เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พุทธทาสพุทธธรรม

 

สวนโมกข์กรุงเทพขอให้เล่าถึงท่านอาจารย์พุทธทาสเท่าที่คิดว่าจะพูดถึงได้ ก็ขอเล่าพอสังเขป

ดังนี้

เคยมีคนแนะนำให้อ่าน “คู่มือมนุษย์” ของท่านอาจารย์ อ่านแล้วก็แล้วกัน ไม่สะดุดใจอะไร

ครั้นเมื่อตนเองประสบความทุกข์สาหัสในชีวิตคือพ่อแม่แยกทางกัน ตอนนั้นเรียนธรรมศาสตร์ ค่าเล่าเรียนไม่มี บ้านไม่มีอยู่ ข้าวไม่มีกิน แถมอกหักอีกต่างหาก

บากหน้าไปอาศัยเพื่อนวัดบวรนิเวศ เด็กเมืองกาญจน์ เรียนจบมัธยมและเรียนธรรมศาสตร์ด้วยกัน เป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชองค์ผู้ล่วงลับแล้วนั้น ซึ่งขณะนั้นเป็นที่พระศาสนโสภณ

ได้แต่หมกตัวอยู่ในกุฏิอาศัยขาวกินกับเพื่อนรู้สึกมืดไปหมดทุกทิศไม่มีกะจิตกะจใจทำอะไรทั้งนั้น

แต่แล้วเหมือนคำที่ว่า “พระมาโปรด” ได้อ่านหนังสือสองเล่ม หนึ่งคือ “อานาปานสติภาวนา” ของท่านเจ้าคุณพระศาสนโสภณ (สมณศักดิ์ขณะนั้น) กับอีกเล่มคือ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

พระสององค์มาโปรดจริงๆ

อ่านอย่างใจจดใจจ่ออย่างอ่านตำรากฎหมายคือจับประเด็นโยงใจความสำคัญได้

เล่มแรกคืออานาปานสตินั้นอ่านแล้วถึงกับทดลองปฏิบัติตรงนั้น ส่วนอีกเล่มคือภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม อ่านไปก็ขนลุกไปว่าเออทำไมเรื่องนี้ถึงไม่รู้มาก่อนเลย ทั้งที่เชื่อว่าตัวเองนับถือพุทธ

รู้เรื่องธรรมจำหลักปฏิบัติได้ แต่ทำไมถึงไม่รู้เรื่องอย่างนี้มาก่อนเลย อ่านซ้ำๆ ย้ำๆ คิดใคร่ครวญจนเข้าใจจริงๆ ว่านี่แหละใช่เลย เช่นข้อความนี้ตอนหนึ่งในหนังสือ “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ที่ว่า

“ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากภูเขาแห่งความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตน และไม่มีความยึดมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตนอะไรจะยิ่งไปกว่าความยึดมั่นในสิ่งที่คนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน

นี่แหละ “พระพุทธรูปบ้าง พระพุทธเจ้า บาลีใบลานบ้าง พระธรรมผ้าเหลืองบ้าง พระสงฆ์” ดังว่าไว้ในหนังสือนี้

อ่านสองเล่มนี้จบเข้าใจเปิดกุฏิออกมาลุยโลกเหมือนได้เกิดใหม่ “ทันที”

ข้อคิดที่ได้เป็นเบื้องต้นคือหากจิตไม่เคยประสบภาวะแห่งความทุกข์ชนิดถึงที่สุดจริงๆ ก็จะไม่เข้าใจ “พุทธธรรม” ชนิดเข้าถึงได้จริงเลย ที่ว่ารู้ว่าเข้าใจกันนั้นเป็น “รู้สักว่ารู้” แทบจะทั้งนั้น

นั่นแหละจึงได้หวนกลับมาอ่าน “คู่มือมนุษย์” ใหม่ ซึ่งแปลกจริงด้วยที่อ่านใหม่ครั้งนี้เหมือนไม่เคยอ่านไม่เคยรู้มาก่อนทั้งที่ก็อ่านมาแล้ว

แปลกจริง

นับแต่นั้นก็อ่านงานของท่านอาจารย์พุทธทาสมากขึ้นแทบจะทุกเล่มที่มีที่หาได้จนที่สุดก็รู้ว่าเล่มไหนก็เหมือนกัน ถ้าเข้าใจหลักคิดพุทธธรรมอันเน้นหัวใจพุทธที่แท้แล้ว

จากนั้นเป็นโอกาสได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะโดยเฉพาะในมติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ยุคแรกๆ สมัยเพิ่งเริ่มสถาปนานั่นแหละ

ก่อนจะมาเขียนอยู่นี้ได้มีโอกาสบวชเรียนจนได้นักธรรมตรีหลังจากจบธรรมศาสตร์แล้ว ออกพรรษาแล้วก็ปวารณาถือธุดงค์ค่อยปฏิบัติไปทีละข้อ เดินทางไปสวนโมกขพลารามที่ไชยา

กราบท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าความเป็นมาโดยเฉพาะได้อ่านงานของท่านมาพอควรแล้ว จะขอมาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ถามท่านว่า อยู่สวนโมกข์ต้องใช้ปัญญาระดับไหน ด้วยฟังมาว่าการมาอยู่ที่นี่ควรมีพื้นนักธรรมเอกเป็นขั้นต้น ที่ถามนี้ตั้งใจจะบอกท่านว่าเราแค่ได้นักธรรมตรีเท่านั้นจะได้ไหม

ท่านอาจารย์ยิ้มแย้ม กล่าวว่า

“ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ได้ ก็ใช้ได้แล้ว”

ประโยคนี้เหมือนท่านเขกกะบาลเราจริงๆ รู้สึกตัวเองโง่ถนัดใจ นี่เองที่ท่านเคยเตือนนักหนาว่าคนทั่วไปมักมีแต่ “ปัญหาปรุงแต่ง” มาตั้งคำถามซึ่งไม่ใช่ปัญหาจริงๆ เอาเสียเลย

ตั้งแต่นั้นมาเราจึงสงบปากคำฟังท่านอาจารย์อ่านใจตัวเองเท่านี้พอ

อยู่สวนโมกข์สองเดือนมีโอกาสหัดเขียนรูปที่โรงมหรสพทางวิญญาณ มีท่านเขมานันทะคือท่านโกวิท เอนกชัย สอนให้ได้เขียนรูปนิทานตากะยายปลูกถั่วปลูกงา ซึ่งเราเขียนตอนหลานขอแมงหวี่ไปตอมตาช้างและแมงหวี่รับ สองภาพอันเป็นนิทานสาธกธรรมเรื่องปฏิจสมุปบาทมีภาพจำลองอยู่ในสวนโมกข์กรุงเทพด้วย

วันลาจากสวนโมกข์เรียนท่านอาจารย์ว่าจะกลับไปสึกใคร่ขอคติธรรมจากท่านไว้เตือนใจในการใช้ชีวิต

ท่านยิ้มแย้ม บอกว่า

“ทำจิตเป็นปกติ”

เท่านี้เองเหมือนท่านเขกกะบาลเราอีกโป๊กมุตโตแตกกระจาย จิตปกตินี่แหละคือ “จิตว่าง” คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตนนั่นไง

หลายปีผ่านไปมีโอกาสไปเยี่ยมท่านเป็นครั้งคราว หนหนึ่งท่านอาจารย์กล่าวเป็นส่วนตัวว่า

“คุณเนาวรัตน์ อนัตตาไม่ได้ไม่มีตัวนะ อนัตตาหมายถึงไม่ใช่ตัว เรื่องนี้พวกฝรั่งดูจะเข้าใจง่ายว่าไม่ใช่ตัวคือ you without you นั่นแหละ”

ท่านเตือนติงเราที่เขียนเรื่องนี้ในบทความที่ไหนสักแห่งนี่แสดงว่าท่านอ่านหนังสือมากจริง

เคยเขียนถึงตัวเองว่าเกิดสามครั้ง แรกคือเกิดจากพ่อแม่ สองคือพุทธธรรมจากท่านอาจารย์พุทธทาส สามคือวิทยาศาสตร์สังคมจากประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา

งานของท่านอาจารย์พุทธทาสให้กำเนิดทางธรรมแก่ชีวิตเราอย่างสำคัญ ถือเป็นหลักดำรงทางจิตวิญญาณจริงแท้

ผลงานชุด “ธรรมโฆษณ์” ของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นอาจถือเป็น “จตุปิฎก” เพิ่มในพระไตรปิฎกได้เลย คือนับเป็นปีฎกที่สี่ สืบไปในพุทธศาสนาให้ได้ศึกษาถึงการถอดรหัสธรรมสู่ยุคสมัยปัจจุบันตลอดกาลอนาคตอันเป็นสัจธรรมสมบูรณ์โดยแท้

ประการสำคัญยิ่ง ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นเป็นมหาบุรุษคนสำคัญในสามมหาบุรุษของไทย ร่วมสมัยการเปลี่ยนแปลงสามด้านคือการเมือง วรรณกรรม และพุทธศาสนา

ซึ่งมีสามท่านคือท่านปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา และท่านพุทธทาสภิกขุ ดังนิยามนี้

ศรีบูรพาคือผู้คืนอุดมทัศน์สู่วรรณกรรม

พุทธทาสคือผู้คืนพุทธธรรมสู่พุทธศาสน์

ท่านปรีดีคือผู้คืนอำนาจสู่ประชาชน

พุทธทาสนามท่านปานขุนเขา

ทว่าเบาสบายอย่างว่างน้ำหนัก

และตัวตนของท่านนั้นใหญ่นัก

ใหญ่ด้วยหลักให้สละละตัวตนฯ