อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้มองเห็นจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติในวัสดุ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีนิทรรศการศิลปะของศิลปิน/ประติมากรชื่อดังระดับโลกมาแสดงงานในบ้านเราอีกคนหนึ่ง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า นาทาเนล กลัสคา (Natanel Gluska) นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า One for the Birds

ศิลปินชาวอิสราเอลโดยกำเนิดแต่เติบโตในสวิตเซอร์แลนด์ผู้นี้จบการศึกษาจากสถาบัน Rietveld Academy ในอัมสเตอร์ดัม

แรกเริ่มเดิมทีเขาทำงานเป็นจิตรกรวาดภาพมาก่อน ก่อนที่เขาจะหันเหมาทำงาน “ประติมากรรมที่นั่งได้” ขึ้นมา

Photo: www.natanelgluska.com
Photo: www.natanelgluska.com

 

ผลงานของเขาเปิดตัวในงานแสดงผลงานของนักออกแบบหน้าใหม่ไฟแรง Salone Satellite ในงานมหกรรมแสดงเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก มิลานแฟร์ ที่อิตาลี ซึ่งผลักดันให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับสากลและเป็นที่สนใจของเหล่าคนรักงานศิลปะและดีไซน์

ในจำนวนเหล่านั้นก็รวมถึงบรรดาเซเลบและดีไซเนอร์ชื่อดัง อาทิ ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการออกแบบ ฟิลลิปป์ สตาร์ก ราชันย์แห่งวงการแฟชั่น คาร์ล ลาเกอร์เฟล และเจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่น ดอนนา คาราน เป็นต้น

“ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นจิตรกร ขังตัวเองเอาไว้ในสตูดิโอ วันหนึ่งกลิ่นของน้ำมันสน สีน้ำมันไม่ทำให้ผมมีความสุขอีกต่อไป

ตกกลางคืนผมเลยมักจะเล่นสเก๊ตบอร์ดบนถนนไปทั่วทั้งคืนด้วยอารมณ์ขุ่นมัว

คืนหนึ่งผมเข้าไปในป่า และเจอบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ต้องหยุดชะงักลง

มันคือขอนไม้ที่วางกองอยู่สามสี่ลำ เส้นผ่านศูนย์กลางมันราว 80 ซ.ม. สูงประมาณ 1 เมตร

ผมมองขอนไม้นั้น จู่ๆ มันก็มีความรู้สึกอะไรบางอย่างที่ชัดเจนเหมือนมีแสงสว่างวาบขึ้นมา

ผมมองเห็นเก้าอี้อยู่ข้างในขอนไม้นั้น รูปทรงมันชัดเจนมาก

มันเป็นไม้ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สภาเมืองสั่งให้ตัดต้นไม้แล้วย่อยเป็นชิ้นๆ ถ้าไม่มีใครเอาไปมันก็จะกลายเป็นไม้ฟืน

ผมเลยผลักมันให้ล้มลงและกลิ้งไม้สามสี่ท่อนนั้นไปทั้งคืนจนถึงริมทะเลสาบตอนเช้า

วันถัดมาผมกลับมาพร้อมกับเลื่อยยนต์ และเอาเก้าอี้ตัวนั้นออกมาจากขอนไม้

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้กับชิ้นต่อๆ ไป ผมไม่สามารถหยุดทำมันได้

เก้าอี้ตัวแล้วตัวเล่าถูกทำออกมา มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันมากๆ

ผมอธิบายมันเป็นคำพูดไม่ได้ มันเหมือนเป็นพลังจากที่หนอื่นที่เกิดขึ้นกับผม

ผมเคยอ่านเรื่องราวของ ไมเคิล แองเจโล ที่เล่าว่า เขาไม่ได้แกะสลักรูปหินอ่อน

แต่เขามองเห็นสิ่งต่างๆ อยู่ภายในหินอ่อน

ที่เขาทำก็แค่กะเทาะเปลือกให้สิ่งเหล่านั้นปรากฏออกมาเท่านั้นเอง ผมเชื่อเรื่องเล่านี้

เพราะงานของเขาไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์แน่ๆ มันเป็นผลงานจากเบื้องบนชัดๆ

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เผชิญหน้ากับพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา

ผมไม่รู้ว่าเราจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร พระเจ้า? ผมไม่อยากใช้คำนี้นะ

ผมว่ามันเป็นพลังจากเบื้องบน ที่คนต่างศาสนาเรียกมันในชื่อต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ สิ่งนี้ทำให้ผมเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังกว่าเรา ที่คอยดูแลเราอยู่

และสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนนั้นติดตาม ดูแลและมอบพลังให้ผมอยู่จนถึงทุกวันนี้”

นาทาเนล กลัสคา โด่งดังจากการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ยั่งยืนอย่างไม้ซุงนำมาแปรเปลี่ยนด้วยทักษะและประสบการณ์อันช่ำชองจนกลายเป็นงานประติมากรรมที่มีฟังก์ชั่นใช้งานหลากหลายรูปแบบ

ที่มีรูปทรงเส้นสายงดงามทรงพลังและเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกที่ตอบสนองทั้งสุนทรียะและการใช้งาน

อาทิ ผลงานอย่าง LONG 8

LONG 8
LONG 8

เก้าอี้ยาวที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของเลขอารบิกหมายเลข 8 ที่ถูกยืดยาวเลื้อยล้อไปกับรูปทรงชีวภาพอันอ่อนช้อยของลำต้นไม้ที่เป็นต้นกำเนิดของมัน

ด้วยทักษะชั้นเชิงอันเชี่ยวชาญและประณีตบรรจงที่ทำให้ลำต้นไม้กลายเป็นวัตถุอันสวยงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ

ที่คนสามารถทอดกายลงพักผ่อนได้

หรือม้านั่งยาว CROCODILE BENCE ที่ดูราวกับว่าผู้สร้างผลงานมองเห็นจิตวิญญาณของสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกตัวนี้แฝงเร้นอยู่ภายในท่อนไม้ และเปิดเผยให้เห็นรูปทรงที่แท้จริงของมันออกมา

และกล่อมให้มันเชื่องจนกลายเป็นที่รองรับบั้นท้ายของคนก็ปาน

CROCODILE BENCE
CROCODILE BENCE

นอกจากไม้แล้ว เขายังใช้วัสดุอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ ทองแดง ที่เขาใช้ทำงานศิลปะในร่างทรงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้รูปร่างของตัวเขาเองในท่วงท่าต่างๆ เป็นแบบในการสร้างสรรค์

ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟ Fisherman ที่เป็นรูปหล่อของตัวเขานั่งตกปลา หรือโต๊ะ Little Strong Man ที่เป็นรูปหล่อตัวเขาเป็นคู่แฝดแบกบานโต๊ะต่างขา

Kopitiam
Kopitiam

หรือเก้าอี้ Kopitiam

 

ที่เขานำเอาเก้าอี้พลาสติกที่เราพบเห็นเกร่อเกลื่อนกลาดในทุกแห่งหน มาหุ้มบุด้วยหนังแท้ที่ตัดเย็บอย่างดีจนกลายเป็นเก้าอี้สุดหรูหราที่เป็นการเสียดสียั่วเย้างานดีไซน์ชั้นสูงและยกระดับงานดีไซน์บ้านๆ แบบประชานิยมให้กลายเป็นของหรูหราล้ำค่าไปได้

และโต๊ะกลมที่ขาโต๊ะเป็นรูปนกที่หล่อจากทองแดงและมีประติมากรรมนกเล็กๆ เกาะอยู่บนโต๊ะ

ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เขานั่งกินอาหารในร้านข้างถนนแล้วมีนกบินมาเกาะใกล้จนแทบจะสัมผัสมือเขา

ซึ่งเป็นที่มาของชื่องานนิทรรศการครั้งนี้นั่นเอง

ผลงานของเขาแตกต่างไปจากงานงานเฟอร์นิเจอร์ทั่วๆ ไป

ด้วยรูปร่างหน้าตาที่มีบุคลิกลักษณะอันพิเศษเฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือน

และเทคนิคการทำงานที่ย้อนกลับไปสู้รากเหง้าของการทำงานศิลปะที่ศิลปินต้องใช้มันสมองและสองมือในการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุธรรมชาติ อย่างการขุด เจาะ แกะสลัก นอกจากจะโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์อันสวยงามและทรงพลังแล้ว

เอกลักษณ์อีกอย่างที่โดดเด่นในผลงานประติมากรรมของเขาก็คือ พื้นผิวที่จงใจทิ้งร่องรอยในการสร้างงานด้วยมือเอาไว้จนดูคล้ายกับฝีแปรงของจิตรกรเวลาวาดภาพ

ทำให้ผลงานประติมากรรมของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและพลังความเคลื่อนไหว

ล่าสุด เขาหวนกลับไปสู่งานสองมิติซึ่งเป็นรากเหง้าดั้งเดิมของเขา หากแต่ก็ยังไม่ทิ้งลายมือและทักษะอันช่ำชองในการเล่นกับวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ ด้วยงานภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ (Woodcut) ที่นำเสนอภาพของป่าไม้ในความทรงจำออกมาได้อย่างลุ่มลึกเปี่ยมอารมณ์

“สำหรับผมมันเป็นการประนีประนอมกับความจริงที่ว่าตอนนี้ผมไม่สามารถทำงานสามมิติอย่างที่ผมเคยทำได้ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และวัสดุ Woodcut เป็นอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างงานสองมิติและสามมิติ

ตัวงานที่เสร็จแล้วมันอาจเป็นสองมิติ แต่แม่พิมพ์ไม้ก็ยังอยู่ ร่องรอยการแกะก็ยังอยู่ มันยังมีความเป็นไปได้อีกหลายอย่างอยู่ตรงนั้น

และมันก็ทำให้ผมสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ผมอยากยกระดับงาน Woodcut โดยไม่สนใจว่ามันจะสูงขึ้นหรือต่ำลง ผมอยากทำให้มันแตกต่างกับงาน Woodcut แบบประเพณี ผมเลยผสมมันกับเทคนิคจิตรกรรม

ที่เลือกภาพของป่าเพราะผมมีความเชื่อมโยงกับมัน

ป่ามันเป็นสถานที่ยากที่จะบรรยายได้ในคำพูดไม่กี่คำ มันไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นสถานที่อันมหัศจรรย์ ที่ที่ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ ที่ที่มีพลังงานท่วมท้น

ที่ซึ่งถือกำเนิดขึ้นด้วยตัวเอง เป็นสถานที่อันยั่งยืน เป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจ

เป็นที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนถูกโอบรัด ทำให้คุณรู้สึกประหลาดใจ

เป็นสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงในทุกวินาที ในทุกฤดูกาล

ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเทพนิยายถึงดำเนินเรื่องราวในป่า

ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายเกิดขึ้นที่นั่น มันให้อาหาร ให้อากาศหายใจ ให้ชีวิต

ผมอยากเก็บภาพของสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ มันอาจจะเป็นป่าที่ไหนก็ได้

มันเป็นคอนเซ็ปต์ของป่า ไม่ใช่ป่าที่ไหนโดยเฉพาะเจาะจง”

“ผมเชื่อว่าศิลปะเป็นการสื่อสาร ด้วยภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นี่คือเก้าอี้ นี่คือทิวทัศน์ที่ทุกคนรู้จักและสามารถเชื่อมโยงกับมันได้ ไม่ว่าคุณจะมีการศึกษาสูงหรือต่ำแค่ไหน หรือคุณจะมีความสนใจแบบไหนยังไงก็ตาม”

natanel-gluska-in-one-for-the-birds-clsqe

ปัจจุบัน นาทาเนล กลัสคา อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ

นิทรรศการ One for the Birds จัดแสดงที่หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ (S.A.C. Subhashok The Arts Centre) บริเวณ ชั้น 1 และ 2 ของหอศิลป์ โดยจะจัดแสดงให้เข้าชมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ถึง 13 พฤศจิกายน 2559 ในวันอังคาร-วันเสาร์ : 10.00-17.30 น. และวันอาทิตย์ : 12.00-18.00 น.

เข้าชมข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2662-0299 , 0-2258-5580 ต่อ 401, 08-66891-1893 แฟกซ์ 0-2259-8746 หรืออี-เมล [email protected]

ขอบคุณภาพจาก ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-1 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-4