วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ โรเนียว : ข้อสอบกับหนังสือใต้ดิน (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

โรเนียว : ข้อสอบกับหนังสือใต้ดิน (จบ)

ห้องโรเนียวของโรงเรียนในอดีตเหมือนห้องซีรอกซ์หรือห้องปริ๊นเตอร์ในปัจจุบัน

คือใช้ผลิตเอกสารที่มีจำนวนไม่เกินหลักร้อยและมีเป้าหมายเฉพาะหน้า และเครื่องพิมพ์มีลักษณะส่วนตัว คือเล็กและเบา แม้จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนบ้าง ก็ใช้ง่ายมาก

การที่ห้องโรเนียวใช้ผลิตข้อสอบระหว่างการสอบ ซึ่งเป็นเอกสารปกปิดสำหรับนักเรียน มีแต่ครูผู้ออกข้อสอบและพนักงานโรเนียวเท่านั้นที่จะเข้าห้องนี้ได้

เอกสารโรเนียวจึงมีกลิ่นอายของความ “ต้องห้าม” อยู่ด้วย

ในสหรัฐอเมริกา มีมิโอกราฟหรือโรเนียวถูกใช้ในวงกว้างมานานแล้ว แต่ในช่วง 1960s เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม นักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ได้ส่งผลงานที่เป็นกวีนิพนธ์ นิยาย และบทความไปพิมพ์จำหน่ายด้วยระบบโรเนียวหรือแบบใต้ดิน ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายการพิมพ์ของสหรัฐ

ตัวอย่างเด่นคือ บทกวีบางชิ้นของอัลเลน กินสเบิร์ก และนิยายบางเล่มของวิลเลียม เบอร์โรส์ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเป็นหนังสือโรเนียว ต่อมา ผลงานของนักเขียนเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับทั่วไป

โรเนียวเจริญมากในเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก มีความทันสมัยถึงขนาดที่พิมพ์สีและสแกนรูปถ่ายได้ เอกสารเหล่านี้ทำหน้าที่กระบอกเสียงของหลายกลุ่ม และยืนยาวมาจนถึงช่วงปลาย 1970s

ในไทย โรเนียวเป็นแพลตฟอร์มการพิมพ์ที่ใช้กันมากนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ส่วนสิ่งพิมพ์ต้องห้ามของสังคมโดยเฉพาะของฝ่ายซ้ายก็มีไม่น้อย แต่ไม่มีบันทึกชัดเจนว่ามากเท่าไร

มาถึงช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งพิมพ์เป็นสื่อของกลุ่มกิจกรรมและนักศึกษาไทยอีก เช่น หนังสือเล่มละบาท ที่วางขายตามหน้ามหาวิทยาลัยต่างๆ และสิ่งพิมพ์โรเนียวของกลุ่มที่เล็กกว่า ต้นฉบับของเอกสารเหล่านี้ มีทั้งที่เขียนขึ้นใหม่ จากหนังสือไทยยุคก่อนหน้านั้น และจากที่พิมพ์ในจีน สิ่งเหล่านี้ถูกพูดถึงอยู่ในข้อเขียนจำนวนมาก เช่น “แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ของประจักษ์ ก้องกีรติ

แต่ยุคนั้นมีโรงพิมพ์ขนาดเล็กเกิดขึ้นมาก หนังสือจึงพิมพ์ด้วยระบบตัวตะกั่ว บางเล่มใช้ชื่อโรงพิมพ์จริง อีกทั้งเผยแพร่และจำหน่ายอย่างเปิดเผย ถือเป็นการตีกิน หรือ Re-Appropriation Culture ครั้งใหญ่

โรเนียวเป็นเพียงแพลตฟอร์มหนึ่งที่กลุ่มกิจกรรมไทยเอาไปใช้ผลิตเอกสาร เพราะให้จำนวนที่เหมาะสม อีกทั้งใช้ง่ายและรวดเร็ว

ไม่ถึงกับเป็นเครื่องใช้ส่วนตัว แต่ทุกกลุ่ม ชุนนุม หรือองค์กรนักศึกษาต่างๆ ก็มีใช้และเปิดบริการสำหรับคนที่คุ้นเคยกัน เช่น เครื่องยี่ห้อ “เกสเตทเนอร์” ขององค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ยุคนั้นให้บริการแก่ปัจเจกบุคคล กลุ่มกิจกรรมและนักศึกษาหลายสถาบัน

ซึ่งหมายความว่าใช้เกือบตลอด 24 ชั่วโมง หรือเครื่องต้องหมุนกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ

ที่น่าสนใจคือ ช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการทหารได้ออกกฎห้ามหนังสือจำนวนมาก และมีรายชื่อหนังสือต้องห้าม 204 รายการ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาอย่างชัดเจน

ทำให้หนังสือบนดินและเอกสารโรเนียว กลายเป็นหนังสือใต้ดินและมีบทบาทอย่างเข้มข้น

 

ในบรรดาหนังสือเหล่านี้ มีสิ่งพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขตสามจังหวัดภาคใต้ คือพัทลุง-ตรัง-สตูล ชื่อ ตะวันแดง ซึ่งจัดพิมพ์ด้วยระบบโรเนียว แต่มีความประนีตสวยงามเป็นพิเศษ

รายละเอียดทั้งในแง่เนื้อหาและเทคนิคการพิมพ์ของนิตยสารฉบับนี้มีอยู่ในหนังสือของกลุ่มภูบรรทัด 2544 ชื่อ “บนเส้นทางภูบรรทัด” และบทความของธิกานต์ ศรีธารา ชื่อ “นิตยสารตะวันแดง และการทำลัทธิมาร์กซ์ให้เป็นปักษ์ใต้ของ พคท. ระหว่าง พ.ศ.2519-2524” (จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มิถุนายน 2561-พฤษภาคม 2562)

บทความของธิกานต์บอกว่า กว่าตะวันแดงจะพิมพ์ออกมาได้ ต้องผ่านขั้นตอนการทำงานมากมาย นอกจากการพิมพ์กระดาษไขด้วยพิมพ์ดีดแล้ว ต้องวาดหัวเรื่องและภาพประกอบด้วยการ “…จุดเหล็กแหลมลงบนกระดาษไข คล้ายกับการทำภาพสกรีนเพื่อใช้ในระบบการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสและออฟเซ็ต ตรงส่วนไหนของภาพ ต้องการนํ้าหนักเพียงบางเบา ก็จุดเพียงเบาๆ ห่างๆ เพื่อให้หมึกพิมพ์ลงไปให้น้อยที่สุด ส่วนไหนของภาพต้องการสีเข้มก็จุดหนักๆ ถี่ๆ ทำให้หมึกพิมพ์ลงไปมาก”

ทุกภาพต้องจุดเหล็กแหลมกันกว่าพันจุด แล้วจึงส่งกระดาษไขนั้นไปพิมพ์ หลังจากนั้น ยังมีการผสมระบบการพิมพ์เข้ากับตัวตะกั่วและแท่นตีธง เช่น ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 รายงานเบื้องหลัง “ศึกดินอุดม” ที่จังหวัดกระบี่

แต่จุดสำคัญคือเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก ซึ่งฝ่ายซ้ายเรียกว่าองค์กรจัดตั้ง สิ่งนี้มีความสำคัญมากในการนำหนังสือออกไปเผยแพร่และส่งถึงมือผู้อ่าน สำหรับในเมือง เครือข่ายที่ใช้จัดส่งหนังสือแบบนี้คือระบบไปรษณีย์

สำหรับในป่า เช่น นิตยสารตะวันแดง เมื่อพิมพ์และเย็บออกมาเป็นเล่มแล้ว ต้องอาศัยกำลังทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจัดส่งไปตามกลุ่มต่างๆ

 

เอกสารโรเนียว เป็นตัวอย่างของงานที่ทำด้วยตนเองโดยไม่ขึ้นต่อโรงพิมพ์ หรือการพิมพ์แบบ DIY

และในช่วงหลายสิบปีที่โรเนียวครองความยิ่งใหญ่ในด้านนี้ สิ่งพิมพ์โรเนียวใต้ดินบางฉบับรวมเอาทั้งตัวพิมพ์ดีดหรือโลหะหล่อ และการทำบล๊อกเข้าด้วยกัน

ในขณะเดียวกัน ระบบออฟเซ็ตหรือการพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกด แต่ใช้กรรมวิธีทางเคมีก็กำลังเติบโต ช่วง 2515-2530 ซึ่งต่อด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว ออฟเซ็ตได้ ทำให้ระบบตัวตะกั่วหรือช่างเรียงหายไป แต่สร้างนักเขียนและคนทำหนังสือที่ไม่ขึ้นต่อโรงพิมพ์ คือทำหน้าที่เขียน ออกแบบและเรียงพิมพ์ด้วยตนเองขึ้นมา

เอกสารโรเนียวซึ่งอยู่บนดินยังพัฒนาด้านเทคนิคไปอีกมากนับสิบปี จากนั้นจึงถูกแทนที่โดยซีรอกซ์ แฟกซ์ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต และเครือข่ายการเผยแพร่แบบใหม่ของยุคดิจิตอล