ชัยชนะของมนุษยธรรม กรณี “ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน”

กรณี ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน หญิงสาววัย 18 ปีจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกกักตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกเพียงกรณีเดียว สามารถสะท้อนแง่มุมต่างๆ หลากหลายมาก ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม ศาสนา เรื่อยไปจนถึงนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยและกฎหมายกับมนุษยธรรม

แต่เป็นอีกครั้งที่มนุษยธรรมได้รับชัยชนะ

ราฮาฟเดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 5 มกราคม ด้วยเครื่องบินสายการบินคูเวตแอร์เวย์ส เพื่อเปลี่ยนเครื่องสำหรับเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางแต่เดิมคือออสเตรเลีย

เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยกักตัวไว้ตามคำขอของเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียและคูเวต เตรียมส่งตัวกลับประเทศต้นทางคือคูเวต ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ราฮาฟต่อสู้สุดขีด อาวุธสำคัญก็คือบัญชีทวิตเตอร์ในสมาร์ตโฟน ราฮาฟไม่เพียงบอกเล่าชะตากรรมที่เธอเผชิญมาจากน้ำมือของคนในครอบครัวเท่านั้น ยังลงทุนถึงขนาดปิดกั้นตัวเองอยู่แต่ภายในห้องพัก ไม่ยอมออกไปไหนจนกว่าจะได้พบกับเจ้าหน้าที่ของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์)

หลังผ่านกระบวนการสัมภาษณ์แล้ว ราฮาฟก็ได้สถานะผู้ลี้ภัยตามที่ต้องการ และกำลังรอการดำเนินกระบวนการพิจารณาให้สถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศออสเตรเลียจากทางการออสเตรเลียอยู่ในเวลานี้

ในที่สุด อัล-คูนัน ตัดสินใจเลือกแคนาดา และได้รับการรับรองสถานะก่อนเดินทางถึงอย่างปลอดภัยโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดาไปต้อนรับด้วยตัวเอง

 

ทางการไทยได้รับแจ้งในตอนแรกว่า ราฮาฟ “หลบหนีครอบครัวมา เพราะไม่อยากแต่งงาน” ทำให้ตัดสินใจในเบื้องต้นว่าควร “ส่งตัวกลับ” เพราะถือเป็นเพียง “ปัญหาในครอบครัว” เท่านั้น

แต่ปรารถนา มิตรา แห่งคิวริอุส ให้มุมมองที่แตกต่างออกไปคนละทางในรายงานที่ปรากฏในนิตยสารฉบับนี้เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา

สิ่งที่ปรากฏผ่านทวิตเตอร์ของราฮาฟมีอะไรมากกว่านั้นมาก

สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านเนื้อหาในทวิตเตอร์ของเธอนั้นคือภาพของ “ความรุนแรงในครอบครัว” ในระดับ “สูงที่สุด”

เมื่อครอบครัวเคร่งจารีตของราฮาฟกดขี่เธอ “ทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

มากจนถึงขนาดที่เจ้าตัวเกิดความกลัว ความกังวลว่าจะถูก “คร่าชีวิต” ถ้าหากถูกส่งตัวกลับคืนสู่ครอบครัว

“พวกเขาจะฆ่าฉันเพราะฉันหนีมา และเพราะฉันประกาศความไม่เชื่อถือในศาสนาอีกต่อไปแล้ว” ราฮาฟบอกกับนิวยอร์กไทม์ส ไว้อย่างนั้น ทั้งยังบอกกับรอยเตอร์สผ่านทวิตเตอร์ไว้อีกด้วยว่า

“พวกนั้นต้องการให้ฉันสวด ให้สวมผ้าปิดหน้า ซึ่งฉันไม่อยากทำ” และ “ชีวิตฉันเป็นอันตราย ครอบครัวขู่จะฆ่าฉันเพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้”

ปรารถนา มิตรา บอกว่า การต่อสู้ผ่านสังคมออนไลน์ของเธอ ไม่เพียงได้รับแรงสนับสนุนจากหลายมุมโลกเท่านั้น ยังมีผู้คนอีกมากมายร่วมต่อสู้กับราฮาฟด้วย ถึงขนาดพยายามขัดขวางเที่ยวบินของสายการบินที่เดิมถูกกำหนดไว้ว่าจะเป็นเที่ยวบินส่งเธอกลับบ้าน อีกหลายคนช่วยแปลข้อความทวีตของเธอเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ทั่วโลกได้ล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราฮาฟมากขึ้น

รู้ว่าผู้เป็นพ่อของเธอมีตำแหน่งใหญ่โตถึงกับเป็นผู้ว่าการเขตปกครองแห่งหนึ่งในซาอุฯ และเป็นคนบอกกับทางการซาอุฯ ว่าเธอเป็นโรคทางจิตประสาท

คนในครอบครัวของเธอกักขังราฮาฟไว้แต่ในบ้านนานถึง 6 เดือนเพราะราฮาฟไม่ยอมแต่งงาน แต่ตัดผมทิ้งเป็นการประท้วงความพยายามบีบบังคับดังกล่าว

 

ปรารถนา มิตรา ชี้ให้เห็นว่า กรณีของราฮาฟ ทำให้ทั่วโลกขุดคุ้ยสภาพความเป็นอยู่และการถูกจำกัดสิทธิมากมายของสตรีในสังคมซาอุดีอาระเบีย “การจำกัดสิทธิที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวซาอุฯ ไม่ต่างอะไรกับนักโทษที่ถูกจองจำอยู่ในครอบครัวโดยสมาชิกครอบครัวผู้กดขี่ของตัวเอง”

วอชิงตันโพสต์เผยแพร่บทวิเคราะห์ของรูบี้ เมลเลน ในเรื่องเดียวกันนี้ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การตัดสินใจของไทยในกรณีของราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน ครั้งนี้ ตรงกันข้ามกับในหลายต่อหลายกรณีที่ผ่านมาของไทย

ยกตัวอย่างการยึดกุมกฎหมายแบบ “ตายตัว” ของไทยไว้ว่า ตัวอย่างเช่น การควบคุมตัวผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแผนปฏิบัติการ “เอ็กซเรย์ เอาต์ลอว์ ฟอรีเนอร์” นับพันคนเมื่อปี 2018 หรือกรณีอดีตนักเตะทีมชาติบาห์เรน ฮาคีม อัล-อาราบี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเช่นเดียวกัน

ถามว่าอะไรทำให้ไทยเปลี่ยนไปในกรณีราฮาฟ?

ไมเคิล คูเกลแมน รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียศึกษาของศูนย์วิลสันในวอชิงตัน เชื่อว่าคดีการสังหารโหดจามาล คาช็อกกี ในสถานกงสุลซาอุฯ ที่ตุรกี น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ เขาเชื่อว่าการแสดงออกในกรณีนี้ของไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกับการแสดงออกของนานาชาติที่ผ่านมา ที่ต้องการแสดง “การไม่ยอมรับ” การสังหารโหดดังกล่าว

อีกเหตุผลหนึ่งนั้นคือ กรณีนี้กลายเป็นที่สนใจของทั่วโลกไปในพริบตาเพราะอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์

เมลเลนถึงกับยกคำพูดของอุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ ที่บอกกับซีเอ็นเอ็นมาอ้างถึงเอาไว้ว่า

แทนที่จะยึดหนังสือเดินทางของราฮาฟไป เจ้าหน้าที่ไทยน่าจะยึดโทรศัพท์ของเธอไว้จะดีกว่ามาก!!