้เขียนลายขีดเส้นเล็กๆ เต็มกลีบใบ แม้ว่าตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น ลายกลีบบัวเป็นดอกไม้มงคล หมายถึงปางประสูติของพระพุทธเจ้า แต่ในทัศนะของดิฉันนั้น ยังมีนัยความหมายลึกๆ เรื่องการบูชาพระอาทิตย์แฝงเร้นมากับรูปใบไม้สามเหลี่ยมกลีบแหลมนี้ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือไปจากการตกแต่งลวดลายที่ภาชนะด้านนอกแล้ว

ยังพบลวดลายที่ก้นภาชนะด้านในอีกด้วย ซึ่งหากภาชนะใบนั้นปากขอบไม่แตกออก ก็ยากที่จะสามารถมองเห็นลวดลายเต็มๆ ภายในเนื่องจากอยู่ลึกที่ก้นฐาน

ลวดลายที่พบด้านในภาชนะคือ ลวดลายรัศมีของพระอาทิตย์ เกิดจากการทำรูปวงกลมตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยลายเส้นรูปสามเหลี่ยมกระจายมีตั้งแต่ 8 แฉกถึง 12 แฉก อันเป็นคติที่สืบทอดมาจากลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึกสำริดยุคก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณภาคเหนือได้มีการพบกลองมโหระทึกอายุกว่าสามพันปีอยู่หลายใบ อาทิ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำปิง พบที่เวียงมโน เวียงป่าซาง เวียงระแหง (ตาก) และลุ่มแม่น้ำน่าน พบที่น่านและอุตรดิตถ์

ดังที่กล่าวในฉบับก่อนว่า ชาวบ้านเรียกกลองมโหระทึกว่า “ฆ้องกบ” เนื่องจากมีกบสองตัว ตัวผู้และตัวเมียขี่คร่อมกันบนหน้ากลองด้วย สะท้อนถึงการขยายเผ่าพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ในด้านการเกษตร

ส่วนรูปพระอาทิตย์มีรัศมีเป็นแฉกสามเหลี่ยมนี้สะท้อนถึงคติการบูชาธรรมชาติดวงอาทิตย์ ในฐานะ “พระสุริยเทพ” ของคนในแถบอุษาคเนย์ ก่อนที่จะมีการนับถือศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ มนุษย์ยุคโบราณมีความเชื่อว่าพระอาทิตย์มีความยิ่งใหญ่เสมือนกับเทพเจ้าผู้ประทานชีวิต เป็นผู้กำเนิดธรรมชาติ และบันดาลสรรพสิ่งต่างๆ ให้แก่โลก

จะเห็นว่าแนวคิดเรื่องการบูชาพระอาทิตย์นี้ เกิดขึ้นมาแทนที่คติความเชื่อเรื่องการบูชาเทพเจ้างู ดังลวดลายงูไขว้ไปมาบนภาชนะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และแม้เมื่อมีการนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องพลังอำนาจของพระอาทิตย์ยังคงมีสืบมาอย่างคู่ขนานในสังคมหริภุญไชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงเป็นลวดลายหลัก ถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งภาชนะดินเผาทั้งประกอบพิธีกรรมการฝังศพ คือโกศ และใช้ในชีวิตประจำวันคือคนโท หม้อน้ำ

เรื่องลวดลายพระอาทิตย์บนหน้ากลองมโหระทึกยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือ “กลองสำริดในวัฒนธรรมดองซอน” ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วอุษาคเนย์นี้ ดิฉันเชื่อว่าแม้นเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ลายพระอาทิตย์ฉายแสงก็ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและจริงจังในหลายวัฒนธรรม

ที่ชัดเจนที่สุดก็คือบนภาชนะดินเผาของยุคหริภุญไชย