คนมองหนัง : ไปดู “หนังอาเซียน” ที่ “เทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์”

คนมองหนัง

ช่วงปลายปีก่อน มีโอกาสไปชมภาพยนตร์หลายเรื่องที่เทศกาลหนังนานาชาติสิงคโปร์ 2018 และบางเรื่องก็เป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวน่าสนใจของผู้กำกับฯ จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงร่วมประชาคมอาเซียน

จึงเห็นควรนำมาเล่าสู่กันฟังแบบย่นย่อ

ดังนี้

Season of the Devil (ฟิลิปปินส์)

แม้หนังเรื่องนี้ของ “ลาฟ ดิแอซ” ผู้กำกับภาพยนตร์ดีกรีรางวัล “สิงโตทองคำ” จากเทศกาลเวนิส จะมีความยาว “เพียงแค่” 3 ชั่วโมง 54 นาที สั้นกว่า “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ซึ่งมีความยาว “ถึง” 8 ชั่วโมง 5 นาที ลิบลับ

แต่ทั้งสองเรื่องก็มีจุดเชื่อมโยงกันอันเด่นชัดพอสมควร อย่างน้อยที่สุดก็ได้แก่ประเด็นบทบาทของ “เพลง/กวี” ในการต่อสู้ทางการเมือง และการกล่าวถึงการต่อสู้ปลดแอกทางการเมือง ในฐานะ “โครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุด” (รวมทั้งการเป็น “หนังขาว-ดำ”)

“Season of the Devil” เป็น “หนังเพลง” ที่ปราศจาก “เสียงดนตรี” กล่าวคือ แม้บรรดาตัวละครหลักจะร้องเพลงกันแทบตลอดเวลาร่วมสี่ชั่วโมง โดยมีบทสนทนาปกติน้อยมาก แต่เพลงในหนังกลับไม่มี “เสียง (เครื่อง) ดนตรี” ใดๆ มาประกอบคลอเคียง

ตรงกันข้าม การร้องเพลงของเหล่าตัวละครกลายเป็นการเอื้อนเอ่ยพรั่งพรูถ้อยคำ ด้วยน้ำเสียงสูงต่ำราวท่วงทำนองดนตรีจากปากของมนุษย์

เพลงต่างๆ ของหนังเรื่องนี้จึงมีลักษณะโน้มเอียงไปทางบทกวี (ขณะเดียวกัน พระเอกของเรื่องก็เป็นกวีด้วย)

ดิแอซพยายามฉายภาพการต่อสู้ระหว่างอำนาจเผด็จการกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและเพรียกหาความจริงของพลเมือง ผ่านการปะทะกันระหว่าง “เพลง/กวี” ของทหาร/กองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาล กับ “เพลง/กวี” ของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้

ถึงที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็สร้าง “มายาคติ” หรือ “นิทานปรัมปรา” ซึ่งอยู่นอกเหนือ “ความจริง” ขึ้นมาห้ำหั่นกัน

ดังจะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างมี “บุคคลในจินตนาการ” หรือ “บุคลาธิษฐาน” ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมอุดมการณ์หรือเครื่องมือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจของพวกตน

แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า การที่หนังเลือกห่อหุ้มตัวเองด้วย “เพลง/กวี” นั้น ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างตัวละครสองกลุ่มที่ควรจะแหลมคมรุนแรงกว่านี้ กลับ “อ่อนโยน” และมีลักษณะ “เหนือจริง” เกินไปหรือเปล่า?

ขณะเดียวกันคนดูบางส่วนอาจจะรู้สึกอึดอัดหน่อยๆ ที่ดิแอซเล่าเรื่องราวแบบย้ำคิดย้ำทำ ด้วย “เพลง/กวี” ชิ้นเดิมๆ ซึ่งถูกผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ และโครงสร้างเรื่องราวที่หมุนเวียนเคลื่อนวนเป็นวงกลม

อย่างไรก็ดี พอถึงฉากจบ เราจะพบว่าสิ่งที่ผู้กำกับฯ รายสำคัญของฟิลิปปินส์เลือกทำและปูทางไว้นั้นส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสต่ออารมณ์ผู้ชมไม่น้อย

The Ashes and Ghosts of Tayug 1931 (ฟิลิปปินส์)

ผลงานของคนทำหนังหนุ่ม “คริสโตเฟอร์ โกซัม” ซึ่งเล่าเรื่องราวว่าด้วย “เปโดร คาโลซ่า” ที่เป็นคล้ายๆ ผู้นำ “กบฏชาวนา/ผีบุญ” ของฟิลิปปินส์ ผ่านเหตุการณ์สามช่วงเวลาใน ค.ศ.1931, 1966 และ 2017

ปี 1931 คาโลซ่าถูกเนรเทศออกมาจากฮาวาย โทษฐานไปก่อตั้งสหภาพแรงงานที่นั่น พอกลับถึงบ้านเกิด เขาก็หันมานำขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคมอเมริกา โดยอิงกับความเชื่อทางคริสต์ศาสนาแบบท้องถิ่น

คาโลซ่าก่อให้เกิดการลุกฮือครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นเหมือน “ชัยชนะของคนแพ้” เพราะบรรดาแกนนำถูกจับกุม ชาวบ้าน/ชาวนาที่ร่วมเป็นกบฏถูกฆ่าตายหลายราย (ชาวเมืองไม่ร่วมมือกับพวกเขา) แต่ก็สร้างแรงบันดาลใจแก่นักต่อสู้รุ่นถัดมา

ปี 1966 (ยุคมาร์กอสเพิ่งครองอำนาจ) มีนักวิชาการสองคนเดินทางขึ้นเขาไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าคาโลซ่า ถึงการลุกฮือเมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา เขาจะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ปี 2017 ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนหนึ่ง (เป็นตัวละครสมมุติ) พยายามจะสร้างหนังเกี่ยวกับคาโลซ่า ระหว่างการทำงานเธอได้ตระหนักว่าเรื่องราวของเขาคือความทรงจำที่เลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คนรุ่นหลัง เขาคือวีรบุรุษผู้ถูกหลงลืม

ช่วงเวลาของ “The Ashes and Ghosts of Tayug 1931” นั้นคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองหน้าสำคัญๆ ของบ้านเราพอดี

ปี 1931 ก็ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ส่วนปี 1966 ก็คือยุคสงครามเย็นหรือสงครามปราบคอมมิวนิสต์ (หนังระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาชักชวนคาโลซ่าเข้าร่วมต่อสู้ แต่เขาไม่ได้ตอบตกลง)

แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าเรื่องราวในภาคปัจจุบัน แสดงอาการผิดหวังฟูมฟายกับการหลงลืมประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลังมากเกินไปหน่อย

อย่างไรก็ดี จุดเด่นสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจมิใช่เนื้อหา แต่อยู่ตรงรูปแบบการนำเสนอ

นอกจากจะเป็นหนังขาว-ดำแล้ว ผลงานของโกซัมยังตัดเหตุการณ์สามช่วงเวลาสลับไปมา โดยเหตุการณ์ปี 1931 ถูกนำเสนอในลักษณะ “ภาพยนตร์เงียบ” เหตุการณ์ปี 1966 จะเลียนแบบ “หนังสารคดีชาติพันธุ์นิพนธ์” ส่วนเหตุการณ์ปี 2017 จะเป็นการนำภาพนิ่งจากกล้องถ่ายรูปดิจิตอลมาร้อยเรียงกัน โดยมีเสียงวอยซ์โอเวอร์ของตัวละครนำหญิงคอยบรรยายประกอบ

ผู้กำกับฯ อธิบายว่ารูปแบบการนำเสนอสามประเภท ล้วนล้อไปกับลักษณะเด่นของภาพยนตร์ (หรือ “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว”) ในยุคสมัยนั้นๆ

Graves Without a Name (กัมพูชา)

“ฤทธี ปานห์” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เชื้อสายกัมพูชา ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำหนังสารคดีบอกเล่าถึง “ความทรงจำบาดแผล” ใน/จากยุคเขมรแดงมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “The Missing Picture” ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

ปี 2018 ปานห์กลับมาพร้อมกับ “Graves Without a Name” ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอว่าเราอาจสามารถเข้าถึง “ความจริง” และ “ความทรงจำ” เรื่องเขมรแดงได้ด้วยวิธีวิทยาและญาณวิทยาอันหลากหลาย

แน่นอน วิธีการหนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือ การตั้งกล้องสัมภาษณ์บรรดาผู้ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนั้น

ชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ถูกสัมภาษณ์ มีบทบาททั้งในฐานะ “ผู้กระทำการ” คือเคยเข้าร่วมกับเขมรแดงอย่างกระตือรือร้น และ “ถูกกระทำ” กล่าวคือ แม้ชาวชนบทเช่นพวกเขาจะไม่ถูกทำร้ายทรมาน แต่ต่อมาหลายคนเริ่มตระหนักว่า ภายหลังความตายของชาวเมืองที่ร่ำรวยจำนวนมหาศาล ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น ความเท่าเทียมที่เคยหวังไว้ไม่ปรากฏ

สรุปสุดท้ายแล้ว พวกเขาจึงโดนหลอกนั่นเอง

(ชาวบ้านคนหนึ่งพูดปลงๆ กับปานห์ทำนองว่า ถ้าพื้นโลกมันไม่ “ราบเป็นหน้ากลอง” ความเท่าเทียมก็ไม่มีอยู่จริงหรอก)

การสัมภาษณ์ “ผู้กระทำการ/ผู้ถูกกระทำ” ในหนังเรื่องนี้ให้ผลลัพธ์ที่ตื้นตันชวนฉุกคิดอยู่เหมือนกัน แม้จะไม่ได้บีบคั้น กดดัน ทารุณคนดู เท่ากับงานของ “โจชัว ออพเพนไฮเมอร์” ซึ่งมุ่งสืบสาวการก่ออาชญากรรมการเมืองของฝ่ายขวาอินโดนีเซีย

แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ กลับเป็นเนื้อหาในส่วนที่ปานห์พยายามติดต่อวิญญาณคนตาย/เหยื่อผู้เสียชีวิตจากน้ำมือเขมรแดง และเสาะแสวงหาร่องรอยที่เหลืออยู่ของพวกเขา ผ่าน “ไสยศาสตร์”

“ไสยศาสตร์” ในหนังมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่พิธีกรรม “การเกิดใหม่” แบบพุทธ-ผี, การเข้าทรง, การนั่งทางใน หรือการตั้งไข่ เพื่อสื่อสารกับวิญญาณ

คนทำหนังกัมพูชา ซึ่งไปอาศัยและทำงานในฝรั่งเศส คล้ายกำลังบอกกล่าวกับคนดูว่า การเข้าถึง “ความจริง” และ/หรือ “ความทรงจำ” นั้นมีหลายหนทาง

และบางที “ความจริง” ที่เยียวยาเรา อาจจะ “ไม่จริง” ก็ได้ ดุจเดียวกับ “ก้อนหิน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เขาใช้สื่อแทน “กระดูกผู้วายชนม์”

จุดเด่นของ “Graves Without a Name” จึงได้แก่ สารที่ประกาศว่าการเสาะแสวงหาสัจจะทางการเมืองนั้น มีมิติเรื่อง “จิตวิญญาณ” ดำเนินคู่ขนานกันไป

บ่อยครั้ง มิติชนิดหลังกลายเป็นสิ่งที่ช่วยปลดปล่อย หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายมนุษย์ จากพันธะหนักอึ้งของอดีตและความทรงจำ