ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
หลายปีมานี้ ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชาวจีนได้ออกเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้าไปยังประเทศเป้าหมายได้สร้างความยินดีให้กับเจ้าของหรือรัฐบาลประเทศนั้น ยิ่งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในห้วงหลายปีมานี้ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนจึงช่วยผ่อนคลายได้ไม่น้อย
ยิ่งนักท่องเทียวจีนเข้าไปประเทศใดมากกว่าประเทศอื่น ก็ยิ่งช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น และยิ่งผ่อนคลายมากเพียงใด ก็ยิ่งต้องรักษานักท่องเที่ยวจีนเอาไว้ให้นานที่สุด
การคิดและทำเช่นนั้นเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ทำเช่นนั้นไม่ว่าประเทศใด แต่กับนักท่องเที่ยวจีนแล้วการคิดเช่นนั้นกลับมีความขัดแย้งกันในตัวของมันเอง ด้วยว่าได้เกิดภาวะที่ด้านหนึ่งต้องการรักษานักท่องเที่ยวเอาไว้ แต่อีกภาวะหนึ่งก็มีปัญหากับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเอง
หลายประเทศประสบกับภาวะดังกล่าวเหมือนๆ กัน จะต่างกันก็เพียงน้ำหนักของปัญหาเท่านั้นที่ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว ประเทศใดมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปมาก น้ำหนักของปัญหาก็จะมาก ถ้าน้อย น้ำหนักก็จะน้อย อย่างไทยที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากในระดับต้นๆ ของโลกด้วยแล้ว ภาวะที่ว่าก็ย่อมหนักกว่าอีกหลายประเทศเป็นธรรมดา
ประเด็นคำถามจึงอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากจะแก้ปัญหาด้วยการทำให้ภาวะที่มีความขัดแย้งกันเองดังกล่าวเบาบางลงแล้ว อะไรคือสิ่งที่พึงทำในเบื้องต้น
บทความนี้เห็นว่าสิ่งที่พึงทำในเบื้องต้นก็คือ การทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน ว่าเหตุใดจึงมีพฤติกรรมที่ก่อปัญหาเช่นนั้น
ทั้งนี้ โดยเห็นว่า หากเข้าใจถึงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าน่าจะมองหาหนทางที่จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
และต้องขอออกตัวก่อนว่า การทำความเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อเข้าใจแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ด้วยว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
ที่มาของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนที่จะกล่าวต่อไปนี้ว่ากันให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ พฤติกรรมของชาวจีนแผ่นดินใหญ่เฉพาะ คือไม่เกี่ยวกับชาวจีนในที่อื่นๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ผู้มีเชื้อสายจีนแต่มีสัญชาติอื่น (เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีน)
และเมื่อหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่แล้วก็ย่อมเป็นชาวจีนกว่า 1,350 ล้านคน จำนวนที่มากมายมหาศาลเช่นนี้จึงย่อมหมายความไปด้วยว่ามิใช่ชาวจีนทั้งหมดที่มีพฤติกรรมเช่นที่เราเห็น
ที่สำคัญ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ว่านี้คือชาวจีนในยุคคอมมิวนิสต์
ในแง่นี้ชาวจีนที่ว่าจึงประกอบไปด้วยชาวจีนที่เกิดและ/หรือมีชีวิตช่วงก่อนและหลังจากที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ไม่นาน กับชาวจีนที่เกิดหลังจีนเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วหลายปี
ถ้าเป็นกลุ่มแรก กลุ่มนี้จะซึมซับความคิดเดิมๆ ของสังคมจีนเอาไว้อยู่กับตัว
ถ้าเป็นกลุ่มหลัง กลุ่มนี้จะรับความคิดคอมมิวนิสต์ล้วนๆ ความคิดเดิมๆ จะมีอยู่ในกลุ่มหลังน้อยมากถึงน้อยที่สุด
แน่นอนว่า กว่า 60 ปีนับแต่ที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา คนกลุ่มหลังมีมากกว่าคนกลุ่มแรกที่ค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป
ส่วนความคิดเดิมๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นโดยรวมแล้วคือความคิดขงจื่อ ความคิดนี้มีหลักคำสอนในหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นก็คือ กิริยามารยาท ธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี เป็นต้น
ซึ่งในที่นี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า รีต (แบบแผน เยี่ยงอย่าง หรือจารีต)
คำสอนเรื่องนี้ทำให้ชาวจีนในอดีตหรือก่อนยุคคอมมิวนิสต์ครองเมืองมีรีตให้ถือปฏิบัติ ทั้งนี้ เราอาจเห็นได้จากตัวอย่างหนังย้อนยุคของจีนที่มักให้ตัวละครแสดงรีตแบบจีนอยู่เสมอ
รีตเดิมของจีนจึงมีความงดงามและสำรวมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ
จนเมื่อมาถึงยุคคอมมิวนิสต์นั้นเอง ที่รีตต่างๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงนี้แบ่งได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ
ช่วงแรก เป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ในช่วงนี้สังคมจีนตกอยู่ในกระแสซ้ายจัด สิ่งใด ความคิดใด หรือการปฏิบัติใดที่มิใช่สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะถูกถือเป็นปฏิปักษ์ และจะต้องถูกกำจัดกวาดล้างออกไป
ดังนั้น รีตที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของความคิดขงจื่อจึงถูกตราว่าเป็นศักดินา และถูกกวาดทำลายล้างไปจากสังคมจีนขณะนั้น
ใครที่แสดงออกว่ายังถือปฏิบัติรีตของขงจื่อจะมีความผิดและถูกลงโทษแบบศาลเตี้ย คือไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติใดๆ
เวลานั้น “รีตใหม่” ที่เข้ามาแทนรีตเดิมจึงคือ วัฒนธรรมแบบชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งมีรูปแบบในการแสดงออกที่แข็งกร้าว ขึงขัง จริงจัง และหยาบกร้าน การแสดงออกเช่นนี้เมื่อปฏิบัติไปนานวันเข้าก็กลายเป็นต้นแบบให้ชาวจีนถือปฏิบัติไปในที่สุด
(ที่จริงแล้ววัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป)
ควรกล่าวด้วยว่า ในเมื่อหลักคำสอนของขงจื่อกลายเป็นศัตรูกับลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ลัทธิหรือศาสนาอื่นก็มิพักต้องพูดถึงอีก จากเหตุนี้ ศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่เต้า (เต๋า) ล้วนถูกปิดหรือไม่ก็ถูกทุบหรือเผาทำลาย นักบวชของทุกศาสนาลัทธิถูกตราหน้าว่าเป็นกาฝากของสังคม
เมื่อไร้ซึ่งศาสนธรรมให้ยึดเหนี่ยวเสียแล้ว ความละเมียดอ่อนโยนและสำรวมจึงหายไปจากพฤติกรรมของชาวจีน
และยิ่งมาผนวกเข้ากับ “รีตใหม่” ที่เป็น “วัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพ” ตามที่กล่าวไปข้างต้นด้วยแล้ว ก็ยากที่จะได้เห็นรีตเดิมที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงามสำรวมอีกต่อไป
ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ ยุคนี้เกิดขึ้นหลังจากยุคแรกยุติลง และเห็นว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคแรกนั้นเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรง
ดังนั้น เมื่อจีนเข้าสู่ช่วงที่สอง หลักคำสอนของขงจื่อและศาสนาอื่นจึงกลับมามีที่ยืนในสังคมจีนได้อีกครั้ง
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็น่าที่ชาวจีนจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนกลับไปดังเดิม คือมีรีตและวัตรปฏิบัติที่งดงามดังอดีต
แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่
ด้วยพฤติกรรมที่เป็นแบบชนชั้นกรรมาชีพยังคงปรากฏอยู่ ซึ่งก็คือพฤติกรรมที่เราเห็นจากนักท่องเที่ยวจีนนั้นเอง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
คําตอบก็คือว่า แม้จีนในยุคปฏิรูปจะมิได้ห้ามชาวจีนให้ยึดถือวัตรปฏิบัติเดิมแบบขงจื่อก็ตาม แต่การรณรงค์เศรษฐกิจเสรีนิยมในยุคปฏิรูป (ที่ดูแล้วน่าจะดี?) นั้นกลับทำให้ชาวจีนต่างก้มหน้าก้มตาสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง หลังจากที่ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนและชีวิตความเป็นอยู่ที่รังแครังคัดมานานนับสิบปีก่อนหน้านั้น
ภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้เคยรับความขมขื่นมานาน แต่ก็ด้วยภาวะเดียวกันนี้เองกลับทำให้ชาวจีนมิได้หันไปยึดถือรีตเดิมไปด้วย
ตรงนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มาบัดนี้, ชาวจีนมิได้ยากจนดังแต่ก่อนแล้วก็จริง แต่ภายใต้รูปลักษณ์ของผู้มีชีวิตทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ดังทุกวันนี้ ชาวจีนจำนวนมากกลับมิอาจสลัดบุคลิกภาพในแบบชนชั้นกรรมาชีพของตนให้หลุดไปได้
จากเหตุนี้ เราจึงได้พบเห็นบุคลิกภาพแบบชนชั้นกรรมาชีพภายใต้รูปลักษณ์แบบเสรีนิยมของชาวจีน หรือก็คือพฤติกรรมของชาวจีนบางกลุ่มบางคนดังที่รับรู้โดยทั่วกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพฤติกรรมที่ก่อปัญหาดังกล่าวเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอที่จะไม่ยกมากล่าวถึง แต่จะยกเอามุมมองอื่นที่มีต่อพฤติกรรมของชาวจีนมากล่าวถึง เพื่อขยายความเข้าใจที่มีต่อพฤติกรรมของชาวจีนได้ดีขึ้น
มุมมองคือ เป็นปกติของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว ที่ว่าในยามที่ตกต่ำไม่ว่าจะมีผู้ปกครองที่ไร้คุณธรรมหรือจริยธรรม หรือมีไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนมาคุกคาม ชาวจีนจะทำตัวสงบเสงี่ยมจนน่าเห็นใจ แต่พอรุ่งโรจน์ขึ้นมาอีกครั้ง นิสัยเดิมๆ ที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก็กลับมา นั่นคือ มักดูถูกดูแคลนชนชาติอื่นว่าเป็นชนป่าเถื่อนอยู่เสมอ และทำให้มีพฤติกรรมที่แย่ๆ ดังที่เห็น
กรณีนักท่องเที่ยวสองสามีภรรยาจีนที่เอาบะหมี่สำเร็จรูปร้อนจัดสาดหน้าแอร์โฮสเตสนั้น จัดอยู่ในมุมมองนี้ คือเห็นว่าสองสามีภรรยาแสดงพฤติกรรม (ที่อาจเรียกได้ว่าป่าเถื่อน) ก็ด้วยมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติแฝงอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งคือคลั่งชาติ (racism) โดยคิดว่าตนเหนือกว่า เมื่ออยากได้สิ่งใดจากคนที่ตนคิดว่าด้อยกว่าก็ต้องได้ หากไม่ได้ก็จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อีกมุมมองหนึ่งคือ พฤติกรรมดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ปกติของชาติที่เพิ่งเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีจีนออกจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าอีกหลายชาติ เพราะก่อนที่จีนจะร่ำรวยดังทุกวันนี้ จีนต้องตกอยู่ในวิบากกรรมมานานกว่าร้อยปี และตอนที่เป็นคอมมิวนิสต์ที่แม้จะไม่ตกเป็นเบี้ยล่างให้ใครอีกก็ตาม แต่เศรษฐกิจจีนก็อับจนอย่างยิ่ง
ดังนั้น พอลืมตาอ้าปากหรือปีกกล้าขาแข็งขึ้นมาได้จึงปฏิบัติตนไม่ถูกดังที่เห็น มุมมองนี้จึงเห็นว่าพฤติกรรมที่แย่ๆ ของชาวจีนถือเป็นเรื่องธรรมดา และสักวันหนึ่งคงหายไปเอง
มุมมองสุดท้ายคล้ายๆ กับมุมมองที่เห็นเป็นเรื่องปกติ มุมมองนี้เห็นว่า พฤติกรรมของชาวจีนที่ดูแย่นั้นมิได้เป็นกันหมดทุกคนหรือโดยส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถเห็นได้เองจากนักท่องเที่ยว ว่าถ้าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบนั้นแล้วก็คงยากที่ประเทศใดจะรับได้ และการท่องเที่ยวในประเทศนั้นคงพังพินาศไปนานแล้ว ในเมื่อเป็นพฤติกรรมของคนส่วนน้อย การหาทางแก้ไขจึงไม่น่าหนักใจและคิดว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้สามารถแก้ไขตนเองได้ในวันหนึ่ง
มุมมองนี้น่าสนใจตรงที่ว่า ตอนที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่าหลายเรื่องจีนไม่น่าจะทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนั้นมีฐานคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในขณะที่จีนสมาทานสังคมนิยมมาช้านาน แต่แล้วจีนก็ทำได้ ดังนั้น การแก้ไขพฤติกรรมของชาวจีนจึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีความหวังเอาเสียเลย เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงพอทำให้เข้าใจได้บ้างแล้วว่า พฤติกรรมที่แย่ๆ หรือก่อปัญหาของชาวจีนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
เช่นนี้แล้วจึงหวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนจะได้นำไปคิดหาทางแก้ไขตามสมควรแก่กรณี