รู้จัก “ขันครู” สำหรับผู้ที่มี “คาถาอาคม”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ขันครู” เรียกอีกอย่างว่า ขันตั้ง

ขันในที่นี้ อาจเป็น พาน โอ (ขันขนาดใหญ่) ตะกร้า กระบุง กะละมัง ที่ใช้เป็นภาชนะใส่ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลูและอื่นๆ เป็น “ขันครู” ซึ่งหมายถึง เครื่องสักการบูชาครูบาอาจารย์ที่สอนวิชาหรือให้ความรู้

ขันครูมี 2 อย่าง คือ ขันครูชั่วคราว และขันครูถาวร

ขันครูชั่วคราว คือขันตั้งในพิธีมงคล เช่น พิธีลงเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน สู่ขวัญ หรือทำขวัญนาค จะเป็นงานอวมงคลก็ได้ เช่น งานศพ เป็นต้น

ขันครูชั่วคราวนี้จะมีการลาขันเมื่อเสร็จงาน เรียกว่า “ปลดขันตั้ง” ซึ่งเป็นคำล้อเลียนของชาวล้านนา โดยเฉพาะในวงสุรา หมายถึงการนำเงินค่าครูไปใช้จ่าย

ขันครูถาวร เป็นเครื่องสักการะซึ่งวางบูชาไว้ตลอดทั้งปี ใช้สำหรับผู้ต้องการจะเล่าเรียนวิชาศิลปะ คาถาอาคม โดยผู้ที่จะเรียนให้ทำพานครู 1 พาน แล้วทำพิธีเลี้ยงครู ยกขันครู ตั้งเครื่องพลีกรรม น้ำดื่มและดอกไม้ ตามแต่ละสำนักกำหนด แล้วนำไปบูชา บางครั้งอาจใช้กำยานร่วมด้วย

ขันครูแบบถาวรนี้จะเปลี่ยนได้เพียงปีละครั้ง ตามกำหนดของแต่ละสถานที่ เช่น วันพญาวัน (วันเถลิงศก) ในช่วงสงกรานต์ เป็นต้น

ขันครูถาวรยังมีอีก 2 ประเภท

1. ขันน้อย แบ่งเป็น ขัน 5 ขัน 8 ขัน 12 ขัน 16 ขัน 24 ขัน 28 และขัน 32

– ขัน 5 หมายถึง ขันศีล 5 เป็นขันเบญศีลหรือศีล 5

– ขัน 8 หมายถึง ขันศีล 8 เป็นขันอุโบสถศีลหรือศีล 8

– ขัน 12 หมายถึง ขันพ่อครู เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นต้น

– ขัน 16 หมายถึง ขันครูบูชาพระเจ้า 16 พระองค์

– ขัน 24 หมายถึง ขันพ่อครูลำดับที่สอง เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นสูงกว่าชั้นต้น

– ขัน 28 หมายถึง ขันครูบูชาพระเจ้า 28 พระองค์

– ขัน 32 หมายถึง ขันพ่อครูลำดับที่สอง เป็นขันของผู้เป็นครูอาจารย์ลำดับชั้นสูง สูงกว่าขัน 12

ขัน 32 นี้ เป็นขันครูใหญ่ไหว้เทวดาทั้งสามโลก และอีกนัยหนึ่งคือ ขันอาการ 32 หมายถึง รูปขันธ์ทั้ง 32 ประการ

2.ขันหลวง แบ่งเป็น ขัน 108 ขัน 109 ขัน 227 และขัน 1000

– ขัน 108 109 หมายถึง ขันครูเครื่องใหญ่ เป็นอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้า ระดับบรมครู ระดับผู้อาวุโส ขั้นพระสงฆ์ที่มีวิชาแก่กล้า ขั้นเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์

ขันตั้ง ระดับนี้ประกอบด้วยพานที่มีเครื่องคารวะ คือ หมากสาย 130 สาย หมากขด 108 ขด กรวยหมากพลู 108 กรวย กรวยดอกไม้ธูปเทียน 108 กรวย ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละ 1 วา 1 ศอก 1 คืบ เบี้ย 108 เงิน 108 บาท เหล้า 1 หมื่น (10 ขวด) มะพร้าว 1 ทะลาย กล้วย 1 เครือ ข้าวสาร 1 ถัง ข้าวเปลือก 1 ถัง อ้อย 1 ลำ หน่อกล้วย หน่ออ้อย หน่อเผือกมัน อย่างละ 1 หน่อ ถั่วดำ ถั่วแดง งาดำ อย่างละ 1 กลัก

– ขันเครื่อง 1000 ใช้สำหรับงานต่อเศียรพระ ต่อยอดพระเจดีย์ ต่อยอดปราสาทหรือคุ้มวัง

ขันตั้งนี้ จะประกอบด้วยพานที่มีเครื่องคารวะ คือ กรวยดอกไม้ 1000 กรวยหมากพลู 1000 เบี้ย 1000 ข้าวสาร 1 หมื่น ข้าวเปลือก 1 แสน หมากแห้งที่ร้อยเป็นสาย 32 สาย เทียนแท่งละบาทและแท่งละเฟื้อง ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละพับ มะพร้าว 1 ผล กล้วย 1 หวี และ เงิน 108 บาท

ขันครู เป็นเสมือนตัวแทนครู เพื่อตั้งบูชาไว้ อัญเชิญครูบาอาจารย์มาสถิตอยู่ เพื่อใช้เพิ่มพลังวิชา ทั้งยังปกป้องรักษาตัวผู้เป็นศิษย์อีกด้วย

ถ้าไม่มีขันครูจะทำให้การประกอบพิธีต่างๆ ไม่สำเร็จ จะเกิดอาถรรพ์ ขึด หากใช้อาคมเกินตัวอาจจะทำให้ของเข้าตัวถึงตายได้

แต่ถ้ามีขันครูแล้วรักษาไม่ดีของก็เข้าตัวได้เช่นกัน

ขันครูต้องตั้งไว้ที่สูงสุดของบ้านที่พักอาศัย ห้ามไว้ในที่ต่ำ หากจะโยกย้ายขันครูต้องห่อผ้าขาวก่อนทุกครั้งและถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ห้ามย้ายขันครูเด็ดขาด