จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (จบ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
the scenery at the Ming Dynasty Tombs in Changping District, on the outskirt of Beijing. AFP PHOTO / STR

สำนักนิตินิยมกับหานเฟยจื่อ (ต่อ)

จะเห็นได้ว่า หลักคิดของสำนักนิตินิยมเฉพาะที่พิจารณาจากหานเฟยจื่อนั้น มีบางส่วนที่มีเสน่ห์อยู่โดยตัวของหลักคิดเอง ที่เชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์เลว (ซึ่งเชื่อเหมือนกับสวินจื่อที่เป็นอาจารย์ของตน)

ความเชื่อนี้ถูกนำมาอธิบายผ่านสถานการณ์วิกฤตในยุควสันตสารทและยุครัฐศึก ที่ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติที่ว่าของมนุษย์ทั้งสิ้น

ดังนั้น ประเด็นทางคุณธรรมและจริยธรรมจึงมิได้อยู่ในหลักคิดของหานเฟยจื่อหรือสำนักนิตินิยม และหลักคิด ซื่อ ซู่ ฝ่า ก็คือสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อในธรรมชาติที่เลวของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ว่ามีแต่ต้องใช้อำนาจเข้ากดบังคับเท่านั้นจึงจะสยบธรรมชาติดังกล่าวได้

โดยอำนาจที่ว่าพึงใช้อย่างมีศิลปะเคียงคู่กับกฎหมายที่มีความแข็งกร้าวเด็ดขาด

กระนั้นก็ตาม แม้หลักคิดของสำนักนิตินิยมจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นคุณธรรมและจริยธรรมน้อยเต็มทีก็เป็นจุดอ่อนของสำนักนี้ ซึ่งคงมีผลไม่มากก็น้อยที่ทำให้หลักคิดของสำนักนี้มิอาจก้าวขึ้นมาอยู่กระแสหลักได้ ถึงแม้จะยังคงมีที่ยืนทางปรัชญาอยู่ในสังคมจีนแม้ในปัจจุบันก็ตาม

ท้ายบท

จากที่กล่าวมาโดยตลอดบทนี้สิ่งที่อาจเห็นได้ในเบื้องต้นก็คือ จีนเป็นอีกสังคมหนึ่งที่ได้ปรากฏสำนักปรัชญาที่เป็นของตนเองขึ้นมา

สำนักเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่เป็นไปอย่างถึงที่สุด และเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่หมายจะให้หลักคิดของตนเป็นทางออกให้แก่วิกฤตนั้น

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมจีนนานหลายร้อยปี เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมที่เป็นอู่อารยธรรมอื่น อันเป็นปรากฏการณ์ของยุคอักษายนะ

กรณีจีนที่เรียกกันว่า “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นี้หากว่าโดยสารัตถะทางปรัชญาแล้วก็นับว่ามีความหลากหลายไม่แพ้อู่อารยธรรมอื่น

แต่กล่าวในแง่ความคล้ายคลึงแล้วสารัตถะหลักๆ ดูจะมีแนวโน้มเดียวตะวันตก (กรีซ) โดยเฉพาะหลักคิดทางปรัชญาที่มิได้ก้าวไปถึงขั้นที่เป็นศาสนาดังในชมพูทวีป ซึ่งมักชูประเด็นโมกษะ นิพพาน หรือความหลุดพ้นเป็นสิ่งสูงสุด

ซึ่งจะทำได้เช่นนั้นก็มีแต่จะต้องละตนจากทางโลกเท่านั้น ถึงแม้ในกรณีจีนจะมีสำนักเต้าที่เสนอคล้ายกันก็จริง แต่ก็มิได้ก้าวถึงขั้นที่ชมพูทวีปเป็น คือมิได้เสนอถึงขั้นให้มนุษย์หลุดพ้นไปสู่นิพพาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะเป็นสีสันในกรณีจีนอาจเห็นได้ 2 ประการ

ประการแรก การเกิดกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ซื่อ หรือเหล่าวิชาธร ในเบื้องต้นวิชาธรเหล่านี้จะต้องศึกษาชุดวิชาที่มีอยู่ด้วยกัน 6 สาขา คือ รีต (หลี่) คีตะ (เย่ว์) เกาทัณฑ์ (เส้อ) รถศึก (อี้ว์) วรรณศิลป์ (ซู) และคำนวณ (ซู่)

ความรู้จากที่ศึกษามานี้ทำให้ ซื่อ สามารถเป็นขุนนางได้ทั้งสายทหารและพลเรือนดังได้กล่าวไปแล้วในบทที่ว่าด้วย “วันคืนก่อนจักรวรรดิ”

แต่วิชาทั้งหกสาขาดังกล่าวเป็นคนละชุดวิชาที่เรียกว่า ษัฏปกรณ์ (ลิ่วจิง) อันประกอบด้วย ซือ ซู หลี่ เย่ว์ อี้จิง และ ชุนชิว หรือ กาพย์ สมุด รีต คีตะ อนิจ และ วสันตสารท ตามลำดับ ที่ต่อมาเมื่อลดจาก 6 เล่มเหลือ 5 เล่มโดยตัดเล่ม คีตะ ออกไป เมื่อเหลือ 5 เล่มจึงเรียกใหม่ว่า เบญจปกรณ์ (อู่จิง)

ชุดวิชานี้ถือเป็นความรู้ที่จำเป็นของผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชั้นชนปกครอง แต่ก็ไม่จำเป็นที่วิชาธรเหล่านี้จะต้องเป็นขุนนางเสมอไป จะอย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้จากการศึกษาชุดปกรณ์ดังกล่าวถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของวิชาธรแต่ละคน ในอันที่จะก้าวไปเป็นนักปรัชญา และแล้วนักปรัชญาจีนก็เกิดขึ้นด้วยพื้นฐานที่ว่านี้

วิชาธรที่เลือกจะเป็นนักปรัชญาเริ่มปรากฏขึ้นในยุควสันตสารทเรื่อยมา ครั้นพอถึงยุครัฐศึกก็มีสำนักปรัชญามากถึง 140-150 สำนัก จนเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ในที่สุด

ในประการต่อมา กล่าวเฉพาะวิชาธรที่เลือกจะเป็นนักปรัชญาแล้วจะมีฐานะที่ทับซ้อนกันอยู่ 2 ฐานะ ฐานะหนึ่ง เป็นนักปรัชญาและดำรงตำแหน่งขุนนางไปพร้อมกัน ส่วนอีกฐานะหนึ่ง เป็นนักปรัชญาโดยมิได้เป็นขุนนาง แต่ตั้งสำนักศึกษาของตนขึ้น หรือไม่ก็อาจเป็นขุนนางบ้างในบางช่วงของชีวิต

ฐานะที่ทับซ้อนกันนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะเมื่อศึกษาประวัติของวิชาธรที่เป็นนักปรัชญาแล้ว เกือบทั้งหมด (ยกเว้นสำนักเต้าที่หลีกลี้เรื่องทางโลก) ต่างได้เสนอตนต่อรัฐต่างๆ เพื่อเป็นขุนนาง ซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

ฐานะที่ทับซ้อนกันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า นักปรัชญาเหล่านี้คงได้เที่ยว “จาริก” ไปยังรัฐต่างๆ ทั้งเพื่อเสนอตัวเป็นขุนนางหรือเพื่อเสนอข้อคิดเห็นแก่ผู้นำรัฐนั้นๆ

จากเหตุนี้ หากมิใช่ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลแล้ว เราคงจะได้เห็นภาพที่มีชีวิตชีวาของนักปรัชญาเหล่านี้มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป

ดังจะเห็นได้จากภาพที่มีชีวิตชีวาของขงจื่อซึ่งมีประวัติที่ถูกบันทึกเอาไว้มากคนหนึ่ง

ดังนั้น ตลอดช่วงแห่งวิกฤตในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกจากที่กล่าวมา ไม่ว่ารัฐใดจะมีความเป็นไปอย่างไร ความเป็นไปนั้นย่อมมีบทบาทของเหล่านักปรัชญาปรากฏแทรกอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย นอกเหนือไปจากบทบาทของเหล่าวิชาธรดังที่เรารู้กันแล้ว

จากข้อเท็จจริงทั้งสองประการดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า แม้ยุควสันตสารทและยุครัฐศึกที่จีนตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์นั้น วิกฤตนี้ก็มากด้วยสีสันอย่างยิ่ง สีสันนี้ส่วนหนึ่งย่อมมาจากบทบาทและลีลาของนักปรัชญาสำนักต่างๆ ที่ล้วนกระตือรือร้นอย่างมากที่จะให้รัฐและสังคมฟังและยอมรับหลักคิดของตน

และในบรรดานับร้อยสำนักนี้มีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างสำนักปรัชญาที่งานศึกษานี้ได้นำมากล่าวถึงแต่เพียงสังเขปแล้ว ที่แม้จะมีอยู่ไม่กี่สำนัก แต่ก็เห็นได้ถึงสารัตถะของหลักคิดที่น่าสนใจทั้งสิ้น หลักคิดเหล่านี้มีทั้งที่เราอาจจะคิดเห็นคล้อยตาม บางทีก็มีแง่มุมให้โต้แย้ง หรือบางทีก็ไม่เห็นเป็นสาระ ฯลฯ ซึ่งล้วนคือสภาวะที่ต่างมีข้อดีข้อด้อยของตนดำรงอยู่ทั้งสิ้น

จะอย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ของ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นี้แม้จะเกิดขึ้นภายใต้ภาวะที่จำเป็นจะต้องหาทางออกให้แก่วิกฤตในขณะนั้น และแม้เมื่อเกิดแล้วสำนักเหล่านี้จะแข่งขันกันอยู่ในที แล้วจบลงโดยสำนักนิตินิยมได้รับชัยชนะก็ตาม แต่การเกิดของสำนักอื่นๆ ก็มิได้เป็นเรื่องที่สูญเปล่า เมื่อหลักปรัชญาของสำนักเหล่านี้ต่างก็มีสาวกคอยสืบทอดต่อมา

ซึ่งก็มีบ้างที่บางสำนักจะได้หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ขณะที่บางสำนักกลับผงาดขึ้นเป็นสดมภ์หลักของการเมืองการปกครองจีนในเวลาต่อมา

แต่หากกล่าวเฉพาะสำนักปรัชญาที่ยังมีที่ยืนอยู่ในสังคมจีนแล้ว นับว่าสำนักเหล่านี้มีส่วนในการหล่อหลอมสังคมจีนมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่การยอมรับ และทำให้เห็นว่า พัฒนาการของรัฐจีนมิอาจเป็นรัฐที่เรารู้จักในทุกวันนี้ได้เลยหากไร้ซึ่งสำนักปรัชญาเหล่านี้

กล่าวอีกอย่างคือ สำนักปรัชญาเหล่านี้นับเป็นรากฐานหนึ่งของรัฐจีนที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะกับจักรวรรดิจีนในชั้นหลังๆ ต่อมา

เหตุดังนั้น สิ่งที่ควรกล่าวเอาไว้ ณ ที่นี้ก็คือว่า แม้ยุครัฐศึกจะจบลงด้วยชัยชนะของนิตินิยมก็ตาม แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า จักรวรรดิที่ราชวงศ์ฉินสถาปนาขึ้นมาก็อยู่ได้เพียงสิบกว่าปีก็ล่มสลาย

การล่มสลายนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเมืองการปกครองแบบอำนาจนิยม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักคิดของสำนักนิตินิยม

ในแง่นี้ย่อมแสดงว่า หลักคิดของสำนักนิตินิยมเองก็มีจุดอ่อนโดยตัวของมันเองดำรงอยู่ด้วย

และจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับคุณธรรมและจริยธรรมในระดับที่ต่ำมาก

และด้วยเหตุที่ให้ความสำคัญกับอำนาจนิยมในระดับที่สูงมาก ผลจึงกลายเป็นว่า นิตินิยมย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้ “พระเดช” มากกว่า “พระคุณ” ไปด้วย

จากเหตุนี้ หลังจากที่จักรวรรดิฉินล่มสลายลงแล้ว ราชวงศ์ฮั่นที่ก้าวขึ้นมาแทนที่จึงย่อมต้องมีฉินเป็นบทเรียนให้แก่ตน

และสิ่งที่ราชวงศ์ฮั่นเลือกก็คือ หลักคิดของสำนักหญู ที่ไม่ว่าจะมีหลักคำสอนอย่างไร ถึงที่สุดแล้วสำนักนี้ก็ยังคงชูหลักคิดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเอาไว้ด้วยฐานะที่สูง

และที่น่าสังเกตก็คือว่า นับจากราชวงศ์ฮั่นเรื่อยมาอีกกว่าสองพันปี ปรัชญาสำนักหญูก็ยังคงยืนหยัดเป็นสดมภ์หลักให้แก่การเมืองการปกครองจีนอย่างมั่นคง

ภายใต้ความจริงที่ว่านี้บอกให้รู้ว่า การเมืองการปกครองไม่ว่าจะในระบอบใดก็ตาม การคงไว้ซึ่งหลักคุณธรรมและจริยธรรมนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อเสถียรภาพของรัฐ

ดังที่จีนนับแต่จักรวรรดิของราชวงศ์ฮั่นเรื่อยมาได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้ว