นงนุช สิงหเดชะ : โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.คนที่ 45 ใช้ความ “แตกแยก-เกลียดชัง” สร้างชัยชนะ

นับว่าพลิกล็อก เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีจากรีพับลิกัน คว้าชัยชนะได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ก่อให้เกิดอาการช็อกไปตามๆ กัน เพราะคงมีลิงจีนที่เมืองหูหนานเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ทำนายแม่นที่สุดว่าทรัมป์จะชนะ

ผลที่ตามมาหลังชัยชนะนั้น นับว่าต้องจารึกอีกเช่นกันว่าเป็นภาพที่หาดูยาก แทบไม่เกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์อันใกล้นี้ เมื่อมีชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงไม่ยอมรับทรัมป์

การประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวันและลุกลามขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ ป้ายประท้วงมีข้อความหลากหลาย เช่น “(ทรัมป์) ไม่ใช่ประธานาธิบดีของฉัน” / “คุณไม่สามารถสร้างเอกภาพด้วยความเกลียดชัง”

สำหรับคนไทยบางกลุ่ม นักการเมืองบางคนในไทยที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะสรุปผิวเผินง่ายๆ ว่าเป็นการประท้วงของพวกขี้แพ้ชวนตี พวกไม่ชอบประชาธิปไตย

แต่หากย้อนไปดูนับจากมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะพบว่าความแตกแยกได้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เนื่องจากทรัมป์ได้ใช้วาทกรรมหาเสียงแบบไร้ความรับผิดชอบ สร้างความแตกแยก เกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ประกาศว่าจะเนรเทศผู้อพยพออกไปให้หมด จะห้ามไม่ให้คนมุสลิมเข้าประเทศ จะสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกและอเมริกา ทำให้คนออกมารณรงค์ต่อต้านไม่เอาทรัมป์ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเราแทบไม่เคยเห็นที่คนอเมริกันจะออกมาประท้วงผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

แม้แต่ช่วงหาเสียงก็เกิดการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านทรัมป์เป็นระยะ

หากทรัมป์เป็นคนที่ “พอทน” สำหรับชาวอเมริกันทุกคน เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้น แต่เนื่องจากทรัมป์เป็นคน “เหลือทน” ความผิดหวังคับข้องใจ โมโห จึงปะทุลุกลาม

A man holds a sign as he takes part in a protest against Republican presidential front-runner Donald Trump in New York on March 19,2016. / AFP / KENA BETANCUR
AFP / KENA BETANCUR

คนอเมริกันที่ออกมาประท้วง ไม่ใช่เพราะโมโหที่ ฮิลลารี คลินตัน แพ้ แต่ประท้วงเพราะเป็นห่วงอนาคตประเทศชาติและอนาคตของพวกเขาเองว่าผู้นำแบบนี้จะนำประเทศลงเหว ทำสังคมปั่นป่วน ดังนั้น เราจึงได้เห็นหลายคนร่ำไห้อย่างหนักเมื่อทรัมป์ชนะ หญิงอเมริกันคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกอับอายที่เกิดมาเป็นคนอเมริกัน”

ขณะเดียวกับเว็บไซต์ตรวจคนเข้าเมืองของแคนาดาถึงกับล่ม เพราะมีคนอเมริกันเข้าไปใช้จำนวนมากเพื่อหาข้อมูลเตรียมอพยพไปอยู่ที่นั่น

คนอเมริกันในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรมากและมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด เข้าชื่อขอแยกตัวเป็นประเทศอิสระ ซึ่งแคลิฟอร์เนียมีขนาดใหญ่พอจะตั้งเป็นประเทศได้ (รัฐนี้มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทย)

สาเหตุที่ทรัมป์ชนะนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเขาเข้าถึงคนรากหญ้าได้มากกว่าเพราะใช้คำพูดที่ “ประชาชนอยากได้ยิน” ฟังแล้วรู้สึกดี โดยไม่ได้คิดอย่างเป็นเหตุผลว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดนั้นจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่

เรื่องจะขับไล่ผู้อพยพ จะสร้างกำแพงกั้นกับเม็กซิโก ก็นับว่าโดนใจเพราะคนอเมริกันรู้สึกว่าถูกคนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน เรื่องจะตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน เพื่อนำงานกลับมาให้คนอเมริกัน ก็โดนใจอีก เช่นเดียวกับการให้สัญญาจะแบนคนมุสลิมก็โดนใจอีกเพราะคนอเมริกันกำลังหวาดกลัวผู้ก่อการร้าย

คนที่เลือกทรัมป์ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเมืองและเขตชนบท และส่วนใหญ่เกือบ 70% จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่จะยุติการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ แล้วกลับไปอยู่ในโลกแคบๆ แค่อเมริกา จึงถูกอกถูกใจชาวบ้าน

นักวิเคราะห์บางคนถึงกับสรุปว่าชัยชนะของทรัมป์คืออวสานของโลกาภิวัตน์ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในอเมริกา (จากผลการประชุม Bretton Woods ที่นำมาสู่การก่อตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี คือ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การการค้าโลก)

Chip Somodevilla/Getty Images/AFP
Chip Somodevilla/Getty Images/AFP

ประเด็นเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักอันดับหนึ่งเสมอสำหรับชัยชนะการเลือกตั้งของทุกประเทศ นักการเมืองหน้าใหม่ที่อาสาตัวเข้ามามักจะหาเสียงในเชิงสร้างความหวังให้กับประชาชนว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใหม่ แนวใหม่

บารัค โอบามา จากเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งก็เพราะประชาชนเบื่อหน่ายปัญหาเศรษฐกิจของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ก่อหนี้ไว้มากจากการทุ่มงบประมาณด้านทหารเพื่อทำสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน จนทำให้ขณะนี้ประเทศมีหนี้เกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์ และยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เงินครั้งร้ายแรงในรอบ 80 ปี จนส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างสาหัส คนอเมริกันตกงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ร้อยละ 10 จากระดับปกติที่จะอยู่ประมาณ 4-5%

การหาเสียงครั้งนั้นโอบามา ใช้สโลแกน Change และชนะได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย 8 ปี สามารถแก้ปัญหาการว่างงานให้กลับมาเหลือใกล้เคียงภาวะปกติคือต่ำกว่า 5% ยุคในยุคนี้ ขณะที่รายได้ของคนชั้นกลางในยุคโอบามาเพิ่มขึ้นด้วยอัตราสูงที่สุดนับจากทศวรรษ 1960 อัตราความยากจนลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1968

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถเอาชนะใจคนอเมริกัน

000_hz7b1

เป็นธรรมชาติของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงไปลองของใหม่เรื่อยไป และเสียเวลาเรื่อยไปกับความหวังว่าของใหม่ (ที่จริงก็คือของเก่า) จะดีกว่า

เดโมแครตอยู่ในฐานะเสียเปรียบเพราะอยู่มา 8 ปีแล้ว ทรัมป์กลายเป็นของ (ที่คนอเมริกันคิดว่า) ใหม่ น่าลองกว่าเมื่อหาเสียงด้วยสโลแกน “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

แต่ชาวอเมริกันความจำสั้นว่า 8 ปีก่อนหน้านี้พรรครีพับลิกัน สร้างความหายนะให้ประเทศครั้งใหญ่อย่างไรบ้าง เมื่อความจำสั้นก็หวนกลับไปเลือกของเน่าอีก

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ บอกว่า ทรัมป์นั้นชนะทั้งที่หาเสียงในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นตัวเขาทุกอย่าง กล่าวคือ เขาต่อต้านผู้อพยพ แต่ธุรกิจของเขาก็จ้างผู้อพยพผิดกฎหมาย (เมียสองคนก็เป็นคนต่างชาติ) บอกว่านับถือฮิลลารี และ บิล คลินตัน เป็นเพื่อน แต่ตอนหาเสียงก็ประกาศว่าจะเอาฮิลลารีเข้าคุก ฯลฯ

วอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่า ทรัมป์ขายตัวเองในฐานะนักประชานิยมที่เป็นฮีโร่ของชาวอเมริกันที่ลงคะแนนให้เขา อ้างว่าเข้าใจความคับข้องใจของประชาชน นอกจากนี้ การหาเสียงด้วยการต่อต้านคนชั้นสูง คนรวยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาชนะ ทั้งที่ตัวเขาเองก็โคตรรวย

(ฟังดูคล้ายๆ นักการเมืองประชานิยมบ้านเราในสมัยเมื่อไม่นานมานี้)

AFP PHOTO / JOHN GURZINSKI
AFP PHOTO / JOHN GURZINSKI

หนึ่งในประเด็นที่ทำให้วิญญูชนและผู้มองการณ์ไกลเป็นห่วง คือทรัมป์นั้นปลุกให้ประชาชนต่อต้านโค่นล้มสถาบันหลักๆ ของประเทศ โดยอ้างว่าสถาบันเหล่านี้ทำให้ประชาชนลำบากผิดหวัง (คล้ายบ้านเราอีกแล้ว)

ไม่ว่ายุคสมัยไหน นักการเมืองชั่วร้าย ขาดมโนธรรม มักใช้วิธีหาเสียงด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายประชาชน ให้คนเกลียดชังกัน จับประชาชนมาต่อสู้กันเองเพื่อตัวเองจะได้ชัยชนะ (นักการเมืองประชานิยมบ้านเราเคยทำมาแล้ว)

ยังต้องรอดูกันต่อไปว่า หลังจากรับตำแหน่งเป็นทางการแล้วทรัมป์จะกล้าทำอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการต่อต้านการค้าเสรี โดยการกลับไปตั้งกำแพงภาษี การทำเอามันเพื่อเอาใจประชาชนอาจทำได้ แต่ผลเสียคงร้ายแรงกว่าเพราะสุดท้ายสินค้าอเมริกาก็จะถูกประเทศอื่นเก็บภาษีตอบโต้และกีดกันเช่นกัน สุดท้ายนอกจากจะทำให้คนอเมริกันต้องบริโภคสินค้าราคาแพงแล้ว การตกงานอาจตามมาเพราะส่งออกไม่ได้หรือแข่งขันไม่ได้เพราะถูกเก็บภาษีแพง

ปรากฏการณ์ในอเมริกาขณะนี้ สะท้อนว่าบางทีการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือเราได้ผู้นำแบบไหนต่างหาก การเลือกตั้งไม่ได้รับประกันว่าเราได้ผู้นำที่ดี มีคุณธรรมและนำความสงบมาสู่สังคม

อันที่จริงทรัมป์น่าจะรู้อยู่แล้วว่าผลจากคำพูดหาเสียงของเขาจะก่อความไม่สงบในสังคมอย่างไรบ้าง และรู้ด้วยว่าหลายอย่างที่หาเสียงเอาไว้อาจทำไม่ได้ในความเป็นจริง (พร้อมจะหลอกประชาชน) แต่ความเห็นแก่ตัวทำให้เขาอยากชนะแบบไม่เลือกวิธีการ

ไม่สนใจผลกระทบที่เสียหายต่อชาติ